วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 05:12  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มิ.ย. 2021, 20:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ค) หลักวิปัสสนาที่เป็นมาตรฐาน

การพิจารณาสังขารให้เกิดความเห็นแจ้งเข้าใจชัด รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะที่เป็นจริง ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าวิปัสสนานั้น เป็นส่วนสาระสำคัญของการตรัสรู้หรือบรรลุมรรคผล ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นสมถะยานิกหรือ วิปัสสนายายิกไม่ว่าจะเป็นวิธีปฏิบัติแบบใดในวิธีทั้ง ๔ มี สมถ-ปุพพังคมวิปัสสนา และวิปัสสนาปุพพังคมสมถะ เป็นต้น จะต้องผ่านการปฏิบัติส่วนนี้ทั้งสิ้น

สำหรับวิปัสสนายานิก การพิจารณาเช่นนี้จะเริ่มขึ้นตั้งแต่แรกปฏิบัติ แต่สำหรับสมถยานิก การพิจารณานี้จะเป็นส่วนต่อท้ายหรือครอบยอดของสมถะ

ถ้าเทียบกับข้อความในหลักมาตรฐานด้านสมถะที่ผ่านมาแล้ว การพิจารณาหรือวิปัสสนาที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็คือส่วนขยายของข้อความที่ท่านบรรยายไว้สั้นๆ ว่า “เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายก็หมดสิ้นไป” พูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นส่วนของปัญญาวิมุตติ

วิปัสสนานี้ แสดงออกยักเยื้องได้เป็นหลายอย่างหลายแนว ในบาลีเท่าที่พบ มีบรรยายไว้เป็นสำนวนแบบหลายสำนวน

ก่อนที่จะศึกษาสำนวนแบบเหล่านั้น ขอให้พิจารณาดูคำบรรยายสรุปการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก่อน เพื่อให้เห็นแนวว่า การตรัสรู้นั้น แม้จะเป็นกระบวนการอันเดียว แต่ก็สามารถอธิบายได้หลายนัย เกี่ยวโยงไปถึงข้อธรรมได้หลายหมวด

คำบรรยายสรุปเหล่านี้ ก็เป็นสำนวนแบบเช่นเดียวกัน และมีหลายสำนวน อยู่ในต่างแห่งต่างที่ ขอยกมาให้พิจารณา ดังนี้

• “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ญาณทัศนะตามเป็นจริงของเรา ซึ่งมีปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ในอริยสัจ ๔ ประการเหล่านี้ หมดจดแจ่มชัดดีแล้ว, เมื่อนั้นแหละ เราจึงปฏิญาณในโลก...ว่าเราได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็แลญาณทัศนะ เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า เจโต-วิมุตติของเราเป็นอกุปปา นี้เป็นอันติมชาติ บัดนี้ ภพใหม่อีก ไม่มี”

• “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เรารู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งอัสสาทะ (คุณ, ส่วนดี) ของอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยความเป็นอัสสาทะ ซึ่งอาทีนพ (โทษ, ส่วนเสีย) โดยความเป็นอาทีนพ และซึ่งนิสสรณะ (ภาวะรอดพ้น, ทางออก, ความเป็นอิสระ) โดยความเป็นนิสสรณะ, เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณในโลก...ว่าเราได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ...บัดนี้ ภพใหม่อีก ไม่มี”

• “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เรารู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งอัสสาทะของอายตนะภายในทั้ง ๖ เหล่านี้ โดยความเป็นอัสสาทะ ซึ่งอาทีนพโดยความเป็นอาทีนพ ซึ่งนิสสรณะโดยความเป็นนิสสรณะ, เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณในโลก...ว่าเราได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ...บัดนี้ ภพใหม่อีก ไม่มี”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2021, 03:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


• “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เรารู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งสมุทัย ความอัสดง อัสสาทะ อาทีนพ และนิสสรณะ ของอินทรีย์ทั้ง ๕ (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) เหล่านี้, เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณในโลก...ว่าเราได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ...บัดนี้ ภพใหม่อีก ไม่มี”

• “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เรารู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งสมุทัย ความอัสดง อัสสาทะ อาทีนพ และนิสสรณะ ของอินทรีย์ทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เหล่านี้, เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณในโลก...ว่าเราได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ...บัดนี้ ภพใหม่อีก ไม่มี”

• “ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ ที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก...ภิกษุทั้งหลาย ดังที่เป็นมา แม้เราเอง ก่อนสัมโพธิ ยังมิได้ตรัสรู้ เป็นโพธิสัตว์ ก็ดำรงอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก กายก็ไม่เหนื่อย จักษุก็ไม่เหนื่อย และจิตของเราก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น”

• “ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณ...ปัญญา...วิชชา...แสงสว่าง...เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่มิเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า “เวทนา คือดังนี้...สมุทัยแห่งเวทนา เป็นดังนี้...ปฏิปทาที่นำไปสู่สมุทัยแห่งเวทนา เป็นดังนี้...นิโรธแห่งเวทนา เป็นดังนี้...ปฏิปทาที่นำไปสู่นิโรธแห่งเวทนา เป็นดังนี้...อัสสาทะแห่งเวทนา เป็นดังนี้...อาทีนพแห่งเวทนา เป็นดังนี้...นิสสรณะแห่งเวทนา เป็นดังนี้”

• “ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณ...ปัญญา...วิชชา...แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่มิเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า “กาเย กายานุปัสสนา คือดังนี้...ก็ กาเย กายานุปัสสนานั้น เป็นธรรมควรเจริญ...กาเย กายานุปัสสนานั้น เราเจริญแล้ว...เวทนาสุ เวทนานุปัสสนา คือดังนี้...ก็เวทนาสุ เวทนานุปัสสนานั้น เป็นธรรมควรเจริญ...เวทนาสุ เวทนานุปัสสนานั้น เราเจริญแล้ว...จิตเต คือดังนี้...ก็จิตเต จิตตานุปัสสนานั้น เป็นธรรมควรเจริญ...จิตเต จิตตานุปัสสนานั้น เราเจริญแล้ว...ธัมเมสุ คือดังนี้...ก็ธัมเมสุ ธัมมา-นุปัสสนานั้น เป็นธรรมควรเจริญ...ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสนานั้น เราเจริญแล้ว”

• “ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณ...ปัญญา...วิชชา...แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่มิเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า “ อิทธิบาท(ข้อที่ ๑) คือดังนี้...ก็อิทธิบาท (ข้อที่ ๑) นั้น เป็นธรรมควรเจริญ...อิทธิบาท (ข้อที่ ๑) นั้น เราเจริญแล้ว...อิทธิบาท (ข้อ๒-๓-๔) คือดังนี้...ก็อิทธิบาท (ข้อ ๒-๓-๔) นั้น เป็นธรรมควรเจริญ...อิทธิบาท (ข้อ ๒-๓-๔) นั้น เราเจริญแล้ว”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2021, 03:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


• “ภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่สัมโพธิ เมื่อยังไม่ตรัสรู้ เป็นโพธิสัตว์อยู่ เราได้มีความคิดว่า “โลกนี้ประสบความทุกข์ยากเสียนัก ย่อมเกิด แก่ ตาย จุติ และอุบัติ แต่ทั้งที่เป็นเช่นนั้น ก็หารู้จักนิสสรณะ (ธรรมเป็นที่สลัดออก, ภาวะหลุดรอดปลอดพ้น, ความเป็นอิสระ, ทางออก) แห่งทุกข์ คือชรามรณะนี้ไม่ เมื่อไรเล่า นิสสรณะแห่งทุกข์คือชรามรณะนี้ จักปรากฏ?”

“เราได้มีความคิดดังนี้ว่า “เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ชรามรณะจึงมี, เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี?” เพราะ โยนิโสมนสิการ เราก็มีความรู้ชัดจำเพาะลงไป (อภิสมัย) ด้วยปัญญาว่า “เมื่อชาติมีอยู่ ชรามรณะจึงมี, เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี...เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ชาติจึงมี...เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ภพจึงมี...อุปาทานจึงมี..ตัณหาจึงมี...เวทนาจึงมี...ผัสสะจึงมี...สฬายตนะจึงมี...นามรูปจึงมี...วิญญาณจึงมี? เพราะโยนิโสมนสิการ เราได้มีความรู้ชัดจำเพาะลงด้วยปัญญาว่า “เมื่อนามรูปมีอยู่ วิญญาณจึงมี, เพราะนามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี”.

“เราได้มีความคิดว่า “วิญญาณย่อมวกกลับ (เพียงแค่นี้) ไม่พ้นเลยไปจากนามรูปได้; ด้วยเหตุผลเพียงเท่านั้น จึงเกิด แก่ ตาย จุติ หรืออุบัติ อันได้แก่ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ, เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป, เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ, เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ..เวทนา...ตัณหา...อุปาทาน..ภพ...ชาติ...ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสสะ อุปายาสะ; ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้;

“จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณ...ปัญญา...วิชชา...แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่มิเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า ‘สมุทัย สมุทัย’ ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความคิดดังนี้ว่า “เมื่ออะไรไม่มีหนอ ชรามรณะจึงไม่มี, เพราะอะไรดับ ชรามรณะจึงดับ”? เพราะโยนิโสมนสิการ เราได้มีความรู้ชัดจำเพาะลงไป (อภิสมัย) ด้วยปัญญาว่า “เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะก็ไม่มี, เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ...เมื่ออะไรไม่มีหนอ ชาติจึงไม่มี...เมื่ออะไรไม่มีหนอ ภพจึงไม่มี...อุปาทานจึงไม่มี...ตัณหาจึงไม่มี...เวทนาจึงไม่มี...ผัสสะจึงไม่มี...สฬายตนะจึงไม่มี...นามรูปจึงไม่มี...วิญญาณจึงไม่มี เพราะโยนิโสมนสิการ เราจึงได้มีความรู้ชัดจำเพาะลงไปด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปไม่มี วิญญาณก็ไม่มี, เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ”.

“เราได้มีความคิดว่า เราได้บรรลุมรรคาเพื่อความตรัสรู้นี้แล้ว กล่าวคือ เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ, เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ, เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ...ผัสสะ...เวทนา...ตัณหา...อุปาทาน...ภพ...ชาติ...ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงดับ, ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้;

“จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณ...ปัญญา...วิชชา...แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่มิเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า ‘นิโรธ นิโรธ’ ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย...เราได้เห็นมรรคาเก่า หนทางเก่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปางก่อนทั้งหลายเคยเสด็จไปแล้ว...ได้แก่มรรคามีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐนี้เอง กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ...เราได้ดำเนินตามมรรคานั้น เมื่อเดินตามมรรคานั้น จึงได้รู้ชัดซึ่งชรามรณะ รู้ชัดซึ่งสมุทัยแห่งชรามรณะ รู้ชัดซึ่งนิโรธแห่งชรามรณะ รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันนำไปสู่นิโรธแห่งชรามรณะ...รู้ชัดซึ่งชาติ รู้ชัดซึ่งสมุทัยแห่งชาติ รู้ชัดซึ่งนิโรธแห่งชาติ รู้ชัดซึ่งปฏิปทา อันนำไปสู่นิโรธแห่งชาติ ฯลฯ (ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ) รู้ชัดซึ่งสังขาร

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2021, 04:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ทั้งหลาย รู้ชัดซึ่งสมุทัยแห่งสังขาร รู้ชัดซึ่งนิโรธแห่งสังขาร รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันนำไปสู่นิโรธแห่งสังขาร;

ครั้นรู้ชัดความนั้นแล้ว จึงบอกแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย, พรหมจรรย์ (ชีวิตประเสริฐ=ไตรสิกขา=พระศาสนา) จึงเจริญแพร่หลาย แผ่ขยาย เป็นที่รู้ของพหูชน เป็นปึกแผ่น จนเทวะและมนุษย์ทั้งหลายประกาศกันได้เป็นอย่างดี”

สำนวนแบบที่กล่าวสรุปการบรรลุอาสวักขยญาณ หรืออรหัตตผล หรือปัญญาวิมุตติ ของสาวกหรือบุคคลทั่วไป ก็มีหลายสำนวน มีทั้งที่เหมือนหรือคล้ายอย่างนี้ และที่แปลกออกไปบ้าง แต่จะไม่ยกมาแสดงในที่นี้ เพราะเมื่อว่าโดยสาระสำคัญแล้ว ก็ลงในแนวเดียวกัน กล่าวคือ สภาวธรรมหรือสังขารธรรมทั้งหลายมักถูกแยกแยะออกเป็นส่วนย่อยในรูปต่างๆ ซึ่งโดยมากแยกออกเป็นขันธ์ ๕ หรืออายตนะ ๑๒ แล้วพิจารณาความจริงตามแนวไตรลักษณ์ คือ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา มีมากแห่งที่เน้นเฉพาะแง่ที่เกี่ยวกับอัตตาและภาวะที่เป็นอนัตตา บางคราวก็สืบสาวความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยตามแนวปฏิจจสมุปบาท ถ้าพูดในแง่หลักปฏิบัติ ก็จะเป็นการกล่าวถึงหลักธรรมหมวดใดหมวดหนึ่งในพวกโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

สิ่งที่น่าสนใจมาก ทั้งสำหรับนักศึกษาหาความรู้ และนักศึกษาปฏิบัติ ก็คือสำนวนแบบที่บรรยายแนวการพิจารณา ซึ่งถ้าจับสาระได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในการเจริญวิปัสสนาเป็นอย่างมาก ต่อไปนี้จะนำสำนวนแบบเหล่านั้นมาแสดงบางส่วนพอเป็นตัวอย่าง และขอให้ผู้ศึกษาจับสาระเอาเอง โดยไม่พึงติดในภาษา (ท่านกล่าวว่า แนวพิจารณาเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้หลายแบบ ตามความเหมาะสมกับอัธยาศัยของบุคคล)

สำนวนสามัญ: พิจารณาขันธ์ ๕
• “ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง; อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติดแม้ในรูป...แม้ในเวทนา...แม้ในสัญญา...แม้ในสังขารทั้งหลาย...แม้ในวิญญาณ, เมื่อหายติด (นิพพิทา) ย่อมคลายออก (วิราคะ), เพราะคลายออก ย่อมหลุดพ้น; เมื่อหลุดพ้น ย่อมมีญาณว่า หลุดพ้นแล้ว; ย่อมรู้ชัดว่า สิ้นเกิด จบมรรคาชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) เสร็จกรณีย์ ไม่มีกิจอื่นอีกเพื่อภาวะเช่นนี้

“ภิกษุทั้งหลาย รูป ปัจจัยบีบคั้นได้ (ทุกข์) เวทนา..สัญญา..สังขารทั้งหลาย... วิญญาณปัจจัยบีบคั้นได้;...เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ

“ภิกษุทั้งหลาย รูป ไม่เป็นตน (อนัตตา) เวทนา...สัญญา...สังขารทั้งหลาย...วิญญาณ ไม่เป็นตน;...เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”

ในการพิจารณาตามแนวของสำนวนนี้ คำว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อาจยักเยื้องไปได้ต่างๆ ตามอัธยาศัย เช่น อาจเป็นว่า รูปเป็นมาร ฯลฯ เวทนาร้อนเป็นไฟหมดแล้ว ฯลฯ รูปเป็นสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา ฯลฯ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2021, 04:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


• “รูป...เวทนา...สัญญา...สังขารทั้งหลาย...วิญญาณ ไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นปัจจัยบีบคั้นได้ (ทุกข์), สิ่งใดมีปัจจัยบีบคั้นได้ สิ่งนั้นไม่เป็นตน (อนัตตา), สิ่งใดไม่เป็นตน สิ่งนั้นอริยสาวก พึงเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงว่า ไม่ใช่ “นั่นของเรา” ไม่ใช่ “เราเป็นนั่น” ไม่ใช่ “นั่นเป็นตัวตนของเรา”; เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”

• “ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เป็นตน (เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณ ไม่เป็นตน), หากว่ารูป (เวทนา ฯลฯ วิญญาณ) นี้ จักได้เป็นตนแล้วไซร้ รูป ฯลฯ ก็ต้องไม่เป็นไปเพื่อความข้องขัด (อาพาธ) และก็พึงได้ (ตามความประสงค์) ในรูป ฯลฯ ว่า ขอรูป ฯลฯ ของเรา จงเป็นอย่างนี้ ขอรูป ฯลฯ ของเรา จงอย่าได้เป็นอย่างนี้; แต่เพราะรูป ฯลฯ ไม่เป็น ฉะนั้น รูป ฯลฯ จึงเป็นไปเพื่อความข้องขัด และบุคคลก็ไม่ได้ (ตามความประสงค์) ในรูป ฯลฯ ว่า ขอรูป ฯลฯ ของเรา จงเป็นอย่างนี้ ขอรูป ฯลฯ ของเรา อย่าได้เป็นอย่างนี้

“ภิกษุทั้งหลาย เธอเข้าใจอย่างไร: รูป (เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณ) เที่ยงหรือไม่เที่ยง?” (ไม่เที่ยง...) “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นภาวะบีบคั้น (ทุกข์) หรือเป็นภาวะคล่องสบาย (สุข)?” (เป็นภาวะบีบคั้น...) “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง ถูกปัจจัยบีบคั้น มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะมองเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?” (ไม่ควร...)

“เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย รูป (เวทนา ฯลฯ วิญญาณ) อย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน...รูปทั้งปวงนั้น พึงเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงว่า ไม่ใช่ “นั่นของเรา”, ไม่ใช่ “เราเป็นนั่น”, ไม่ใช่ “นั่นเป็นตัวตนของเรา”; เมื่อมองเห็นอย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”

• “รูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) อย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ทั้งไกลทั้งใกล้ ภิกษุย่อมมองดูรูป (เวทนา ฯลฯ วิญญาณ) นั้น ย่อมพินิจ ย่อมตรองดูโดยแยบคาย, เมื่อเธอมองดู พินิจ ตรองดูโดยแยบคาย ย่อมปรากฏแต่สิ่งที่ว่างเปล่า หาแก่นสารมิได้เลย, แก่นสารในรูป (เวทนา ฯลฯ วิญญาณ) จะพึงมีได้อย่างไร; เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”

• “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมองเห็นรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ที่ไม่เที่ยงนั่นแหละว่า ไม่เที่ยง, ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ, เมื่อมองเห็นถูกต้อง ย่อมหายติด, เพราะสิ้นนันทิ ก็สิ้นราคะ, เพราะสิ้นราคะ ก็สิ้นนันทิ, เพราะสิ้นนันทิและราคะ จิตก็หลุดพ้น เรียกว่าหลุดพ้นด้วยดี”

• “ภิกษุทั้งหลาย จงพิจารณาโดยแยบคายซึ่งรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ), จงเห็นคล้อยตามที่เป็นจริง ซึ่งอนิจจตาแห่งรูป (เวทนา ฯลฯ วิญญาณ); เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย...เมื่อเห็นคล้อยตามที่เป็นจริง ย่อมหายติดในรูป (เวทนา ฯลฯ วิญญาณ); เพราะสิ้นนันทิ ก็สิ้นราคะ, เพราะสิ้นราคะ ก็สิ้นนันทิ, เพราะสิ้นนันทิและราคะ จิตก็หลุดพ้น เรียกว่าหลุดพ้นด้วยดี”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2021, 04:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


สำนวนสามัญ: พิจารณาอายตนะ และธรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง

• “ภิกษุทั้งหลาย ตา...หู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจ ไม่เที่ยง; เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ ตา...หู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจ ปัจจัยบีบคั้นได้; เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ ตา...หู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจ ไม่เป็นตน; เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ รูป...เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ไม่เที่ยง...ปัจจัยบีบคั้นได้...ไม่เป็นตน; เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”

ในการพิจารณาตามแนวของสำนวนนี้ คำว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อาจยักเยื้องไปได้ต่างๆ ตามอัธยาศัย เช่น อาจเป็นว่า จักษุมืดไปหมดแล้ว ตาร้อนเป็นไฟไปแล้ว หรือว่าตาเป็นสิ่งมีความเสื่อมได้เป็นธรรมดา ดังนี้เป็นต้น

• “ภิกษุทั้งหลาย ตา...หู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจ ไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นปัจจัยบีบคั้นได้, สิ่งใดปัจจัยบีบคั้นได้, สิ่งนั้นไม่เป็นตน; สิ่งใดไม่เป็นตน สิ่งนั้นพึงเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงว่า ไม่ใช่ “นั่นของเรา” ไม่ใช่ “เราเป็นนั่น” ไม่ใช่ “นั่นคือตัวตนของเรา; เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ

“ภิกษุทั้งหลาย รูป...เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นปัจจัยบีบคั้นได้, สิ่งใดปัจจัยบีบคั้นได้ สิ่งนั้นไม่เป็นตน; สิ่งใดไม่เป็นตน สิ่งนั้นพึงเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงว่า ไม่ใช่ “นั่นของเรา” ไม่ใช่ “เราเป็นนั่น” ไม่ใช่ “นั่นคือตัวตนของเรา; เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”

• “นี่แน่ะภิกษุ เธอเข้าใจอย่างไร: ตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ,จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ, จักขุสัมผัสส ฯลฯ มโนสัมผัส, เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย...เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย จะเป็นสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็ตาม ) เป็นของเที่ยงหรือไม่เที่ยง?” (ไม่เที่ยง...) “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นภาวะบีบคั้น (ทุกข์) หรือเป็นภาวะคล่องสบาย (สุข)?” (เป็นภาวะบีบคั้น...) “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง ถูกปัจจัยบีบคั้น มีความแปรปรวนไปได้เป็นธรรมดา ควรหรือที่จะมองเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?” (ไม่ควรเลย...) เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”

• “ภิกษุทั้งหลาย ตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เป็นสิ่งไม่เที่ยง, แม้สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งไม่เที่ยง, ตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ซึ่งเกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่เที่ยง จักเป็นของเที่ยงได้แต่ที่ไหน.

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2021, 05:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


“ตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เป็นสิ่งที่ปัจจัยบีบคั้นได้...ไม่เป็นตัวเป็นตน, แม้สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ปัจจัยบีบคั้นได้...ไม่เป็นตัวเป็นตน, ตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ปัจจัยบีบคั้นได้...เกิดจากสิ่งที่ไม่เป็นตัวเป็นตน จักเป็นสุข...จักเป็นได้แต่ที่ไหน; เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ

“รูป...เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ (ก็เป็นเช่นเดียวกัน); เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”

• “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมองเห็นตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) ที่ไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง, ความเห็นของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ, เมื่อเห็นถูกต้อง ย่อมหายติด, เพราะสิ้นนันทิ ก็สิ้นราคะ, เพราะสิ้นราคะ ก็สิ้นนันทิ, เพราะสิ้นนันทิและราคะ จิตก็หลุดพ้น เรียกว่าหลุดพ้นด้วยดี”

• “ภิกษุทั้งหลาย จงพิจารณาโดยแยบคายซึ่ง ตา (หู ฯลฯ ธรรมารมณ์) จงเห็นคล้อยไปตามความเป็นจริง ซึ่งอนิจจตา แห่งตา (หู ฯลฯ ธรรมารมณ์); เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย เมื่อเห็นคล้อยไปตามความเป็นจริง ย่อมหายติดในตา (หู ฯลฯ ธรรมารมณ์); เพราะสิ้นนันทิ ก็สิ้นราคะ, เพราะสิ้นราคะ ก็สิ้นนันทิ, เพราะสิ้นนันทิและราคะ จิตก็หลุดพ้น เรียกว่าหลุดพ้นด้วยดี”

• (ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามว่า เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิดขึ้น, ตรัสตอบว่า) เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ ซึ่งตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ วิญญาณ ๖ สัมผัส ๖ และเวทนาที่เป็นสุข ทุกข์ อทุกขสุข) โดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น”

• (ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามว่า เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิดขึ้น, ตรัสตอบว่า) ภิกษุมีสุตะ (ได้เล่าเรียนหรือสดับมา) ว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” (สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย) ข้อที่ว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นนี้ ย่อมเป็น (เพียง) สุตะ ของเธอ; เธอเรียนรู้ (อภิญญา) ธรรมทุกอย่าง, ครั้นเรียนรู้ธรรมทุกอย่างแล้ว ย่อมรู้จัก (ปริญญา) ธรรมทุกอย่าง, ครั้นรู้จักธรรมทุกอย่างแล้ว ย่อมมองเห็นนิมิต (สิ่งที่กำหนดหมายหรือภาพของสิ่งทั้งหลาย) ทั้งปวง โดยนัยอื่น (=มองเห็นต่างไปจากที่เคยมองเห็นเมื่อมีความยึดมั่น) คือ เห็นตาโดยนัยอื่น เห็นรูปทั้งหลายโดยนัยอื่น เห็นเสียง (อายตนะอีก ๙ วิญญาณ ๖ สัมผัส ๖ และเวทนาที่เป็นสุข ทุกข์ อทุกขมสุข) โดยนัยอื่น; เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร