วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 05:26  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2021, 09:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


มัชฌิมาปฏิปทา
ต่อเนื่องจาก
มัชเฌนธรรมเทศนา

มัชเฌนธรรมเทศนา คือ ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นกลางๆ ตามความจริงของธรรมชาติคือตาม สภาวะที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมันเอง ตามเหตุปัจจัย ไม่ติดข้องในทิฏฐิคือทฤษฎีหรือแนวคิดเอียงสุดทั้งหลาย ที่มนุษย์วาดให้เข้ากับสัญญาที่ผิดพลาด และความยึดความอยากของตน ที่จะให้โลกและชีวิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ดังได้กล่าวแล้วว่า มัชเฌนธรรมเทศนานี้ หมายถึงหลักปฏิจจสมุปบาท อันได้แก่กระบวนธรรมแห่งการเกิดขึ้นพร้อมโดยอาศัยกันและกันของสิ่งทั้งหลาย กระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาทที่ชี้แจงเรื่องความทุกข์ของมนุษย์นั้น ท่านแสดงไว้เป็น ๒ แบบ หรือ ๒ สาย

- สายที่หนึ่ง แสดงการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทสมุทยวาร และจัดเป็นคำจำกัดความของอริยสัจ ข้อที่ ๒ คือ สมุทัยอริยสัจ

- สายที่สอง แสดงการดับไปแห่งทุกข์ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร และจัดเป็นคำจำกัดความของอริยสัจข้อที่ ๓ คือ นิโรธอริยสัจ

โดยสรุป มัชเฌนธรรมเทศนา แสดงกระบวนธรรม ๒ สาย คือ

สมุทัย – นิโรธ

๑. สมุทัย = ปฏิจจสมุปบาท สมุทัยวาร: อวิชชา→ สังขาร → วิญญาณ ฯลฯ → ชาติ → ชรามรณะ โสกะ ฯลฯ = เกิดทุกข์

๒. นิโรธ = ปฏิจจสมุปบาท นิโรธวาร: อวิชชาดับ → สังขารดับ → วิญญาณดับ ฯลฯ → ชาติดับ → ชรามรณะ โสกะ ฯลฯ อุปายาส ดับ = ดับทุกข์

การที่จะแสดง สมุทัย ก็เพราะมีทุกข์เป็นตัวปัญหา เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ต้องสืบค้นหาสาเหตุ ดังนั้น จึงได้บรรยายเรื่องสภาวธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งปัญหา คือ ความทุกข์นั้นไว้แต่ต้น ในภาคมัชเฌนธรรมเทศนา

ส่วนนิโรธก็มีความหมายกว้าง นอกจากหมายถึงกระบวนการที่จะทำให้ทุกข์ดับ คือปฏิจจสมุปบาทนิโรธวารแล้ว ยังกินความถึงนิพพานที่เป็นภาวะดับทุกข์ หรือภาวะไร้ทุกข์ด้วย ดังนั้น ในภาคมัชเฌนธรรมเทศนาจึงได้บรรยายไว้ทั้งกระบวนการดับทุกข์ และภาวะแห่งนิพพาน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2021, 09:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อได้แสดงทั้งเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ กระบวนการดับทุกข์ และภาวะหมดทุกข์แล้ว ก็น่าจะเป็นอันครบถ้วนกระบวนความ ควรจะจบสิ้นเนื้อหาของพุทธธรรมลงได้ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะว่า มัชเฌนธรรมเทศนา แสดงแต่สภาวธรรมที่เป็นไปตามธรรมดาของมันเอง ตามเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติของมนุษย์

ดังที่กระบวนการดับทุกข์ อันเรียกว่านิโรธ ซึ่งอยู่ในฝ่ายของมัชเฌนธรรมเทศนานั้น เป็นแต่เพียงตัวกระบวนการของธรรมชาติล้วนๆ กล่าวถึงเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ ไม่ได้ชี้แจงแนะนำรายละเอียดในทางปฏิบัติแต่อย่างใด กล่าวคือ บอกแต่เพียงว่า ในการเข้าถึงจุดหมายคือความดับทุกข์ กระบวนธรรมจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ แต่ไม่ได้บอกด้วยว่า ทำอย่างไร จึงจะให้กระบวนธรรมเป็นอย่างนั้นขึ้นมาได้ หรือว่า ถ้าต้องการให้กระบวนธรรมเป็นอย่างนั้น มนุษย์ควรปฏิบัติการอย่างไร จะต้องทำอะไรบ้าง

เป็นอันว่า มัชเฌนธรรมเทศนามีขอบเขตจำกัดอยู่ภายในเรื่องของสภาวธรรม ที่เป็นไปอยู่ตามธรรมดาของมันในธรรมชาติ

มนุษย์เรียนรู้เรื่องมัชเฌนธรรมเทศนามาตามลำดับ จนถึงรู้จักกระบวนการดับทุกข์ในข้อว่าด้วยนิโรธ เป็นอันได้เข้าใจหลักการดับทุกข์ หรือหลักการแก้ไขปัญหาแล้ว แต่ยังต้องการคำแนะนำในทางปฏิบัติต่อไปอีก ว่ามีวิธีการที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จตามหลักการหรือกระบวนการนั้นได้อย่างไร นี้คือจุดเชื่อมต่อระหว่างกระบวนการของธรรมชาติ กับวิธีปฏิบัติของมนุษย์

ข้อสำคัญที่ต้องเน้น คือ วิธีปฏิบัติของมนุษย์ จะต้องสอดคล้องกับกระบวนการของธรรมชาติ หรือการปฏิบัติของมนุษย์ จะต้องให้ผลเกิดขึ้นตามกระบวนการของธรรมชาติ วัตถุประสงค์ที่ต้องการจึงจะสำเร็จ หลักการในเรื่องนี้คือ เรียนรู้เข้าใจกระบวนการของธรรมชาติ แล้วปฏิบัติตามวิธีการของมนุษย์ ให้เป็นไปตามความรู้ความเข้าใจนั้น

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า สำหรับกระบวนการของธรรมชาติ หน้าที่ของเราคือต้องรู้ ส่วนการปฏิบัติ เราทำตามข้อกำหนดหรือรายละเอียดที่วางขึ้นตามความรู้นั้น เมื่อตกลงกันอย่างนี้แล้ว ก็ก้าวจากกระบวนการของธรรมชาติ ไปสู่การปฏิบัติของมนุษย์ได้

การปฏิบัติ ข้อปฏิบัติ หรือวิธีปฏิบัติ มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า ปฏิปทา คำว่า “ปฏิปทา” ในที่นี้ มีความหมายจำเพาะ หมายถึง ข้อปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ หนทาง วิธีการ หรือวิธีดำเนินชีวิต ให้บรรลุถึงความดับทุกข์

ปฏิปทาเช่นนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดวางไว้แล้ว โดยสอดคล้องกับกระบวนการดับทุกข์ที่เป็นมัชเฌนธรรมเทศนาดังที่กล่าวแล้วข้างต้น และทรงเรียกปฏิปทานั้นว่า แปลว่า ข้อปฏิบัติมีในท่ามกลาง หรือเรียกง่ายๆ ว่าทางสายกลาง หมายถึง ข้อปฏิบัติ วิธีการ หรือทางดำเนินชีวิตที่เป็นกลางๆ ตามธรรมชาติ สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ พอเหมาะพอดีที่จะให้เกิดผลตามกระบวนการดับทุกข์ของธรรมชาติ ไม่เอียงเข้าไปหาขอบสุดสองข้าง ที่ทำให้ติดพัวพันอยู่หรือเฉไถลออกไปนอกทาง

มัชฌิมาปฏิปทานี้ มีชื่อเรียกอย่างง่ายๆ ว่า มรรค ซึ่งแปลว่าทาง ทางนี้มีส่วนประกอบ ๘ อย่าง และทำให้ผู้ดำเนินตามเป็นอารยชน จึงเรียกชื่อเต็มว่า อนิยอัฏฐังคิกมรรค หรือ อารยอัษฏางคิกมรรค

พระพุทธเจ้าตรัสว่า มรรคาที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทานี้ เป็นทางเก่า ที่เคยมีท่านผู้เดินทางถูกต้องไปถึงจุดหมาย เคยเดินกันมาในกาลก่อนแล้ว พระองค์เพียงแต่ทรงค้นพบ แล้วทรงเปิดเผยแก่มวลมนุษย์ ทรงทำหน้าที่แนะนำบอกทางนี้ให้แก่เวไนยชน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2021, 09:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


มรรค หรือมรรคานี้ เป็นวิธีปฏิบัติของมนุษย์ ที่จะทำให้เกิดผลตามกระบวนการดับทุกข์ของธรรมชาติ คือทำให้เหตุปัจจัยต่างๆ ส่งผลสืบทอดกันไปจนสำเร็จเสร็จสิ้นตามกระบวนการของธรรมชาตินั้น เมื่อได้มรรคานี้แล้ว ก็เป็นอันก้าวจากกระบวนการของธรรมชาติในข้อ มาสู่การปฏิบัติของมนุษย์ในข้อมรรคต่อไป

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ผ่านจากขั้นรู้ความจริงเกี่ยวกับกฎธรรมชาติ มาสู่ขั้นประยุกต์ความรู้นั้นจัดวางเป็นระบบวิธีประพฤติปฏิบัติของมนุษย์

เพื่อให้มองเห็นภาพการก้าวจากกระบวนการของธรรมชาติในนิโรธ ออกมาสู่การปฏิบัติของมนุษย์ในมรรคชัดเจนขึ้น อาจเขียนให้ดูได้ดังนี้

นิโรธ – มรรค

นิโรธ: อวิชชาดับ → สังขารดับ → วิญญาณดับ → นามรูปดับ →สฬายตนะดับ ฯลฯ ชาติดับ → ชรามรณะดับ โสกะ ฯลฯ อุปายาส ดับ = ดับทุกข์

มรรค: สัมมาทิฏฐิ + สัมมาสังกัปปะ + สัมมาวาจา + สัมมากัมมันตะ + สัมมาอาชีวะ + สัมมาวายามะ + สัมมาสติ + สัมมาสมาธิ → ดับทุกข์

ขอสรุปข้อสังเกตที่ควรทราบ ในตอนเชื่อมต่อระหว่างกระบวนการของนิโรธ กับวิธีปฏิบัติของมรรค ไว้ดังนี้

- นิโรธ เป็นกระบวนการของธรรมชาติ มรรค เป็นวิธีปฏิบัติของมนุษย์ ที่จะให้เกิดผลตามกระบวนการธรรมชาตินั้น

• มรรคเกิดจากการใช้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการธรรมชาติของนิโรธนั้นเอง มาจัดวางเป็นวิธีปฏิบัติขึ้น และผู้ที่จะปฏิบัติก็จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการธรรมชาตินั้นบ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้น มรรคจึงเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ

- นิโรธ เป็นกระบวนการของธรรมชาติ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยต่างๆ โดยตรง เมื่อพูดถึงการดับทุกข์ ก็คือดับเหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดทุกข์ ดังนั้น กระบวนการดับทุกข์ของนิโรธจึงลงตัวแน่นอนและสิ้นเชิง เป็นการทำให้หมดปัญหา ไม่มีปัญหา หรือเป็นการให้เกิดภาวะตรงข้ามกับปัญหา ไม่เกิดปัญหาเลยทีเดียว

• ส่วนมรรค วางวิธีปฏิบัติที่ยืดหยุ่นได้ อาจขยายรายละเอียดข้อปฏิบัติออกไปเป็นยากง่ายหลายระดับ กระจายออกจากองค์มรรค ๘ ข้อนั้นไปอีกได้อย่างมากมาย กลายเป็นระบบอันซับซ้อน เป็นวิธีการที่จะบรรลุภาวะหมดปัญหานั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เร็วช้า ทำให้ปัญหาลดลงหรือเหลืออยู่มากน้อย ตามสัดส่วนแห่งการปฏิบัติ

- นิโรธ แสดงการดับทุกข์โดยกล่าวถึงตัวเหตุปัจจัยโดยตรง เป็นเรื่องของการกำจัดสิ้นเชิงที่ตัวเหตุปัจจัยนั้นๆ เสร็จไปทีเดียว จึงไม่ต้องพูดถึงเรื่องความดีความชั่วมากมาย

• มรรค เป็นวิธีปฏิบัติของมนุษย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป มีการสั่งสมพลังฝ่ายดีให้แรงกล้าขึ้น เพื่อเอาชนะพลังเหตุปัจจัยฝ่ายร้ายที่หน่วงเหนี่ยวหรือขัดขวาง จึงต้องมีการเน้นเรื่องการละความชั่ว บำเพ็ญสั่งสมความดี ในหลายระดับ โดยเฉพาะในระดับที่ยืดยาด

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2021, 11:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


- นิโรธ เป็นขั้นหลักการ มรรค เป็นขั้นวิธีการ เทคนิค อุบายวิธี และอุปกรณ์

- โดยอุปมาอย่างหนึ่ง เปรียบนิโรธเหมือนหลักการดับไฟ หรือกระบวนการทำให้ไฟดับตามธรรมชาติแท้ๆ ซึ่งอาจพูดเพียงว่า ทำให้ขาดเชื้อ หรือทำให้ขาดออกซิเจน หรือทำให้วัตถุลดอุณหภูมิ คือเย็นลงจนต่ำกว่าจุดที่จะลุกไหม้

• มรรค เปรียบเหมือนวิธีปฏิบัติที่จะให้เกิดผลตามหลักการดับไฟเช่นนั้น คือจะทำอย่างไรให้ไฟที่ลุกไหม้แล้ว ไม่มีเชื้อที่จะไหม้ต่อไป ทำอย่างไรจะให้ขาดออกซิเจน ทำอย่างไรจะให้วัตถุเย็นถึงขีดที่ต้องการ เพียงเท่านี้ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ จะต้องคิดค้นหาเครื่องอุปกรณ์และวิธีการต่างๆ ขึ้นมาอย่างมากมาย เช่น จะใช้น้ำหรือวัตถุดับไฟชนิดใด ใช้เครื่องมือชนิดไหน ถ้าไฟไหม้เกิดจากไฟฟ้า น้ำมัน แก๊ส หรือไฟธรรมดา ควรจะปฏิบัติต่างกันอย่างไร มีวิธีเข้าถึงไฟ และวิธีป้องกันตัวในแต่ละกรณีอย่างไร เป็นต้น ตลอดจนกระทั่งว่าจะฝึกคนไว้เป็นพนักงานทำหน้าที่ช่วยคนอื่นดับไฟอย่างไร

- โดยอุปมาอีกอย่างหนึ่ง เปรียบนิโรธ เหมือนหลักการรักษาโรค กล่าวถึงการแก้ไขกำจัดสาเหตุโดยตรง เช่น กำจัดเชื้อโรค กำจัดสิ่งเป็นพิษหรือของแปลกปลอมจากภายนอก แก้ไขความบกพร่องหรือความเสื่อมหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ เติมสิ่งที่ร่างกายขาดแคลน ปรับปรุงจิตใจ เป็นต้น

• เปรียบมรรค เหมือนวิธีการรักษา มองดูหลักการรักษาแท้ๆ เพียงนิดเดียว แต่วิธีการรักษาอาจสลับซับซ้อนยุ่งยากมากมาย เริ่มแต่ตรวจอาการ วินิจฉัยโรค เรียนรู้วิธีใช้ยาชนิดต่างๆ วิธีผ่าตัด วิธีดูแลหรือพยาบาลผู้ป่วย การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย การประดิษฐ์และการใช้เครื่องอุปกรณ์ชนิดต่างๆ การสร้างและจัดสถานที่รักษาพยาบาล ระบบการบริหารงาน และการฝึกแพทย์พยาบาลมาทำหน้าที่โดยเฉพาะ เป็นต้น ซึ่งมีความละเอียดซับซ้อนพิสดารเป็นอย่างมาก

มรรค หรือมัชฌิมาปฏิปทานี้ แม้จะมีองค์ประกอบเพียง ๘ อย่าง แต่ก็เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สามารถขยายกระจายออกไป และจัดวางใหม่เป็นระบบ ที่มีรูปแบบ ขั้นตอน และลำดับต่างๆ กันได้อย่างมากมาย โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ บุคคล สถานการณ์ เงื่อนไข และระดับความพร้อมจำเพาะที่แตกต่างกันออกไปนานัปการ จึงเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาเป็นรายละเอียดที่จะต้องศึกษาเป็นอันมาก ดังนั้น เรื่องมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติของมนุษย์ จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่แยกออกแสดงอีกภาคหนึ่งต่างหาก

ในการศึกษาเรื่องนี้ อาจแบ่งเนื้อหาออกได้เป็น ๒ ตอน คือ ว่าด้วยองค์ประกอบของมรรค ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติพื้นฐาน หรือชั้นต้น ตอนหนึ่ง ว่าด้วยการกระจายองค์มรรคนั้นออกไปจัดใหม่เป็นรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์จำเพาะในแต่ละกรณี อีกตอนหนึ่ง

แต่ในที่นี้ จะกล่าวเฉพาะระบบพื้นฐานขององค์มรรคก่อน ส่วนระบบแปรรูปที่เป็นชั้นรอง คงจะกล่าวถึงอย่างแทรกเข้ามาในระหว่างบ้างเพียงเล็กน้อย ตามแต่จะมีเรื่องเกี่ยวโยงถึง ต่อเมื่อใดมีโอกาส อาจจะเขียนแยกไว้เป็นอีกภาคหนึ่งต่างหาก

ก่อนจะผ่านเข้าสู่เนื้อหาของมรรค จะขอให้พิจารณาแนวการก้าวจากสภาวธรรมออกสู่ ปฏิปทาหรือการก้าวออกจากกระบวนการของธรรมชาติ สู่วิธีปฏิบัติของมนุษย์ ที่อาจแสดงในรูปอื่นๆ ได้อีก ไว้เป็นความรู้ประกอบอีกสักเล็กน้อย

มีพุทธพจน์แสดงปฏิปทาไว้ ๒ อย่าง คือ

๑. มิจฉาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่ผิด หรือทางผิด คือ ทางให้เกิดทุกข์

๒. สัมมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่ถูก หรือทางถูก คือ ทางให้ดับทุกข์

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2021, 13:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


มิจฉาปฏิปทา – สัมมาปฏิปทา
บางแห่งทรงจัดปฏิจจสมุปบาทสมุทยวาร เป็นมิจฉาปฏิปทา และปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร เป็นสัมมา-ปฏิปทา เขียนให้ดูง่ายได้ ดังนี้

มิจฉาปฏิปทา: อวิชชา → สังขาร → วิญญาณ → นามรูป ฯลฯ → ชาติ → ชรามรณะ โสกะ ฯลฯ อุปายาส = เกิดทุกข์

สัมมาปฏิปทา: อวิชชาดับ → สังขารดับ → วิญญาณดับ ฯลฯ → ชาติดับ → ชรามรณะดับ โสกะ ฯลฯ อุปายาส ดับ = ดับทุกข์

แต่อีกแห่งหนึ่ง ทรงแสดงข้อปฏิบัติที่ตรงข้ามกับมรรค ว่าเป็นมิจฉาปฏิปทา และแสดงมรรค ว่าเป็นสัมมาปฏิปทา ดังนี้

มิจฉาปฏิปทา: มิจฉาทิฏฐิ + มิจฉาสังกัปปะ + มิจฉาวาจา + มิจฉากัมมันตะ + มิจฉาอาชีวะ + มิจฉาวายามะ + มิจฉาสติ + มิจฉาสมาธิ

สัมมาปฏิปทา: สัมมาทิฏฐิ + สัมมาสังกัปปะ + สัมมาวาจา + สัมมากัมมันตะ + สัมมาอาชีวะ + สัมมาวายามะ + สัมมาสติ + สัมมาสมาธิ

ปฏิจจสมุปบาท เป็นกระบวนการของธรรมชาติ แสดงแต่สภาวธรรม ไม่ใช่ปฏิปทา แต่ปฏิปทาถูกผิดชุดแรกในที่นี้ กลับแสดงตามแนวปฏิจจสมุปบาท จะขัดกันหรือไม่ คำตอบน่าจะมีว่า ปฏิจจสมุปบาทที่ยกมาแสดงในกรณีนี้ (ที่แสดงเป็นปฏิปทาอย่างนี้ มีแห่งเดียวนี้เท่านั้น) มุ่งให้เล็งหรือส่อไปถึงการปฏิบัติของคน

อรรถกถาที่อธิบายพระสูตรนี้ ตั้งข้อสงสัยว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดความคิดทำดี เป็นบุญ (ปุญญาภิสังขาร) ก็ได้ ให้เกิดแรงชักจูงภาวะจิตแน่วแน่มั่นคงอย่างสูง (อาเนญชาภิสังขาร) ก็ได้ เหตุใดจึงว่าเป็นมิจฉา-ปฏิปทา แล้วท่านก็เฉลยเองว่า คนที่ปรารถนาภพ คิดมุ่งจะเอาจะเป็น ไม่ว่าจะทำอะไร แม้แต่จะทำอภิญญา ๕ หรือ สมาบัติ ๘ ให้เกิดขึ้น ก็เป็นมิจฉาปฏิปทา ส่วนคนที่มุ่งนิพพาน คิดสละคลายออก (ใจโปร่งเป็นอิสระ) ไม่คิดจะเอาจะเป็น แม้แต่ให้ทานอะไรไปสักนิดหน่อย ก็เป็นสัมมาปฏิปทา

อย่างไรก็ตาม การนำเอามิจฉาปฏิปทา และสัมมาปฏิปทา ๒ คู่ข้างต้นนี้ มาวางเทียบกันไว้ มีความประสงค์เพียงให้เป็นเครื่องประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการก้าวจากกระบวนการของธรรมชาติในนิโรธ ออกมาสู่การปฏิบัติของมนุษย์ในมรรค ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น แต่คราวนี้มีข้อสังเกตเพิ่มขึ้นอีกหน่อยหนึ่งว่า นอกจากแสดงกระบวนธรรมและการปฏิบัติฝ่ายดีแล้ว ท่านยังได้แสดงกระบวนธรรมและการปฏิบัติฝ่ายร้ายหรือฝ่ายผิดไว้ด้วย

ยังมีพุทธพจน์แสดงปฏิจจสมุปบาทในรูปกระบวนการดับทุกข์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งแปลกไปจากแบบที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ ท่อนต้น แสดงกระบวนการเกิดทุกข์ตามหลักปฏิจจสมุปบาทสมุทยวารอย่างปกติมาโดยตลอด จนถึงทุกข์เกิดขึ้นแล้ว แต่ต่อจากนั้น แทนที่จะแสดงกระบวนการดับทุกข์ตามหลักปฏิจจสมุปบาทนิโรธวารต่อไป กลับแสดงกระบวนการแห่งกุศลธรรมต่างๆ ที่ส่งผลต่อเนื่องกันไปตามลำดับ จนถึงความหลุดพ้น เป็นกระบวนธรรมแบบใหม่ล้วน ไม่กล่าวถึงการดับองค์ธรรมต่างๆ ในปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวารแต่อย่างใดเลย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2021, 14:37 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2943


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

มัชฌิมาปฏิปทา : สายกลางสองมิติ
: อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=36871

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2021, 14:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


กระบวนธรรมแบบนี้ อาจถือได้ว่าเป็นตัวอย่างสำคัญของการนำเอาองค์มรรคไปจัดใช้ในระบบการปฏิบัติที่แท้จริง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นกระบวนธรรมที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ปฏิบัติตามมรรคอย่างได้ผลจนบรรลุความสำเร็จ กระบวนธรรมแห่งความหลุดพ้นแบบนี้ ท่านแสดงไว้หลายแห่ง มีรายละเอียดต่างกันไปบ้างเล็กน้อย ขอยกมาให้ดูทีละอย่าง ดังนี้

อวิชชา → สังขาร → วิญญาณ → นามรูป → สฬายตนะ → ผัสสะ → เวทนา → ตัณหา → อุปาทาน → ภพ → ชาติ → ทุกข์ → ศรัทธา → ปราโมทย์ → ปีติ → ปัสสัทธิ → สุข → สมาธิ → ยถาภูตญาณทัสสนะ → นิพพิทา → วิราคะ → วิมุตติ → ขยญาณ

พึงสังเกตว่า กระบวนการนี้ เริ่มแต่อวิชชา จนถึงทุกข์ ก็คือปฏิจจสมุปบาทสมุทยวาร ที่เป็นกระบวนการเกิดทุกข์ตามปรกตินั่นเอง (ทุกข์ในที่นี้ แทนคำว่า ชรามรณะ โสกะ ฯลฯ อุปายาสะ ทั้งหมด) แต่เมื่อถึงทุกข์แล้ว แทนที่วงจรจะบรรจบเพื่อเริ่มต้นที่อวิชชาอีกตามปรกติ กลับดำเนินต่อไป โดยมีศรัทธามารับช่วงแทนอวิชชา จากนั้นกระบวนการก็ดำเนินต่อไปในทางดี จนถึงจุดหมายคือขยญาณในที่สุด และไม่กลับมาบรรจบเริ่มต้นที่อวิชชาอีกเลย

ข้อน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ เมื่อนับทุกข์เป็นจุดศูนย์กลาง จำนวนหัวข้อนับย้อนไปข้างหน้า และต่อไปข้างหลัง จะมีจำนวนเท่ากัน

สำหรับผู้เข้าใจเรื่องอวิชชาดีแล้ว อ่านดูกระบวนการนี้ ก็จะไม่แปลกใจอะไร เพราะถ้าตัดตอนออก กระบวนการนี้ก็มี ๒ ตอน คือ อวิชชา ถึง ทุกข์ ตอนหนึ่ง กับ ศรัทธา ถึง ขยญาณ อีกตอนหนึ่ง

ในตอนช่วงหลัง ศรัทธามาเป็นจุดเริ่มต้นแทนอวิชชา ผู้ศึกษาปฏิจจสมุปบาทในบทก่อนแล้ว ย่อมเข้าใจความหมายว่า ศรัทธาในที่นี้ พูดง่ายๆ ก็คือ อวิชชาที่ถูกเบียดเบียน หรือบั่นทอนนั่นเอง กล่าวคือ ขณะนี้ไม่เป็นอวิชชาที่มืดบอดต่อไปแล้ว แต่มีเชื้อแห่งความรู้ความเข้าใจเข้ามาแทนที่ และทำหน้าที่เป็นสื่อชักจูงใจให้เกิดการมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายที่ดี จนเกิดความรู้จริง และหลุดพ้นในที่สุด

ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็ว่า เมื่อกระบวนการเกิดทุกข์ดำเนินมาตามปรกติ จากอวิชชาถึงทุกข์แล้ว ครั้นเกิดทุกข์ ก็คิดหาทางออก ในกรณีนี้ เกิดได้รับคำแนะนำสั่งสอนที่ถูกต้อง หรือเกิดความสำนึกในเหตุผลขึ้นมา จึงรู้สึกมีความเชื่อมั่นในคุณธรรมความดีงามต่างๆ เกิดเป็น ศรัทธา ขึ้นมาแล้ว เกิดปราโมทย์ สดชื่น เอิบอิ่มใจ ชักนำให้มุ่งมั่นก้าวหน้าในคุณความดีต่อไปตามลำดับ จนถึงที่สุด

ความจริง กระบวนการท่อนหลังนี้ ก็ตรงกับปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร แบบอวิชชาดับ → สังขารดับ → วิญญาณดับ ฯลฯ อย่างข้างต้นนั่นเอง แต่ในที่นี้ แสดงให้เห็นรายละเอียดที่เป็นข้อเด่นในกระบวนการชัดเจนขึ้น และมุ่งให้เห็นการเชื่อมต่อระหว่างกระบวนการเกิดทุกข์ กับกระบวนการดับทุกข์ ว่าเกี่ยวเนื่องกันได้อย่างไร

ในเนตติปกรณ์ อ้างพุทธพจน์ต่อไปนี้ ว่าเป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายโลกุตระ (เป็นแนวดับทุกข์) คือ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2021, 15:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


“ดูกรอานนท์ โดยนัยนี้แล ศีลที่เป็นกุศล มีความไม่วิปฏิสาร (ไม่เดือดร้อนใจ) เป็นอรรถ (ที่หมายหรือผล) เป็นอานิสงส์, ความไม่วิปฏิสาร มีปราโมทย์เป็นอรรถ เป็นอานิสงส์, ปราโมทย์ มีปีติเป็นอรรถ เป็นอานิสงส์, ปีติ มีปัสสัทธิเป็นอรรถ เป็นอานิสงส์, ปัสสัทธิ มีสุขเป็นอรรถ เป็นอานิสงส์, สุข มีสมาธิเป็นอรรถ เป็นอานิสงส์, สมาธิ มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอรรถ เป็นอานิสงส์, ยถาภูตญาณทัสสนะ มีนิพพิทาเป็นอรรถ เป็นอานิสงส์, นิพพิทา มีวิราคะเป็นอรรถ เป็นอานิสงส์, วิราคะ มีวิมุตติญาทัสสนะเป็นอรรถ เป็นอานิสงส์, ศีลที่เป็นกุศล ย่อมทำธรรมข้ออื่นๆ ให้บริบูรณ์ เพื่ออรหัตผลตามลำดับ โดยนัยนี้แล”

ตามนัยพุทธพจน์นี้ เขียนให้ดูง่ายได้ ดังนี้

โยนิโสมนสิการ→ กุศลศีล → อวิปปฏิสาร → ปราโมทย์ → ปีติ → ปัสสัทธิ → สุข → สมาธิ → ยถาภูตญาณทัสสนะ → นิพพิทา → วิราคะ → วิมุตติญาณทัสสนะ

จะเห็นว่ากระบวนธรรมนี้ ก็เป็นอย่างเดียวกับกระบวนธรรมที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง เป็นแต่กล่าวเฉพาะช่วงกระบวนการดับทุกข์อย่างเดียว ไม่ได้กล่าวถึงช่วงเกิดทุกข์ไว้ด้วย ขอให้ดูกระบวนธรรมแนวก่อนอีกครั้งหนึ่ง

อวิชชา → สังขาร → ฯลฯ → ชาติ → ทุกข์ → ศรัทธา → ปราโมทย์ →ปีติ → ปัสสัทธิ → สุข → สมาธิ → ยถาภูตญาณทัสสนะ→ นิพพิทา → วิราคะ → วิมุตติ → ขยญาณ

กระบวนธรรมทั้งสองนี้ แม้จะเหมือนกัน แต่ก็ไม่ตรงกันทุกตัวอักษร คือ กระบวนหนึ่งเริ่มด้วยศรัทธา อีกกระบวนหนึ่งเริ่มด้วยกุศลศีล ต่อด้วยอวิปปฏิสาร จากนั้น ตั้งแต่ปราโมทย์ไป จึงตรงกัน

ความจริง เป็นความต่างตามตัวอักษร และการเน้นเท่านั้น แต่ความหมายลงกันได้

กระบวนหนึ่งยกเอากรณีที่ศรัทธาเป็นตัวเด่น แต่ในเวลาที่มีศรัทธานั้น ก็คือ จิตใจเชื่อมั่นในเหตุผล เลื่อมใสในสิ่งที่ดีงาม มั่นใจในคุณธรรม ภาวะจิตนี้สัมพันธ์กับความประพฤติในเวลานั้นด้วย ศรัทธามีความประพฤติดีงามรองรับอยู่เช่นนี้ จึงนำไปสู่ปราโมทย์ต่อไป

ส่วนอีกกระบวนหนึ่ง ที่เริ่มด้วยกุศลศีล และอวิปปฏิสาร ก็เช่นกัน กระบวนนี้ยกการประพฤติปฏิบัติเป็นตัวเด่น ในกรณีนี้ จิตใจก็มีศรัทธาเชื่อมั่นในเหตุผลในคุณความดีเป็นพื้นอยู่ จึงประพฤติความดีอยู่ได้ และเมื่อมีศีล แล้วมีอวิปปฏิสาร ไม่เดือดร้อนใจ ก็คือเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง มั่นใจในความดีที่ประพฤติ อันเป็นลักษณะของศรัทธาที่ทำให้จิตใจเชื่อมั่นผ่องใส จากนี้ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดปราโมทย์ต่อไป ตรงกับกระบวนก่อน

ตอนจบ กระบวนธรรมหนึ่งลงท้ายด้วยวิมุตติและขยญาณ อีกกระบวนหนึ่งลงด้วย วิมุตติญาณทัสสนะ ก็คืออันเดียวกัน เป็นแต่กระบวนหลัง กล่าวรวมวิมุตติและขยญาณเข้าไว้ในความหมายของหัวข้อเดียว

กระบวนธรรมแห่งความหลุดพ้นอีกแบบหนึ่ง คล้ายกับแบบที่เริ่มต้นด้วยศรัทธา แต่เปลี่ยนศรัทธา เป็นโยนิโสมนสิการ ดังนี้

โยนิโสมนสิการ → ปราโมทย์ → ปีติ → ปัสสัทธิ → สุข → สมาธิ → ยถาภูตญาณทัสสนะ → นิพพิทา → วิราคะ → วิมุตติ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2021, 16:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


กระบวนธรรมนี้ไม่มีอะไรแปลกออกไป นอกจากเริ่มต้นด้วยการรู้จักคิดรู้จักพิจารณาใช้ปัญญาหาเหตุผลด้วยตนเอง แทนที่จะเริ่มด้วยความเชื่อ ซึ่งเป็นการฝากปัญญาไว้กับผู้อื่นหรือสิ่งอื่น เมื่อคิดพิจารณาถูกวิธี เกิดความรู้ความเข้าใจตามเป็นจริงแล้ว จิตใจก็แช่มชื่นเกิดปราโมทย์ ต่อจากนั้นองค์ธรรมต่างๆ ที่มารับช่วงส่งต่อกันไป ก็เหมือนกันกับในกระบวนธรรมก่อนๆ

กระบวนธรรมแบบนี้ ชี้แนะให้เห็นแนวทางการปฏิบัติชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยให้เข้าใจในสิ่งที่จะต้องทำกระจ่างขึ้น แต่กระนั้น ก็ยังไม่เป็นระบบการที่มีรายละเอียดในทางปฏิบัติมากเพียงพอ ยังคงมีปัญหาอยู่ว่า การที่จะให้กระบวนธรรมนี้เกิดขึ้นได้ จะต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง

ก่อนผ่านตอนนี้ ขอยกกระบวนธรรมแบบปฏิจจสมุปบาทมาแสดงอีกแนวหนึ่ง เพื่อประกอบความรู้ให้มองเห็นธรรมในหลายๆ แง่ เป็นเครื่องช่วยความเข้าใจในขั้นต่อๆ ไป

อาหารของอวิชชา – อาหารของวิชชาและวิมุตติ

๑. อาหารของอวิชชา

“ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวดังนี้ว่า: ก็อีกนั่นแล มีสิ่งนี้เป็นปัจจัย จึงปรากฏ เรากล่าวว่า

๑. อวิชชา มีอาหาร อาหารของอวิชชา คือ ขันธ์ ๕
๒. นิวรณ์ ๕ มีอาหาร .............................. คือ ทุจริต ๓
๓. ทุจริต ๓ มีอาหาร .............................. คือ การไม่สำรวมอินทรีย์
๔. การไม่สำรวมอินทรีย์ มีอาหาร .................คือ ความขาดสติสัมปชัญญะ
๕. ความขาดสติสัมปชัญญะ มีอาหาร ............. คือ ความขาดโยนิโสมนสิการ
๖. ความขาดโยนิโสมนสิการ มีอาหาร ...... ...... คือ ความขาดศรัทธา
๗. ความขาดศรัทธา มีอาหาร ..................... คือ การไม่ได้สดับสัทธรรม
๘. การไม่ได้สดับสัทธรรม มีอาหาร ............... คือ การไม่ได้เสวนาสัปบุรุษ

การไม่ได้เสวนาสัปบุรุษอย่างบริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ได้ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์
การไม่ได้ฟังสัทธรรมอย่างบริบูรณ์ ย่อมทำความไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์

ฯลฯ


นิวรณ์ ๕ บริบูรณ์ ย่อมทำอวิชชาให้บริบูรณ์
อวิชชา มีอาหาร และมีความบริบูรณ์ อย่างนี้”

๒. อาหารของวิชชาและวิมุตติ

“๑. วิชชาและวิมุตติ มีอาหาร อาหารของวิชชาและวิมุตติ คือ โพชฌงค์ ๗
๒. โพชฌงค์ ๗ มีอาหาร ............................... คือ สติปัฏฐาน ๔
๓. สติปัฏฐาน ๔ มีอาหาร ............................... คือ สุจริต ๓
๔. สุจริต ๓ มีอาหาร .................................... คือ อินทรียสังวรณ์
๕. อินทรีย์สังวรณ์ มีอาหาร ............................. คือ สติสัมปชัญญะ
๖. สติสัมปชัญญะ มีอาหาร .............................. คือ โยนิโสมนสิการ
๗. โยนิโสมนสิการ มีอาหาร .............................คือ ศรัทธา
๘. ศรัทธา มีอาหาร .......................................คือ การสดับสัทธรรม
๙. การสดับสัทธรรม มีอาหาร ............................ คือ การเสวนาสัปบุรุษ

การเสวนาสัปบุรุษอย่างบริบูรณ์ ย่อมยังการได้สดับสัทธรรมให้บริบูรณ์
การได้เรียนสดับสัทธรรมอย่างบริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์

ฯลฯ


โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาวิมุตติให้บริบูรณ์
วิชชาวิมุตติ มีอาหารอย่างนี้ มีความบริบูรณ์อย่างนี้”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2021, 21:27 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2943


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร