วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 04:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2021, 04:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


สุขเหนือเวทนา

เป็นอันว่า เหลือแต่สุขขั้นสุดท้าย คือข้อที่ ๑๐ อย่างเดียว ที่ต่างออกไป โดยเป็นสุข แต่ไม่เป็นเวทนา หรือเป็นสุขได้โดยไม่ต้องมีการเสวยอารมณ์ จะเรียกว่า สุขเหนือเวทนา ก็ได้ ตามที่ท่านแสดงไว้ มุ่งเอาสุขเนื่องด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาเวทยิตนิโรธนี้ เป็นสมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา จึงเป็นธรรมดาที่จะไม่มีเวทนา

อาจมีผู้สงสัยว่า ถ้าไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร เพราะความสุขเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง แต่ตามความเป็นจริง ความสุขที่ไม่เป็นเวทนา ก็มี ดังพุทธพจน์ที่ตรัสในเรื่องนี้ว่า

“อานนท์ ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่, นี้แล คือความสุขอื่น ที่ดีเยี่ยมกว่า และประณีตกว่าความสุข (ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ) นั้น”

“อาจเป็นไปได้ ที่อัญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวว่า สมณะโคดมตรัสสัญญาเวทยิตนิโรธไว้ และทรงบัญญัติ (จัดเอา) สัญญาเวทยิตนิโรธนั้นเข้าในความสุขด้วย, ข้อนั้นคืออะไรกัน ข้อนั้นเป็นได้อย่างไรกัน;

“เธอพึงกล่าวชี้แจงกะอัญเดียรถีย์ปริพาชกที่พูดอย่างนั้นว่า; นี่แน่ะท่าน พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติไว้ในความสุข หมายเอาเฉพาะสุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ก็หาไม่, ในที่ใดๆ พบความสุขได้ ในภาวะใดๆ มีความสุข พระย่อมทรงบัญญัติฐานะภาวะนั้นๆ ไว้ในความสุข (คือจัดเอาฐานะหรือภาวะนั้นๆ เข้าเป็นความสุข)”

สัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นภาวะเทียบคล้ายภาวะนิพพาน และสุขโดยไม่มีการเสวยอารมณ์ หรือสุขไม่เป็นเวทนา แห่งสัญญาเวทยิตนิโรธนี้ ก็เป็นประดุจนิพพานสุข

เรื่องนี้ พระสารีบุตรก็เคยอธิบายไว้ในนิพพานสูตร ความย่อว่า ครั้งหนึ่ง ท่านได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข นิพพานนี้เป็นสุข”

พระอุทายีถามท่านว่า จะมีความสุขได้อย่างไร ในภาวะที่ไม่มีการเสวยอารมณ์ พระสารีบุตรตอบว่า นิพพานที่ไม่มีการเสวยอารมณ์ (ไม่มีเวทนา) นี่แหละเป็นสุข จากนั้น ท่านได้อธิบายด้วยวิธียกตัวอย่างภาวะในสมาบัติ เป็นเครื่องเทียบเคียงให้เข้าใจโดยนัยอ้อม

ตามคำอธิบายของพระสารีบุตรนั้น ท่านมิได้ใช้เฉพาะแต่สัญญาเวทยิตนิโรธอย่างเดียวเท่านั้นเป็นเครื่องเทียบ ท่านใช้ภาวะในฌานทุกชั้น ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปทีเดียว เป็นเครื่องแสดงให้เห็นแง่ที่จะเทียบเคียงเข้าใจความสุขแห่งภาวะนิพพานได้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2021, 04:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ทั้งนี้มีอธิบายว่า ในฌานแต่ละขั้น ตามปกติจะมีสัญญามนสิการ (ความคำนึงนึกด้วยสัญญา) ที่เกี่ยวข้องกับฌานชั้นต่ำกว่าที่ถัดลงไป ฟุ้งขึ้นมาในใจได้ เช่น ผู้ที่บรรลุฌานที่ ๓ ซึ่งปราศจากปีติ มีเฉพาะสุขและเอกัคคตา ก็ยังมีสัญญามนสิการที่ประกอบด้วยปีติ คอยฟุ้งเข้ามาในใจได้

การที่สัญญามนสิการเช่นนี้ฟุ้งขึ้นมา นับว่าเป็นอาการรบกวน เป็นสิ่งบีบคั้น ทำให้ไม่สบายสำหรับผู้ที่กำลังอยู่ในฌานนั้นๆ (คำว่าอาการรบกวนบีบคั้นทำให้ไม่สบายนี้ ท่านใช้ศัพท์ว่า อาพาธ ที่ปกติแปลกันว่า ความเจ็บไข้หรือป่วย) อาการรบกวน บีบคั้น ทำให้ไม่สบายนี้เอง คือสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ เหมือนกับคนที่มีความสุขถ้าจะเกิดมีทุกข์ ก็คือเกิดสิ่งที่รบกวนบีบคั้นทำให้ไม่สบาย

โดยนัยนี้ เมื่อไม่มีสัญญามนสิการฟุ้งขึ้นรบกวน ผู้อยู่ในฌานใด ก็ดื่มด่ำในฌานนั้นเต็มที่ ดังนั้น ภาวะในฌานตามปกติของมันเอง แม้ไม่มองในแง่ของเวทนา ก็นับว่าเป็นความสุขอยู่แล้วในตัว พูดอีกอย่างหนึ่งว่า จะเห็นว่า ภาวะของฌานเป็นความสุข ก็เมื่อเอาอาการรบกวนบีบคั้นเข้ามาเทียบ

ภาวะโปร่งโล่งเต็มอิ่มสมบูรณ์ตามปกติ เช่นที่เป็นไปในฌานต่างๆ ในเมื่อไม่มีสัญญามนสิการฟุ้งเข้ามารบกวนบีบเบียนนี้แหละ พอจะเป็นเครื่องเทียบให้เข้าใจได้โดยอ้อม ถึงความสุขแห่งนิพพาน หรือว่า สุขแห่งนิพพาน ก็คือภาวะที่โปร่งโล่งเป็นอิสระเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ที่ไม่มีอะไรๆ รบกวนบีบคั้นกดดันแต่อย่างใดเลย

วิธีอธิบายของพระสารีบุตรอย่างนี้ นับว่าเป็นวิธีให้เข้าใจความสุขโดยเอาความทุกข์เข้าเทียบ คือ เมื่อสมบูรณ์ดีเป็นปกติ ไม่มีทุกข์ ก็เป็นสุข

ที่ว่าไม่มีทุกข์นั้น เป็นไปได้ทั้งในแง่บวก และแง่ลบ ในทางลบคือ ถูกบีบคั้นบั่นรอนกดดัน เหมือนถูกกดให้ยุบลงไป หรือทำให้ขาดให้พร่อง ต้องแก้ด้วยให้พ้นจากสิ่งกดบีบหรือเติมให้เต็มถึงสภาพสมบูรณ์ปกติอย่างเดิม ในทางบวก คือถูกเร้าถูกลนให้ยืดพองเป่งบวม ก็เป็นภาวะเสมือนบกพร่องขาดแคลนเช่นเดียวกัน ต้องแก้ไขให้กลับคืนสภาพสมบูรณ์เป็นปกติอย่างเดิมอีก

การสนองความต้องการโดยแก้ไขสภาพที่ผิดปกติไปอย่างนี้ ภาษาปุถุชนอาจเรียกว่าเป็นการแสวงหาความสุข หรือการได้เสวยความสุข แต่โดยสภาวะที่แท้แล้ว ก็คือ การเกิดทุกข์ขึ้น แล้วแก้ไขทุกข์ ทำให้ทุกข์ระงับไป หรือทำให้คืนสภาพสมบูรณ์เป็นปกติเดิมนั่นเอง

วิธีอธิบายแนวนี้ ก็ตรงกับความหมายของนิพพานในแง่ที่เป็นภาวะไร้โรค มีสุขภาพดี สมบูรณ์แข็งแรงอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ความมีสุขภาพดี มีความแข็งแรงสบาย เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว ตามปกติอาจไม่รู้สึกว่าเป็นความสุข เพราะไม่ได้เสพเสวยอารมณ์อะไร แต่จะรู้สึกได้ว่าเป็นความสุขยิ่งใหญ่สำคัญที่สุด เมื่อเอาอาพาธ คือโรค หรือความเจ็บไข้ เข้ามาเทียบ

พูดอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อเจ็บไข้ จึงจะรู้ได้ชัดว่า ความมีสุขภาพดี หรือภาวะไร้โรค เป็นความสุขอันยิ่งใหญ่

ร่างกายที่ไร้โรค มีสุขภาพดีแข็งแรงสมบูรณ์ โล่งไร้สิ่งระคายรบกวน เป็นความสุขแน่แท้ ฉันใด จิตใจที่ปราศจากสิ่งมัวหมองรบกวน ไม่มีอะไรคั่งค้างกังวล ไม่เกาะเกี่ยวพัวพันอยู่กับอารมณ์ที่เสพเสวยอย่างใดๆ ก็ฉันนั้น ย่อมปลอดโปร่งเปิดกว้าง แผ่โล่งไปไร้ขีดจำกัด มีลักษณะอย่างที่ท่านเรียกว่า “มีจิตใจไร้เขตแดน”

ภาวะจิตเช่นนี้ จะให้เกิดความรู้สึกอย่างไร จะเป็นสุข ผ่องใส เบิกบาน โปร่งโล่งอย่างไร เป็นประสบการณ์เฉพาะที่ผู้หลุดพ้นแล้วมีเป็นพิเศษ ต่างหากจากปุถุชนทั้งหลาย ซึ่งปุถุชนไม่เคยได้ประสบ จึงยากที่จะนึกคิดคาดคะเนให้แจ้งแก่ใจ แต่ก็คงพอนึกถึงได้ว่าจะต้องเป็นภาวะที่เลิศล้ำแน่ทีเดียว

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2021, 05:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


สุขได้ไม่ต้องพึ่งเวทนา คืออิสรภาพ และเป็นสุขภาวะที่สมบูรณ์

เมื่อมองให้ถึงตัวสภาวะ สุขที่ยังเป็นเวทนา หรือสุขที่ยังอาศัย ยังขึ้นต่อการเสวยอารมณ์ ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะสุขเวทนาก็เช่นเดียวกับเวทนาอื่นๆ (คือทุกข์ และอทุกขมสุข) ล้วนเป็นสังขารธรรม (หมายถึง สังขารในความหมายของสังขตธรรม ที่คลุมขันธ์ ๕ ทั้งหมด ไม่ใช่ที่เป็นข้อที่ ๔ ในขันธ์ ๕) จึงย่อมเป็นทุกข์ทั้งสิ้น (หมายถึงทุกข์ใน) ดังตรัสชี้แจงแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้

ภิกษุ: เมื่อข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความครุ่นคิดในใจอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา...แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสข้อความนี้ไว้ด้วยว่า การเสวยอารมณ์ (เวทนา) ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ล้วนจัดเข้าในทุกข์; ข้อที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การเสวยอารมณ์ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ล้วนจัดเข้าในทุกข์ดังนี้ พระองค์ตรัสหมายถึงอะไรหนอ?

พระพุทธเจ้า: ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ เรากล่าวเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา...แต่เราก็ได้กล่าวข้อความนี้ไว้ด้วยว่า การเสวยอารมณ์ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ล้วนจัดเข้าในทุกข์, ความข้อ (หลัง) นี้...เรากล่าวหมายถึงภาวะที่สังขารทั้งหลายนั่นแล เป็นสิ่งไม่เที่ยง...เรากล่าวหมายถึงภาวะที่สังขารทั้งหลายนั่นแล มีความสิ้น ความสลาย ความจางหาย ความดับ ความแปรปรวนไปได้เป็นธรรมดา”

เมื่อใด รู้เข้าใจตามเป็นจริงว่า เวทนาทั้ง ๓ คือ สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อทุกขมสุขก็ดี ล้วนไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งขึ้น เป็นของอาศัยกันๆ เกิดขึ้น มีอันจะต้องสิ้น ต้องสลาย ต้องจางหาย ต้องดับไปเป็นธรรมดา แล้วหมดใคร่หายติดในเวทนาทั้ง ๓ นั้น จนจิตหลุดพ้นเป็นอิสระได้แล้ว เมื่อนั้น จึงจะประสบสุขเหนือเวทนา หรือสุขที่ไม่เป็นเวทนา ไม่พึ่งพาอาศัยขึ้นต่อการเสวยอารมณ์ ที่เป็นขั้นสูงสุด

เวทนาจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยผัสสะ คือการรับรู้ ที่เกิดจากอายตนะ มีตา เป็นต้น ประจวบกับอารมณ์ มีรูป เป็นต้น แล้วเกิดการเห็น การได้ยิน เป็นต้น พูดง่ายๆ แง่หนึ่งว่า เวทนาต้องอาศัยอารมณ์ ขึ้นต่ออารมณ์ ถ้าไม่มีอารมณ์ เวทนาก็เกิดไม่ได้ เวทนาจึงแปลว่า การเสวยอารมณ์ หรือเสพรสอารมณ์

เมื่อเวทนาอาศัยอารมณ์ สุขที่เป็นเวทนา ก็ต้องอาศัยอารมณ์ ฌานสุขอาศัยเฉพาะธรรมารมณ์อย่างเดียว แต่กามสุขต้องอาศัยอารมณ์ทุกอย่าง เฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์ ๕ อย่างต้น ที่เรียกว่ากามคุณ ซึ่งเป็นอามิส

โลกิยปุถุชนดำเนินชีวิต โดยมุ่งแสวงหา จึงเท่ากับฝากความสุขความทุกข์ ฝากชีวิตของตนไว้กับอารมณ์เหล่านั้น คราวใดกามคุณารมณ์พรั่งพร้อมอำนวย ก็สนุกสนานร่าเริง คราวใด กามคุณารมณ์เหล่านั้นผันผวนปรวนแปรไป หรือขาดแคลน ไม่มีอารมณ์จะเสพเสวย ก็ซบเซาเศร้าสร้อยหงอยละเหี่ย

ต่างจากท่านผู้รู้จักความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไป เฉพาะอย่างยิ่งสุขที่ไม่อาศัยเวทนา ซึ่งไม่ฝากชีวิตไว้กับอารมณ์เหล่านั้น ถึงแม้กามคุณารมณ์จะเสื่อมสลายปรวนแปรไป ก็ยังคงเป็นสุขอยู่ได้ ดังพุทธพจน์ว่า

“เทพและมนุษย์ทั้งหลาย มีรูปเป็นที่ยินดี รื่นรมย์ด้วยรูป บันเทิงด้วยรูป...บันเทิงด้วยเสียง...บันเทิงด้วยกลิ่น...บันเทิงด้วยรส...บันเทิงด้วยสิ่งสัมผัสกาย...บันเทิงด้วยธรรมารมณ์;

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2021, 05:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


“เพราะรูป...เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ แปรปรวน เลือนหาย ดับสลายไป เทพและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นทุกข์;

“ส่วนตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ทราบตามความเป็นจริงแล้ว ซึ่งความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ไม่ได้ คุณ โทษ ของรูป...เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ พร้อมทั้งทางออก จึงไม่เป็นผู้มีรูปเป็นที่ยินดี ไม่รื่นรมย์อยู่ด้วยรูป ไม่บันเทิงอยู่ด้วยรูป ฯลฯ ธรรมารมณ์, เพราะรูป ฯลฯ ธรรมารมณ์ ปรวนแปร เลือนหาย ดับสลายไป ตถาคตก็อยู่เป็นสุขได้”

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะโลกิยปุถุชนมีประสบการณ์จำกัด คับแคบ รู้จักแต่เพียงกามสุขอย่างเดียว เวลาประสบสุขเวทนาสมปรารถนา ก็เสวยสุขเวทนานั้นอย่างถูกมัดตัว ลุ่มหลงมัวเมาหมกมุ่นในกามสุข และในกามคุณยิ่งขึ้น เวลาประสบทุขเวทนา ก็โศกเศร้าหงอยเหงาหรือทุรนทุราย แล้วก็หันมาฝันใฝ่ครุ่นคำนึงฝากความหวังไว้กับกามสุขต่อไปอีก เพราะโลกิยปุถุชนนั้น ไม่รู้ทางออกจากทุกขเวทนานอกเหนือไปจากกามสุข

ส่วน ผู้รู้จักสุขประณีตกว่าแล้ว เมื่อประสบสุขเวทนาจากกามคุณารมณ์ ก็เสวยสุขเวทนานั้นอย่างไม่ถูกมัดตัว ไม่ลุ่มหลงมัวเมาหมกมุ่นตกเป็นทาสของกามคุณนั้น ครั้นได้ประสบทุกขเวทนา ก็ไม่ซบเซาเศร้าทุรนทุราย และก็ไม่หันไปรอหากามสุข เพราะรู้จัก นิสสรณะ คือทางออก หรือภาวะรอดพ้นเป็นอิสระที่ดีกว่า ซึ่งไม่ต้องอาศัยกามสุข คือมีประสบการณ์เกี่ยวกับความสุขที่กว้างขวางกว่า มีปัญญารู้เท่าทันสุขทุกข์ตามความเป็นจริง และรู้จักสุขอย่างอื่นที่ดีกว่า ความสุขของท่านไม่ขึ้นต่อเวทนา ไม่จำเป็นต้องอาศัยการเสพอารมณ์เสมอไป

ความสุขที่ไม่เป็นเวทนา ไม่พึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออารมณ์นี้ เป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ เพราะไม่เคยประสบ ตัวอย่างที่จะเทียบก็ไม่มี แต่กระนั้นก็อาจพูดให้เห็นเค้าว่า ตามปกติ คนทั่วไปก็มีความสุขพื้นฐานอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากความสุขจากการเสพรสอารมณ์

ความสุขพื้นฐานที่ว่านี้ เป็นทั้งความสุขโดยตัวของมันเอง และเป็นฐานรองรับที่ช่วยให้ได้รับความสุขจากการเสพรสอารมณ์ต่างๆ ความสุขพื้นฐานนี้ ได้แก่ภาวะที่จิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบาน ไม่มีความมัวหมองวุ่นวาย หรือเรื่องติดค้างกังวลใจใดๆ จะเรียกว่าจิตว่าง หรือมีความสะอาดสว่างสงบ หรืออย่างไรก็ตามที ผู้ที่มีภาวะจิตเช่นนี้ ย่อมเรียกได้ว่าเป็นผู้มีความสุข นี้เป็นขั้นที่หนึ่ง

ขั้นต่อไป ผู้ที่มีภาวะจิตใจเช่นนี้ ถ้าจะไปเสพเสวยอารมณ์ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ตาม ก็จะได้รับความสุขจากการเสพเสวยอารมณ์นั้นๆ เต็มที่

เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดในทางตรงข้าม เช่น คนผู้หนึ่งกำลังจะรับประทานอาหาร ถ้าเวลานั้น จิตใจของเขาไม่ปลอดโปร่งผ่องใส มีเรื่องโศกเศร้า หรือขุ่นมัว หรือกำลังกลุ้มกังวลวุ่นวายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ว่าอาหารนั้นจะเป็นอย่างอร่อยที่เขาเคยชอบ แต่คราวนี้เขาอาจจะไม่รู้สึกอร่อยเลย อาจฝืนกิน หรือถึงกับกินไม่ลงก็ได้ แต่ถ้าจิตใจของเขาเบิกบานผ่องใส เขาจะรู้สึกรสอาหารเต็มที่ แม้บางทีอาหารไม่ดีนัก แต่เขาก็รับประทานได้อย่างอร่อย

ตัวอย่างเทียบในทางร่างกายก็มี นอกจากเรื่องร่างกายมีสุขภาพดีแข็งแรงอย่างที่กล่าวแล้ว พึงเห็นได้เช่น คนมีร่างกายเปรอะเปื้อนฝุ่นหรือสิ่งสกปรก ตัวเหนอะหนะด้วยเหงื่อ หรือเจ็บโน่นเจ็บนี่ยุบยิบไป เขาจะลงนั่งฟังเพลงก็ไม่สบาย หรือจะลงมือทำงานอะไรที่ละเอียด ก็ไม่ได้ผลดี แต่ถ้าเขาได้ชำระล้างร่างกายให้สะอาดปลอดโปร่งโล่งเบาแล้ว จะเสพเสวยอารมณ์ใด ก็ได้สุขเต็มที่ จะลงมือทำงานที่ต้องการความประณีตใดๆ ก็จะทำได้ดี

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2021, 06:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


เป็นอันว่า คนที่มีความสุขชั้นใน หรือความสุขพื้นฐานแล้ว ยังจะเสวยความสุขชั้นนอก หรือขั้นเสวยอารมณ์ได้ดีอีกด้วย นอกจากผลดีในด้านความสุขแล้ว ยังจะได้ประสิทธิภาพในการทำงานของจิตเพิ่มเข้ามาอีก

ส่วนผู้ที่ขาดความสุขชั้นในแล้ว ก็เสียผลทั้งสองขั้น คือ ทุกข์ทั้งข้างใน และข้างนอก ยิ่งกว่านั้นประสิทธิภาพในการทำงานของจิตก็เสียไปด้วย ความสุขพื้นฐานชั้นในนี้ ยังสามารถฝึกปรือให้บริสุทธิ์ เด่นชัด และประณีตลึกซึ้งขึ้นไปกว่าที่คนทั่วไปรู้สึกได้อีกมาก ความสุขเนื่องด้วยนิพพาน ก็พึงนึกพอเป็นเค้าอย่างนี้

สรุปว่า นิพพาน เป็นทั้งความสุขเอง และเป็นทั้งภาวะที่ทำให้พร้อมที่จะเสวยความสุข

เมื่อคนวางใจถูกต้องต่อกาม คลายความติดพันในกามคุณ ไม่เอาความสุขของตนไปฝากไว้กับกาม เลิกหมกมุ่นในกามสุขได้ เขาก็มีสิทธิหรือเป็นผู้พร้อมที่จะทำความรู้จักกับฌานสุขที่ประณีตลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป เมื่อเขาประสบฌานสุขแล้ว ถ้าเขายังต้องการเสพกามสุขอยู่ เขาก็จะเสพได้ตามปกติ และมีความละเมียดละไม แต่เขาจะไม่ทำความชั่วเพราะเห็นแก่กามสุข เพราะเขามองเห็นคุณค่าของฌานสุขสูงกว่า และฌานสุขนั้นต้องอิงอาศัยความดีงาม

เมื่อเขาได้รับฌานสุขแล้ว จิตของเขาจะดื่มด่ำน้อมดิ่งไปในอารมณ์ของฌานอันประณีต ซึ่งมีหลายขั้นตอน ลึกซึ้งกว่ากันขึ้นไปโดยลำดับ จนถึงขึ้นสูงสุด เป็นดังกลืนหายไปกับภาวะประณีตลึกซึ้งนั้น ภูมิขั้นแห่งการบรรลุเช่นนี้ นับว่าประเสริฐ สุดสูงสุดเลิศ ยากที่ใครๆ จะเข้าถึงได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ใดสามารถปล่อยวาง ละความติดใจพัวพันในภาวะเลิศล้ำดื่มด่ำน้อมดิ่งของฌานสมาบัติเหล่านี้ได้ คือถอนความติดในกามมาได้ขั้นหนึ่งแล้ว ยังถอนความติดในฌานสมาบัติได้อีก ไม่มีความเกี่ยวเกาะติดพันในสิ่งใดๆ เลย เขาก็จะถึงภาวะหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ นี้คือภาวะที่เรียกว่า “นิพพาน”

นิพพานเป็นภาวะที่ตรงข้ามกันหมด กับภาวะที่กล่าวมาก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นกาม หรือฌานสมาบัติก็ตาม เพราะในขณะที่ภาวะของกามและฌานสมาบัติ ยังเป็นภาวะแห่งการเข้าหา เข้าไปยึด เข้าไปรวม ต้องมีที่ฝากตัว ต้องมีที่ขึ้นต่อ แต่นิพพานเป็นภาวะหลุดออก ปลอดพ้น โปร่งโล่ง

แต่ทั้งที่เป็นภาวะตรงข้ามนี้แหละ ผู้ประจักษ์แจ้งนิพพานแล้ว กลับเป็นผู้มีสิทธิหรือเป็นผู้พร้อมที่จะเสวยความสุขชนิดก่อนๆ ทั้งหมด ทั้งกามสุขและฌานสุข และเสวยได้อย่างดีที่สุด โดยไม่มีพิษมีภัยอีกด้วย

การที่เขาเลิกละเมถุนสมาบัติ (การร่วมรักร่วมเพศ) ตลอดจนปล่อยทิ้งหรือตัดใจจากฌานสมาบัติทั้งหมดมาได้ กลับทำให้เขาสามารถเข้าถึงสมาบัติอื่นที่สูงยิ่งขึ้นไปกว่านั้นได้อีก

เป็นอันว่า ผู้ประจักษ์นิพพาน ได้ทั้งความสุขของนิพพานเอง และสามารถเสวยสุขอย่างก่อนๆ ที่ผ่านมาแล้วได้ทั้งหมด และได้รสแห่งการเสวยนั้นอย่างเต็มเปี่ยมที่สุดด้วย

ส่วนผู้ใดไม่ได้ผ่านฌานสมาบัติมาโดยตลอด แต่ได้บรรลุนิพพาน ผู้นั้นก็ขาดสิทธิที่จะเสวยสุขในฌานสมาบัติเหล่านั้นไปส่วนหนึ่ง แต่กระนั้น เขาก็ยังได้ประสบนิพพาน เสวยวิมุตติสุขที่ประเสริฐกว่า

สรุปว่า เมื่อเลิกติดกาม ก็มีสิทธิได้ฌานสุข เมื่อเลิกติดฌานสุข ก็มีสิทธิได้นิพพานสุข เมื่อได้นิพพานสุข ก็มีวิมุตติสุข คือสุขจากความพ้นเป็นอิสระ จึงปลอดโปร่งโล่งเบิกบานสดใส แล้วกลับได้สุขหมดทุกอย่าง

ย้ำว่า จะได้นิพพาน ต้องละได้หมดก่อน แม้กระทั่งฌานสมาบัติ ก็ไม่ติด จึงมีวิมุตติโล่งเป็นอิสระ เมื่อละได้หมดแล้ว (เป็นอิสระแล้ว ไม่ติดอยู่ในอะไรๆ แล้ว จะเอาอะไร) ก็ได้ทั้งหมด

ไม่มีความสุขใดยิ่งใหญ่กว่า เหนือกว่า ความสุขในความเป็นอิสระ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร