วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 17:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2021, 06:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ลุนิพพาน ถึงวิมุตติ สุขเต็มสุดแล้ว จะเลือกสุขอย่างไหนก็ได้ ทำไมมองลงมาไม่ถึงกามสุข

บางคนเป็นห่วงกามสุข กลัวว่าถ้านิพพานไปเสียแล้ว เขาจะไม่ได้เสวยกามสุข อาจบอกเขาได้ว่า อย่ากลัวเลย ถ้าท่านไปทางนิพพาน ท่านจะได้รู้จักความสุขมากอย่างยิ่งขึ้น มีความสุขที่ดีกว่า เยี่ยมกว่าอีกด้วย ท่านจะมีความสุขให้เลือกเสพได้มากขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้น ถ้าท่านยังอยากเสพกามสุข ท่านก็เสพได้ และจะเสพได้ดียิ่งกว่าเดี๋ยวนี้ เพราะจะไม่มีอะไรรบกวนให้เสียรสเลย

เมื่อว่าอย่างนี้ บางคนอาจค้านขึ้นโดยเป็นห่วงในทางตรงข้ามว่า จะให้คนบรรลุนิพพานแล้วเสพกามสุขได้อย่างไรกัน

พึงตอบว่า เรื่องอย่างนี้ไม่ต้องเป็นห่วง เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเป็นไปเอง ไม่ต้องไปกังวล คนที่ถึงนิพพานแล้ว เป็นผู้มีสิทธิ และเป็นผู้พร้อมดีที่สุด ที่จะเสวยความสุขได้ทุกอย่าง การที่เขาจะเสพความสุขอย่างใดหรือไม่เสพ ก็เป็นเรื่องสุดแต่ความพอใจของเขาเอง

แต่ทีนี้ ธรรมดาปรากฏเป็นของมันเองว่า ผู้ที่บรรลุนิพพานแล้วไม่เสพกามสุข ที่เขาไม่เสพ มิใช่เพราะเขาเสพไม่ได้ แต่เป็นเพราะเขาไม่นึกอยากจะเสพ คือกิเลสที่เป็นเหตุให้อยากเสพไม่มี เขาได้ประสบสิ่งอื่นที่ดีกว่า จนไม่เห็นกามคุณนั้นมีคุณค่าที่เขาจะเกี่ยวข้องเสพเสวยเสียแล้ว

เรื่องนี้ก็คล้ายกันกับความคิดที่ว่า พระอรหันต์บรรลุญาณทัสสนะ มองเห็นตามเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน คนเป็นเพียงส่วนประกอบต่างๆ มีธาตุ ๔ เป็นต้น มาประชุมกันเข้า ไม่มีนาย ก. นาง ข. เป็นต้น เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ก็คงฆ่าคนได้ไม่บาป แต่ความจริง เมื่อมองเห็นอนัตตาเช่นนั้น กิเลสคือโทสะที่จะเป็นเหตุให้ทำการฆ่า ก็หมดไปเสียแล้ว การฆ่าก็เลยไม่มีทางที่จะเกิดมีขึ้นมาได้

ความเป็นจริงในเรื่องนี้ปรากฏว่า ผู้ได้นิพพานสุขแล้ว จะเสวยความสุขลงมาถึงชั้นฌานสุข ดังที่กล่าวว่าใช้ฌาน ๔ เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร คือเป็นเครื่องพักผ่อนอยู่สบายในปัจจุบัน

เรื่องผู้บรรลุนิพพานไม่เสพโลกามิส ไม่แสวงกามสุขนี้ เปรียบอย่างหนึ่ง เหมือนคนเคยอยู่ในที่คุมขัง เขาได้อาศัยบางสิ่งบางอย่างในที่นั้น ช่วยทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน เสมือนกลบหรือทำให้ลืมความคับแคบอึดอัดไปได้บ้าง ต่อมา เมื่อมีโอกาสหลุดออกไปจากสถานที่นั้น บางคนอาจติดใจสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินจนไม่ยอมออกไป บางคนพะว้าพะวังลังเลอยู่ แต่คนที่ได้รู้จักอิสรภาพอย่างแท้จริงแล้ว จะค่อยๆ ตัดใจได้ และไม่ช้า ก็จะไม่ห่วงอาลัยที่คุมขังนั้นอีกต่อไป

ท่านที่แนะนำชักชวนทั้งหลาย เช่นพระพุทธเจ้า ได้เคยเริงรมย์ในกามสุขมาก่อนแล้ว และต่อมาได้รู้จักสุขที่ประณีตขึ้นไป ทั้งฌานสุข และนิพพานสุข เป็นอันว่าได้รู้จักความสุขทุกประเภท การที่มาแนะนำชักชวนนั้น ก็ย่อมเป็นไปด้วยความรู้จริง โดยได้ผ่านประสบการณ์จริง เป็นเครื่องยืนยันอย่างแน่นแฟ้นว่า สุขใดที่ท่านว่าดี หรือไม่ดี หรือว่าอย่างไหนดีกว่า ก็ควรจะเป็นเช่นนั้นจริง

เมื่อเปรียบเทียบกับสุขที่ประณีต โดยเฉพาะนิพพานสุข กามสุขมีส่วนเสียหรือข้อบกพร่องดังที่ควรกล่าวถึงนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว หรือที่ควรย้ำไว้อีก ดังนี้

๑. ทำให้ชีวิตขึ้นกับสิ่งภายนอก ไม่อิสระ ไม่เป็นตัวของตัวเอง แม้กระทั่งเป็นทาสของวัตถุ ซึ่งมักหลอกให้นึกว่าเราเป็นเจ้าของบังคับมันได้ แต่ยิ่งเข้ายึดถือครอบครองมันจริงจังมากเท่าใด เราก็ยิ่งหมดอำนาจในตัว ก็กลายเป็นทาสของมันมากขึ้นเท่านั้น

ความเป็นทาส หรือขึ้นต่อกามคุณนั้นเป็นไปทั้ง ๒ ขั้นตอน คือ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2021, 07:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ก่อนจะได้รับได้เสพ มันก็เป็นตัวบังคับและกำหนดทิศทางให้เราวิ่งแล่นไปทำการต่างๆ เพื่อหาเอาเวทนาที่ชอบมาเสพเสวย ถ้าเป็นไปอย่างรุนแรงก็คือ มีชีวิตอยู่เพื่อมันเท่านั้น

ครั้นได้รับเอามาเสพแล้ว มันก็ปรุงแต่งบังคับเราให้วุ่นไปตามมันอีก โดยให้เกิดตัณหา ตามด้วยรัก โกรธ เกลียด โลภ หลง แล้วแสดงอาการต่างๆ ออกมาตามอำนาจกิเลสเหล่านั้น เป็นไปตามกระบวนการที่ว่า ตัณหาปรุงให้หาเวทนา พอได้เวทนาแล้ว เวทนาก็ทำให้เราปรุงแต่งตัณหาอีก วนเวียนเรื่อยไป

แล้วลงท้าย ความเปลี่ยนแปลงผันผวนปรวนแปรไปของสิ่งเหล่านั้น ทั้งที่มันก็เป็นไปตามธรรมดาของธรรมชาตินั่นเอง ก็มีอิทธิพลบีบคั้นเข้ามาถึงชีวิตจิตใจของเรา ทำให้โศกเศร้าขุ่นหมองทุกข์ระทมคับแค้นไปตาม

ส่วนสุขที่ประณีตชั้นใน เป็นนิรามิส คือไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอก จึงเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง นอกจากนั้น ยังเป็นหลักประกันที่ช่วยรักษาไม่ให้ลุ่มหลงหมกมุ่นในกามสุข ช่วยคุ้มครองให้เกี่ยวข้องกับกามสุขในทางที่ไม่เกิดโทษพิษภัย และไม่ให้เกิดความทุกข์เพราะความบีบคั้นที่เกิดจากความผันผวนปรวนแปรของวัตถุ

๒. ในเมื่อกามสุขต้องอาศัยกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งอยู่ภายนอก คนที่อยู่ด้วยกามสุข จึงเท่ากับเอาความสุข รวมทั้งโชคชะตาของตนทั้งหมด ไปฝากไว้กับสิ่งอื่นที่อยู่ภายนอก และสิ่งภายนอกเหล่านั้น ก็ขึ้นต่อเหตุปัจจัยหลากหลายที่เป็นไปตามวิถีของมัน ซึ่งผู้แสวงกามสุขนั้นบังคับ ควบคุมไม่ได้ จึงเป็นธรรมดาที่ว่า ผู้ที่เอาความสุขของตนไปฝากไว้กับสิ่งอื่น ซึ่งไม่แน่นอนเช่นนั้น จะต้องเต็มไปด้วยโอกาสที่จะพบกับความผิดหวัง และความยุ่งยากวุ่นวายนานัปการ ยิ่งอยู่อย่างไม่รู้เท่าทันมากเท่าใด ก็ยิ่งประสบทุกข์ได้มากเท่านั้น

๓. ทำให้ชีวิตหมุนวนอยู่แค่กระบวนการรับรู้ คืออินทรีย์ หรืออายตนะ ที่ติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกอันนับได้ว่าเป็นกิจกรรมชั้นนอกของชีวิต และเป็นระดับที่ผิวเผิน นอกจากนั้น การหมุนเวียนวิ่งตามมันไปนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่ายไม่น้อย ส่วนสุขชั้นในอันประณีต ช่วยให้มนุษย์เป็นอิสระจากกระบวนการรับรู้นั้นได้บ้าง ทำให้รู้จักที่จะเป็นอยู่ได้โดยไม่ต้องขึ้นต่ออินทรีย์เหล่านั้นสิ้นเชิง ไม่ต้องอาศัยมันเกินสมควร อย่างน้อยก็ได้พักผ่อน และหันมาพบกับส่วนที่ลึกซึ้งลงไปอยู่ขั้นในของชีวิตบ้าง

๔. เพราะเป็นสุขที่ขึ้นต่อวัตถุภายนอก กามสุขจึงต้องอาศัยอารมณ์ที่จะเข้ามาป้อนให้แก่ตัณหา ผ่านทางอินทรีย์ต่างๆ ถ้าไม่มีอารมณ์ที่ต้องการป้อนเข้ามา ก็จะอยู่เป็นทุกข์ ส่วนสุขประณีตภายใน ไม่ต้องอาศัยอารมณ์ที่จะต้องถูกป้อนเข้ามา ผู้มีความสุขประเภทนี้ แม้จะขาดอารมณ์สนองอินทรีย์ ก็สามารถอยู่เป็นสุขได้

นอกจากนี้ เพราะเหตุที่กามสุขต้องขึ้นต่ออารมณ์จากภายนอกนี้เอง กามสุขจึงเป็นสุขชนิดที่อยู่กับตัวเองไม่ได้ ถ้าอยู่นิ่ง ก็จะกระสับกระส่าย ต้องร่านรนไปหาสิ่งที่จะเสพ ซึ่งว่าตามความเป็นจริงแล้ว อาการร่านรนกระสับกระส่ายเช่นนั้น ล้วนเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น แต่คนที่ร่านรนนั้น มักจะพยายามหลอกตัวเองให้มองข้ามหรือไม่มองเสีย โดยมองแต่ส่วนที่ตนประสบได้เสพสม

ยิ่งกว่านั้น ครั้นได้เสพอารมณ์นั้นสมปรารถนา แม้จะเป็นอารมณ์ที่ชอบใจถูกใจ ผู้เสพก็ไม่สามารถเสวยอารมณ์นั้นอยู่ได้นาน ถ้าเสพอยู่นาน ก็จะกลายเป็นทนเสพ แล้วที่สุขก็จะกลายเป็นทุกข์ สุขจากกามจึงอาศัยการเปลี่ยนอารมณ์อยู่เรื่อยๆ และท่านจึงแสดงหลักไว้ว่า อิริยาบถบังทุกข์ ส่วนผู้รู้จักสุขลึกซึ้งด้านในแล้ว ย่อมไม่ถูกทรมานด้วยความร่านรนกระสับกระส่าย สามารถเสวยสุขอยู่ในอาการอย่างใดอย่างหนึ่งได้นานๆ ตามใจปรารถนา เช่น กรณีของพระพุทธเจ้า กับพระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2021, 07:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


๕. กามสุข เป็นสุขที่ถูกตัณหาปรุงแต่ง อยู่ใต้อิทธิพลของตัณหา คือเนื่องด้วยความชอบใจ-ไม่ชอบใจ ที่สั่งสมเป็นความเคยชินไว้ ดังนั้น ผลจะปรากฏว่า อาการและลักษณะที่ชอบใจและไม่ชอบใจนั้น ผันแปรไม่แน่นอน ของอย่างเดียวกัน การแสดงออกกิริยาท่าทางรูปลักษณะเดียวกัน คนหนึ่งชอบ คนหนึ่งไม่ชอบ คนหนึ่งเห็นเป็นสุข (ได้สุขเวทนา) อีกคนหนึ่งเห็นเป็นทุกข์ (เกิดทุกขเวทนา)

แม้แต่บุคคลเดียวกัน คราวหนึ่งเห็นหรือได้ยินแล้ว พอใจ อีกคราวหนึ่งเห็นหรือได้ยินแล้ว ขัดใจ หรือในกรณีที่ต่างบุคคลรับรู้อารมณ์เดียวกันแล้ว ต่างก็ชอบใจ ก็อาจกลายเป็นเหตุให้ต่างบุคคลนั้นเอง กลับขัดใจซึ่งกันและกัน เพราะต่างก็ปรารถนาสิ่งเดียวกัน ภาวะเช่นนี้นำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น ความขัดแย้งภายในจิตใจบุคคล ความกระทบกระทั่งระหว่างบุคคล เป็นต้น เป็นต้นตอของความยุ่งยากเดือดร้อนวุ่นวายเป็นอันมาก ซึ่งทุกคนพอจะคาดคิดเห็นได้

โดยนัยนี้ กามสุขหรืออามิสสุขนี้ จึงตรงข้ามกับความสุขด้านใน ไร้อามิส ซึ่งเกิดแก่ใครเมื่อใด ก็มีแต่เป็นคุณ ให้ความสบาย เป็นที่พอใจแก่ผู้นั้นทันที และเกื้อกูลแก่ผู้อื่นทุกคนที่เกี่ยวข้อง ยิ่งเป็นสุขกันได้มากคนออกไปก็ยิ่งดี มีแต่ส่งเสริมกันให้เป็นสุขยิ่งขึ้น เพราะไม่มีอะไรที่จะต้องแก่งแย่งช่วงชิงกัน ต่างก็สุขเหมือนกัน จึงมีแต่จะนำไปสู่การระงับปัญหาและความสงบสุข

๖. โดยเหตุที่กามสุขเกิดจากการสนองระงับตัณหา ถ้าตัณหาเกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้รับการสนอง ตัณหานั้นไม่ระงับไป ปมปัญหาก็เกิดขึ้นทันที ปมปัญหาหรือภาวะติดขัดบีบคั้นนั้น ท่านเรียกว่า “ทุกข์

พอทุกข์เกิดขึ้น ผลเสียก็ตามมา ผลเสียนี้ ถ้าไม่ขังอยู่ภายใน ก็ต้องหาทางระบายออกข้างนอก หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง

ผลเสียที่ขังอยู่ข้างใน ได้แก่อาการกลัดกลุ้มกระวนกระวายคับแค้นเศร้าหมองและทุกข์ใจต่างๆ รวมเรียกว่า ความหลงใหลฟั่นเฟือน

ผลเสียที่หาทางออกข้างนอก อาจระบายทางเบา เช่น เที่ยวขอคำแนะนำความช่วยเหลือในรูปต่างๆ อาจเป็นความช่วยเหลือแนะนำทางปัญญาและคุณธรรม หรืออาจไปแสวงหาความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อำนาจลึกลับดลบันดาลต่างๆ บ้างก็พยายามกลบเกลื่อนทุกข์ ด้วยกามสุขชนิดที่หยาบและร้อนแรงยิ่งๆ ขึ้นไป หรืออาจระบายออกทางรุนแรงต่อผู้อื่น เช่น ก่อเหตุขัดแย้งรุกรานผู้อื่น หรือทำการในทางทำลายไปรอบตัว เท่าที่ตนจะเกี่ยวข้องไปถึง เกิดพฤติกรรมที่เป็นภัยมากมาย หรือไม่ก็หันกลับเข้ามาเกลียดชังตัวเอง ทำการเข้มงวดบีบรัดต่างๆ แม้กระทั่งทำลายตนเอง

ในเรื่องนี้ มีพุทธพจน์ที่พึงสังเกตแห่งหนึ่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เหตุก่อกำเนิดแห่งทุกข์เป็นไฉน? ตัณหาเป็นเหตุก่อกำเนิด (นิทานสมภพ) แห่งทุกข์...

“วิบากแห่งทุกข์เป็นไฉน?...เรากล่าวว่า ทุกข์มีความหลงฟั่นเฟือน เป็นวิบาก หรือมีการหาทางปลดเปลี้องภายนอก เป็นวิบาก”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2021, 09:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


การหาความสุขแบบสนองตัณหานี้ ก่อปัญหาได้ทุกขั้นตอน ไม่เฉพาะในขั้นถูกขัดให้ไม่ได้รับการสนองเท่านั้น แม้ในขั้นแสวงหาสิ่งเสพต่างๆ มาสนองตัณหาก็ดี ในขั้นที่หามาได้และเสพสนองตัณหาแล้วก็ดี ปัญหาก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น กล่าวคือ ในขั้นแสวงหา ก็อาจใช้วิธีการเบียดเบียน เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เมื่อได้มาเสพสนองแล้ว ก็อาจหลงใหลมัวเมาทะยานอยากมากและรุนแรงยิ่งๆ ขึ้น ทำให้เกิดปัญหาในแง่อื่นๆ ต่อไปอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ปุถุชน ชั้นดี จึงต้องใช้สติปัญญา นำเอาคุณธรรมเข้ามาควบคุมพฤติกรรมของตน บรรเทาพิษภัยของตัณหาลงบ้าง

แต่วิธีคุมที่ช่วยให้ปลอดภัยได้มาก คือ การให้คนผู้เสพกามสุขเหล่านี้ มีความสุขฝ่ายนิรามิสเป็นทางออก (นิสสรณะ) อยู่บ้าง

ทางออกหรือนิสสรณะนี้ จะช่วยผ่อนพฤติกรรมที่สืบเนื่องจากตัณหาให้ประณีต หรืออยู่ในขอบเขตที่ดีงามได้อย่างมาก เพราะสุขฝ่ายที่ไม่ขึ้นต่ออามิสนี้ อยู่ด้านตรงข้ามกับตัณหา ปรากฏตัวขึ้นในเวลาสร่างตัณหา มีอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยตัณหา ใครเข้ามาอยู่กับความสุขชนิดนี้ ก็ย่อมพ้นจากพิษภัยที่จะเกิดจากตัณหาของตนไปได้ทันที

เพราะกามสุขมีส่วนเสีย อาจก่อโทษได้มากอย่างนี้ และมนุษย์ทั้งหลายก็ชอบหรือฝักใฝ่กามสุขกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปกระตุ้นเข้าอีก ดังนั้น ท่านจึงไม่สนับสนุนให้มุ่งหากามสุข ไม่ให้เอากามสุขเป็นจุดหมายของชีวิต

การทำบุญหรือทำความดีในทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น ทาน ศีล หรือภาวนา ก็ตาม ว่าตามหลักแท้แล้ว ท่านไม่สอนให้มุ่งหาผลตอบแทนเป็นกามสุข เช่น โชคลาภ ยศ เกียรติ อำนาจ บริวาร การไปเกิดในสวรรค์เป็นต้น แต่ท่านสนับสนุนให้ทำเพื่อพัฒนาชีวิต ก้าวสูงขึ้นไปในความสุขที่แท้จริงยั่งยืน ที่ทำให้ลดกิเลส ห่างไกลความชั่วร้าย ทำลายความสั่งสมก่อตัวของตัณหาเชื้อทุกข์ ทำให้ผู้ทำความดีนั้นประสบสุขประณีตที่ลึกซึ้งภายใน ซึ่งจะนำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้ทั้งแก่ตนและผู้อื่น เกื้อกูลทั้งแก่ชีวิตของตนและแก่สังคม โดยมีนิพพานสุขเป็นจุดหมายสุดท้าย

ดังความในบาลีแห่งหนึ่งว่า

“บัณฑิตย่อมไม่ให้ทาน เพราะเห็นแก่ความสุขกลั้วกิเลส (อุปธิสุข คือสุขที่เป็นเหตุก่อทุกข์ได้อีก มุ่งเอากามสุขเป็นสำคัญ) เพื่อจะมีภพต่อไปอีก แต่บัณฑิตย่อมให้ทาน เพื่อหมดสิ้นกิเลส เพื่อไม่มีภพต่อไปอีกโดยแท้

“บัณฑิตย่อมไม่บำเพ็ญฌาน เพราะเห็นแก่ความสุขกลั้วกิเลส เพื่อจะมีภพต่อไปอีก แต่บัณฑิตย่อมบำเพ็ญฌานเพื่อความหมดสิ้นกิเลส เพื่อไม่มีภพต่อไปอีกโดยแท้

“บัณฑิตมุ่งภาวะเย็นใจ (คือนิพพาน) มีจิตโน้มไปทางนั้น น้อมใจไปในภาวะนั้น จึงให้ทาน บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมมีนิพพานเป็นที่หมาย เสมือนธารนทีไหลเรื่อยสู่กลางสาคร”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร