วันเวลาปัจจุบัน 23 ก.ค. 2025, 21:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 พ.ย. 2009, 21:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

ศีลธรรมมีคุณค่ามากกว่าเงินทอง

ปัญหาสังคมในทุกวันนี้ ทับทวีเพิ่มพูนรุมเร้าขึ้นอย่างน่าวิตกเพราะคนในชาติขาดศีล สิ้นธรรม ก่อกรรมชั่ว ปล่อยตัวเหลวไหลไม่เชื่อผู้หวังดี ฆ่ากันตายเหมือนผักปลา ไม่เว้นแม้แต่ผู้บังเกิดเกล้า คนโกงทุกอย่อมหญ้า ชิงรักหักสวาทกันดาษดื่น หลอกลวง ชิงเอารัดเอาเปรียบกันเป็นว่าเล่น ทำลายสติให้แตกด้วยยาเสพย์ติด ฆ่าตัวเองให้ตายแบบผ่อนส่ง โดยไม่หวั่นเกรง มีคดีขึ้นโรงพักทุกชั่วโมงทุกวัน มีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลวันละมากมาย ถูกลงโทษทัณฑ์ขังในเรือนจำแออัดเป็นปลากระป๋อง งบประมาณของรัฐบาล ตั้งไว้เพื่อการปราบปราม พิจารณาคดีลงโทษและควบคุมดูแลคนชั่ว ปีละร่วมแสนล้านบาท

การแก้ไขปัญหาของทางราชการ เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้ น่าจะพิจารณาแก้ไขปรับเปลี่ยนวิธีการเสียใหม่

การป้องกันฆาตกรรม โจรกรรม ทารุณกรรมทางเพศ การใส่ร้ายป้ายสีและการฆ่าตัวตายผ่อนส่ง ด้วยตัวบทกฎหมายของรัฐนั้น เหมือนการไสช้างไล่จับตั๊กแตน จะป้องกันคนชั่วได้สักกี่มากน้อยคงไม่มีทางป้องกันและปราบปรามคนชั่วได้

ถ้าผู้รับผิดชอบในบ้านเมืองปล่อยปละไม่คิดแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคนในสังคมก็จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสังคมที่เลวร้ายอย่างนี้ตลอดไป

อะไร คือ ต้นเหตุ ของปัญหาสังคม
คนที่เป็นมิจฉาทิฐิ เห็นผิดทำนองคลองธรรมนี่เอง เป็นต้นเหตุของปัญหาสังคม
อย่างไร ชื่อว่ามิจฉาทิฐิ เห็นผิดทำนองคลองธรรม
คือ เห็นผิดเหตุผลขัดแย้งกฎแห่งกรรม เช่น เห็นชั่วเป็นดี เห็นดีเป็นชั่ว เห็นว่าทำดีได้ชั่ว เห็นว่าทำชั่วได้ดี เห็นศีลธรรมเป็นของไม่มีคุณค่า เห็นว่าความประพฤติชั่วช้า เป็นสิ่งที่มีคุณควรทำ
คนจำนวนมาก มีความเห็นผิดอย่างนี้ จึงมุ่งหมายประพฤติตัวตามความเห็นผิด คือทำชั่วละเมิดศีลธรรม

ศีลธรรม หมายถึงอะไร
คำว่า ศีลธรรม ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ท่านแปลไว้ว่า ความประพฤติที่ดีที่ชอบ
ความประพฤติที่ดีที่ชอบ คืออะไร คือการเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งเรียกว่าศีล ๕ และทำความดีเพิ่มพูน ต่อจากศีล ๕ ซึ่งเรียกว่าเบญจธรรม ธรรม ๕

ศีลธรรม ก็คือศีล ๕ ธรรม ๕ ซึ่งมีความหมายรวม ๆ ว่า ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น
ศีล ๕ เป็นเครื่องกั้นมิให้เกิดความชั่วเวรภัย ๕ อย่าง ความชั่วร้ายเวรภัย ๕ นั้น ก็คือ การเข่นฆ่าประทุษร้ายร่างกายและชีวิตของตนและผู้อื่น ๆ การฉ้อโกงลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่นและของชาติ ๑ การแย่งชิงรักละเมิดบุคคลที่ต้องห้ามหรือบ้ากาม ๑ การโป้ปดหลอกลวง หรือใส่ความผู้อื่น ๑ การเสพยาเสพย์ติดทำลายสติให้แตกฆ่าตัวตายผ่อนส่ง ๑ ความชั่วทั้ง ๕ ข้อนี้ เรียกว่าเวร เพราะเป็นความชั่ว ซึ่งทำแล้ว ก่อให้เกิดวิบาก คือผู้ทำนั้นประสบความเดือดร้อนสะท้อน คืนสู่ตัวเอง คล้ายกับที่ทำต่อผู้อื่น อุปมาเหมือนสาดผงธุลีใส่คนที่ยืนอยู่เหนือลม ผงธุลีนั้น ก็กลับมาเข้าหน้าเข้าตนตนเองเดือดร้อน

ความชั่วนั้น เรียกว่าภัย เพราะเป็นที่หวาดกลัว ทั้งแก่ตัวผู้ทำและผู้ถูกทำ ไม่ว่ามนุษย์ไม่ว่าสัตว์ ล้วนรักตัว กลัวตาย กลัวทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ผู้ที่ทำเวรภัยแก่ผู้อื่น ย่อมชื่อว่าเป็นภัยต่อสังคมเพราะทำให้สังคมวุ่นวาย ระส่ำระสาย เดือดร้อน ผิดปรกติ เวรภัยทั้ง ๕ อย่างนั้น ชื่อว่าบาป ความชั่ว เพราะผู้ทำด้วยโลภะ ความโลภ ด้วยโทสะความโกรธ และด้วยโมหะความหลง

บาป เวร ภัย เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะทำให้สัตว์ต่าง ๆ เดือดร้อน ทรงแสดงผลร้ายของการก่อเวรภัยหรือบาปอกุศลไว้ว่ามี ๕ ประการ ได้แก่
๑. ย่อมเสื่อมจากโภคทรัพย์ เพราะความประมาทเป็นเหตุ
๒. เสียเกียรติ เสียชื่อเสียง น่าอับอาย
๓. เข้าไปสู่บริษัทใด ๆ ย่อมเก้อเขิน หวาดหวั่นเหมือนวัวสันหลังหวะ
๔. หลงตาย คือตายโดยไม่สามารถระลึกถึงกุศลกรรมใด ๆ ตายไปอย่าง ไร้สติ
๕. ตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เดือดร้อนในโลกหน้า
(มหานิทานสูตร ที.ม. ๑๐/๗๙/๑๐๑)


:b8: :b8: :b8:

(มีต่อครับ)

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 พ.ย. 2009, 21:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

(ต่อครับ)

พระพุทธเจ้าทรงแสดงผลร้าย หรือโทษของการประพฤติผิดศีลธรรมไว้อย่างนี้แล้ว ก็ทรงสอนให้ละเว้นเสีย และทรงสอนให้สั่งสมธรรมความดีเพิ่มพูนขึ้นในระดับศีล ๕ นั้น เรียกว่า เบญจธรรม คือ ความดี ๕ ประการ ได้แก่
๑. เมตตากรุณา รักตนเองและผู้อื่น ช่วยตนและผู้อื่น
๒. สัมมาอาชีพ ทำมาหากินในทางสุจริต
๓. กามสังวร ระวังสำรวมความใคร่ไม่ให้ทำผิดประเพณีชาวพุทธ
๔. สัจจะ รักษาความจริงให้เกิดประโยชน์ไม่มีโทษ
๕. สติ สัมปชัญญะ ระลึกรู้ สติไม่แตก ไม่ลืมความเป็นคน

ศีล ๕ ธรรม ๕ นี้ เป็นศีลธรรมครบสูตร ควรที่จะประพฤติปฏิบัติให้พร้อมสรรพ เพราะมีผลดี มีอานิสงส์เด่น ทำความสุขให้มีอุดม ช่วยให้สังคมมีสันติภาพได้ ทำให้ชาติร่ำรวยดี เพราะไม่มีคนชั่วช่วยเผาผลาญ เพราะไม่มีคนพาลทำให้เกิดหนี้สิน เพราะไม่มีพวกโกงกินให้ทรัพย์สินสูญ เพราะไม่เพิ่มพูนคนสติแตก รัฐไม่ต้องแบกภาระงบประมาณปราบปราม งบประมาณพิจารณาคดีความก็ลดลง งบประมาณสร้างเรือนจำขยายราชทัณฑ์ไม่มี ทรัพยากรธรรมชาติไม่ถูกทำลาย ทรัพยากรมนุษย์ไม่ถูกทำให้ไร้ค่า ปัญญาฝ่อ คุณค่าของมนุษย์เพิ่มพูนเป็นศักดิ์ศรี สามัคคีในหมู่ประชาชนเป็นปึกแผ่น รวมความว่าแสนดี แต่ว่าคนที่เป็นมิจฉาทิฐิไม่เห็นดีด้วย แย้งว่า ศาสนาพุทธสอนให้โง่เขลาให้ยากจนล้าหลัง

คนมิจฉาทิฐิ อยากมั่งคั่งมีเงินมาก แต่ไม่อยากรักษาศีลธรรม เพราะไม่เชื่อพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนเรื่องกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

คนมิจฉาทิฐินั้น ถือว่าจะต้องหาเงินให้ได้มาก ๆ ไม่ยึดถือคุณธรรมศีลธรรม ไม่เห็นใจใคร มือใครยาวสาวได้สาวเอา เอาเปรียบคนอื่นได้ เห็นว่าฉลาดนัก เห็นเงินเป็นพระเจ้า เห็นเหล้าเป็นพระพรหม เห็นใครชื่นชมนิยมยินดี คนเช่นนี้มีมากเหมือนยุงร้าย

เพราะฉะนั้น ควรจะได้ให้การศึกษาอบรมคนในชาติ ให้สละละทิ้งมิจฉาทิฐิให้จงได้ จึงจะได้ชื่อว่า แก้ที่ต้นเหตุของปัญหา และจะสามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้จริง

การที่คนส่วนใหญ่ไม่พยายามอบรมจิต ให้เกิดสัมมาทิฐิเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม ก็เพราะถูกอำนาจโลภโกรธหลงปิดบัง โทษของโลภโกรธหลง ร้ายแรงนัก เกินที่ปุถุชนผู้มิได้อบรมจิตจะเข้าใจได้ พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของโลภโกรธหลงไว้ ๕ ประการ คือ
๑. ก่อให้เกิดความฉิบหายมิใช่ประโยชน์
๒. ก่อให้เกิดจิตกำเริบถึงความพิการ
๓. ทำให้เกิดภัยอันตราย
๔. ทำให้ไม่รู้ประโยชน์เกื้อกูล ไม่เห็นธรรม
๕. ทำให้มืดมนธการ
(มลสูตร ขุ.อิติ. ๒๕/๒๖๘/๒๙๕)

คนส่วนใหญ่ที่ประพฤติผิดศีลธรรมทุกวันนี้ เพราะหลงโลภอยากได้ทรัพย์สินโดยทางทุจริต เช่น ฆ่ากันก็เพราะโลภ อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง
คดโกงคอรับชั่น ก็เพราะโลภ อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง
แย่งชิงอำนาจกัน ก็เพราะโลภ อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง
ญาติพี่น้องโกรธกัน ก็เพราะโลภ อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง
แม้แต่นักการเมืองเป็นศัตรูกันก็เพราะโลภ อยากได้ทรัพย์สินเงินทองและความเป็นใหญ่
คนมีเงินกลายเป็นคนจน ก็เพราะโลภ อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง โลภมาก ลาภหาย
เศรษฐกิจของชาติถดถอยตกต่ำ ก็เพราะโลภ อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง ไม่รู้จักพอ กู้ยืมเขาเป็นหนี้ไม่มีโอกาสใช้

สรุปว่า เห็นเงินทองดีกว่าความเป็นมนุษย์ เห็นความเป็นมนุษย์มีคุณค่าต่ำกว่าเงินทอง
ความเป็นมนุษย์นั้น ขึ้นอยู่กับศีลธรรม หรือมนุษยธรรมดังที่พุทธาทิบัณฑิต กล่าวสอนว่า
อาหารนิททาภะยะเมถุนัญจ
สามัญญเมตัปปะสุภีนะรานัง
ธัมโม หิ เตสัง อธิโก วิเสโส
ธัมเมน หีนา ปสุภีสมานา
การกินอาหาร ๑ การนอนหลับ ๑ การกลัว ๑ การสืบพันธุ์ ๑ สัตว์และคน มี ๔ อย่างนี้เสมอเหมือนกัน ส่วนธรรมดาความดีทำให้คนวิเศษดียิ่งกว่าสัตว์ คนที่เสื่อมจากธรรม ย่อมเสมอเหมือนสัตว์ (หิโตปเทส บทนำข้อ ๒๕)

คำว่า ธรรม ความดี ในศาสนาภาษิตนี้ หมายถึง มนุษยธรรม ซึ่งได้แก่ เบญจศีล เบญจธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง ได้แก่ เมตตาความรักคนและรักผู้อื่น ไม่ยอมทำให้ตนและผู้อื่นเดือดร้อน ด้วยการทำความชั่ว

ควรทำให้ทุกคนเข้าใจในเหตุผล ดังต่อไปนี้
ความเป็นมนุษย์ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๒ ส่วน คือ รูปร่างกายเสมอเหมือนมนุษย์ทั่วไป ๑ มนุษยธรรม ศีลธรรม ประจำใจ ๑ รวมกันจึงเป็นมนุษย์สมบูรณ์
คนส่วนมาก ไม่เห็นความจำเป็นต้องมีศีลธรรม มนุษยธรรมเห็นเฉพาะรูปร่างกายเท่านั้นว่ามีความสำคัญ เพราะฉะนั้น คนจึงเป็นมนุษย์ได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เรียกได้ว่า เป็นคนครึ่งคนครึ่งสัตว์ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นผู้ที่ตายไปแล้วครึ่งหนึ่ง เรียกว่า ครึ่งสัตว์ครึ่งสัตว์ หรือครึ่งผีครึ่งคน (อัง.ติก. ๒๐/๓๗๗)

ทั้งนี้ ก็เพราะเห็นศีลธรรมไม่มีคุณค่า แต่เห็นเงินตรา ดีกว่าความเป็นมนุษย์ ไม่หยุดการกระทำชั่ว ทำตัวให้เหม็นก่อนตาย
ความจริง ศีลธรรม มีคุณค่าเหนือกว่าเงินทอง ขาดศีลธรรมไป คือเสียความเป็นคน ตายทั้งเป็น ไม่พิจารณากันบ้างหรือท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ที่ว่าเสียความเป็นคน เสียอย่างไร คือ
เป็นคนดีอยู่ กลายเป็น คนชั่วถูกประณามหยามหมิ่น
เป็นคนปรกติดี กลายเป็น คนวิปริตผิดเพี้ยนไป
เป็นพลเมืองดี กลายเป็น ฆาตกร อาชญากรนักโทษ
เป็นคนนอนหลับสบาย กลายเป็น คนหวาดระแวงนอนไม่หลับ
เป็นมนุษย์ที่น่านับถือ กลายเป็น ผีดิบเดินได้ตายทั้งเป็นน่าชิงชัง

อยู่ในบ้านหลังเล็กนอนสบาย ไปอยู่ตึกหลังใหญ่สิ้นความสุข เพราะไปนอนกันนักโทษร้าย ๆ ไม่เสียคน ก็ต้องเสียกันคราวนี้ นึกว่า ๒-๓ ปีจะออกมาสบาย กลับถ่ายเลือดชั่วเข้าไปมากขึ้น เสียคนหนักเข้าไปอีก

ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย เมื่อท่านเป็นคนบ้าเสียแล้ว คือ ไม่มีสติ ระลึกไม่ได้ว่า เราเป็นคนดีเพราะมีศีลธรรม ระลึกไม่ได้ว่าเราเป็นลูกของพ่อแม่ ที่จะต้องเทิดทูนพระคุณของท่านไปเสพยาเสพย์ติดจนประสาทเสียเป็นบ้าไป ไม่รู้คุณค่าของทรัพย์สินสมบัติที่มีคุณค่าสูงสุดคือคุณธรรม พระบรมศาสดา บิดามารดา และอาจารย์ผู้หวังดี ชื่อว่าความเป็นคนเสียไปแล้ว ไม่มีอะไรเป็นสรณะที่เหนี่ยวรั้งจิตใจ เรียกภาษาชาวบ้านว่า บ้า เพราะจิตใจวิปริต ผิดมนุษย์แล้ว เมื่อบ้าเสียแล้ว เงินทองกองเท่าภูเขาเลากา ก็ไม่มีประโยชน์เลย

เคยเห็นไหม คนบ้าเอาสมบัติเงินทองแก้วแหวนไปโยนทิ้งน้ำบ้าง เผาไฟบ้าง วางทิ้งตามถนนหนทางบ้าง

ผ้านุ่งผ้าห่ม หลุดลุ่ย กระจุย กระจาย ประเจ้อ แม้แต่กายที่เคยรักษาความสะอาด ก็ปล่อยปละให้สกปรกเหม็นเหมือนสัตว์ทั่วไป เห็นตามถนนหนทางบ่อย ๆ ขอให้ลองไปถามหน่อยซิว่าคุณอยากได้เงิน ๑๐ ล้าน ๑๐๐ ล้านไหม
คำตอบที่จะได้ ก็คือ ไม่อยาก
สิ่งที่คนบ้าอยากจะได้ ก็ถือความเป็นคนเท่านั้น เพราะความเป็นคนนั้น มีศักดิ์ศรีสูงส่งน่าถนอมรักษา ยิ่งกว่าเงินทองของนอกกาย
แต่ถ้าบ้าแล้ว ก็มักจะบ้าเลย กลับคืนสู่ความเป็นผู้เป็นคนปรกติไม่ได้อีกแล้ว เช่นคนติดยาบ้าประสาทเสียจนบ้าคลั่งไปแล้ว ขนเงินทองกองเป็นภูเขาไปซื้อความเป็นคนคืน ก็ไม่สำเร็จ
นี่แหละ ศีลธรรม มีคุณค่ากว่าเงินทอง
เพราะฉะนั้น อย่าเห็นเงินทอง ดีกว่าศีลธรรมเลย
ศีลธรรมล้ำค่ากว่าทรัพย์สิน
ขืนดูหมิ่นศีลธรรมกรรมสนอง
ชั่วว่าดีผีป่ามาเข้าครอง
สติแตกแล้วต้องเศร้าหมองตาย
แทนที่จะรวยมากกลับยากไร้
เพราะจิตใจมิจฉาพาฉิบหาย
ไม่ถนอมความเป็นคนวนวอดวาย
ตกสู่เหว เลวร้าย ตายทั้งเป็น.

กาลามสูตรหลักความเชื่อในพุทธศาสนา
ในอินเดียสมัยต้นพุทธกาล มีคณาจารย์ผู้สอนศาสนามากมายหลายคนในหลายลัทธิ คณาจารย์แต่ละคนนั้นย่อมกล่าวโฆษณาชวนเชื่อว่า ลัทธิสั่งสอนของตนเท่านั้น มีสาระ ถูกต้องจริง ในขณะเดียวกันก็กล่าวทับถมลัทธิศาสนาอื่นว่า ไม่มีสาระ ไม่ถูกต้อง ชาวบ้าน ชาวเมืองทั่วไป ฟังแล้วงวยงงสงสัยว่า คำสั่งสอนของเจ้าลัทธิใด มีสาระ มีความถูกต้องกันแน่ วันหนึ่ง ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่เกสปุตตนิคม แคล้วนโกศล จึงเข้าไปทูลถามความข้อนั้น

พระพุทธองค์ไม่ทรงอวดอ้างว่า คำสั่งสอนของพระองค์มีสาระถูกต้องดีที่สุด
กลับตรัสให้ใช้เหตุผลพิจารณา อย่าเป็นคนเชื่อง่าย (หูเบา) โดยทรงเตือนไม่ให้เชื่อ ๑๐ ข้อ ตามพระพุทธดำรัสว่า “กาลามชนทั้งหลาย เป็นการสมควรที่ท่านทั้งหลาย จะเคลือบแคลง สม
ควรที่จะสงสัย ความเคลือบแคลงสังสัยของพวกท่านเกิดขึ้นในฐานะ (มีมูล) กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย
๑. อย่าปลงใจเชื่อทันที โดยการฟัง(เรียน) ตามกัน
๒. อย่าปลงใจเชื่อทันที โดยการถือสืบ ๆ กันมา
๓. อย่าปลงใจเชื่อทันที ตามข่าวลือ
๔. อย่าปลงใจเชื่อทันที โดยการอ้างตำรา (พระเวท)
๕. อย่าปลงใจเชื่อทันที โดยการเดาเอาเอง
๖. อย่าปลงใจเชื่อทันที โดยการอนุมาน (คาดคะเน)
๗. อย่าปลงใจเชื่อทันที โดยการตรึกตามอาการ
๘. อย่าปลงใจเชื่อทันที โดยพอใจว่า ชอบความเห็นของตน
๙. อย่าปลงใจเชื่อทันที เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลน่าเชื่อถือได้
๑๐. อย่าปลงใจเชื่อทันที เพราะนับถือว่าเป็นสมณะนี้เป็นครูของเรา”
(อัง.ติก. ๒๐/๒๔๓)

แต่ละข้อ เป็นข้อมูลพิจารณา เราต้องนำมาพิจารณาด้วยไม่ใช่ปฏิเสธไม่รับฟังเสียงเลย แต่ก่อนที่จะปลงใจเชื่อ ทรงสอนให้พิจารณาพิสูจน์ให้แน่แท้ด้วยเหตุผล แล้วรู้ได้ด้วยตนเอง โดยตรัสว่า“เมื่อใด ท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้เป็นโทษ ธรรมเหล่านี้ อันวิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครยึดถือปฏิบัติถึงที่แล้ว จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายพึงละเสีย ฯลฯ เมื่อใด ท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ อันวิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ อันใครปฏิบัติถึงที่แล้ว จะเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายพึงถือปฏิบัติ บำเพ็ญ”

พระดำรัสของพระพุทธเจ้าดังกล่าว แสดงหลักการที่ควรยึดถือคือตัวเอง ซึ่งได้ใช้ปัญญาหาเหตุผล รอบคอบ พิสูจน์แล้วไม่ปฏิเสธอะไรง่าย ๆ ด้วยเหตุสักว่าตนเองไม่ชอบ ฯลฯ
คำว่า ธรรมทั้งหลาย หมายถึง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
พระพุทธองค์ทรงแสดงให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า ความดี อันบุคคลพึงปฏิบัตินั้น ว่า มีความหมาย ดังนี้
๑. กรรมที่เป็นกุศล คือเกิดมาจากความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
๒. ทำไปแล้วไม่เกิดโทษ (ทั้งแก่ตนและผู้อื่น)
๓. ท่านผู้เป็นบัณฑิต หรือวิญญูชนสรรเสริญ
๔. ปฏิบัติถึงที่แล้ว เป็นประโยชน์เกื้อกูล
๕. ปฏิบัติถึงที่แล้ว ก่อให้เกิดความสุข

ส่วนที่เรียกว่า “ความชั่ว” อันบุคคลพึงเว้นเสีย นั้น ได้แก่ พฤติกรรมทที่ตรงกันข้ามกับ ความดี คือหมายถึง
๑. กรรมที่เป็นอกุศล เกิดมาจากความโลภ ความโกรธ ความหลง
๒. ทำไปแล้วเกิดโทษ (ทั้งแก่ตน และผู้อื่น)
๓. ท่านผู้เป็นบัณฑิต หรือวิญญูชนติเตียน (ไม่ใช่คนชั่วติเตียน)
๔. ปฏิบัติถึงที่แล้ว เป็นประโยชน์เกื้อกูล
๕. ปฏิบัติถึงที่แล้ว ก่อให้เกิดทุกข์

ข้อควรสังเกต
คำว่า “ปฏิบัติถึงที่” หมายความว่า ถ้าเป็นความดีงาม ขณะเริ่มปฏิบัติ หรือระหว่างที่ปฏิบัติอยู่ ผู้ปฏิบัติอาจมีมารผจญ อาจมีคนขัดขวาง อาจมีทุกข์ยากลำบามก ต่อเมื่อปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว (ทำดีถึงดี) จะเห็นผลว่า ก่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลจริง ๆ ถ้าปฏิบัติยังไม่ถึงที่อาจไม่เห็นประโยชน์อะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น ความทุกข์บางอย่างอาจเกิดจากการทำความดีที่ยังไม่สำเร็จ (ยังไม่ถึงดี) คือพอเริ่มทำความดีก็ว่าทนทุกข์ไม่ไหว ลำบากจริง ๆ บางทีก็ถูกคนโน้นคนนี้น่าตำหนิ ทั้ง ๆ ที่เป็นความดี ซึ่งควรทำแท้ ๆ จึงไม่ควรเป็นคนหูเบา โดยเฉพาะคนไม่ดีไม่ใช่บัณฑิตแล้ว พูดให้ขากเป็นดำได้เสมอ ตัวอย่าง บิดาของเทวทัตมาณพ พูดตำหนิติเตียนพระพุทธเจ้าในขณะที่บุตรชายพูดยกย่องสรรเสริญพระพุทธเจ้า ถ้าเราทำสิ่งที่เป็นอบายมุข คนที่ชอบอบายมุขอยู่ก่อนก็ยกย่องสรรเสริญว่า เราเป็นคนดีอาจจะว่าเป็นชายชาตรีเป็นบุรุษเต็มตัว เป็นแมน อะไรทำนองนี้ก็ได้ ท่านจึงสอนไม่ให้เชื่อคนพาล

ในกรณีที่ผู้ฟังยังไม่รู้แจ้ง หรือยังไม่มีความเชื่อในเรื่องบางเรื่องก็ไม่ทรงบังคับหรือชักจูงให้เชื่อง่าย ๆ เป็นแต่ทรงสอนให้พิจารณาตัดสินตามเหตุผล ที่เขาสามารถเห็นแจ้งได้ หรือประจักษ์ชัดด้วยตนเอง ตัวอย่าง เรื่องของเหตุผลที่ต้องใช้ปัญญาอย่างสูงในเรื่องชาติหน้า ความสืบต่อของกรรมดี กรรมชั่ว ที่เป็นไปในระยะยาว ข้ามภพ ข้ามชาติ ดังที่ทรงสรุปตอนท้ายพระสูตรนี้

ทรงแสดงพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้วทรงแสดงว่า เมื่อแผ่พรหมวิหาร ๔ ไปยังสรรพสัตว์จะมีผลดีตามพระพุทธพจน์ว่า“กาลามชนทั้งหลาย อริยสาวก ผู้มีจิตปราศจากเวรอย่างนี้ มีจิตปราศจากความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการ ตั้งแต่ปัจจุบันนี้แล้ว”

ความอุ่นใจ ข้อ ๑ “ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่ว มีจริง การที่ว่า เมื่อเราแตกกายทำลายขันธ์ไป แล้วจะเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”

ความอุ่นใจ ข้อ ๒ “ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากกรรม ที่ทำดี ทำชั่ว ไม่มี เราก็ครองตน อยู่ได้โดยไม่มีทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มี ความเบียดเบียนเป็นสุขอยู่แต่ในชาติปัจจุบันนี้แล้ว

ความอุ่นใจ ข้อ ๓ “ก็ถ้าคนทำชั่ว เป็นอันทำ (ความชั่วมี) เรามิได้คิดการชั่ว ร้ายต่อใคร ๆ ไฉน ทุกข์จักมามีแก่เรา ผู้มิได้ทำบาปกรรมเล่า”

ความอุ่นใจ ข้อ ๔ “ก็ถ้าเมื่อคนทำความชั่ว ไม่ชื่อว่าเป็นอันทำไซร้ (ทำชั่วไม่ ได้ชั่วจริง) ในกรณีนี้ เราก็มองเห็นตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งสองด้าน” (ไม่ว่าจะด้านบาปเป็นอันทำ หรือด้านทำบาป แล้ว ไม่เป็นอันทำ ตนก็ไม่มีข้อเสียหายตรงไหนเลย)


:b8: :b8: :b8:

จบแล้วครับ

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร