วันเวลาปัจจุบัน 21 ก.ค. 2025, 00:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2010, 14:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน โดยวิธีการจะให้เข้าถึงได้นั้น จำเป็นต้องผ่านการเจริญวิปัสสนา แต่เนื่องจากวิธีเจริญวิปัสสนาในปัจจุบันมีความหลากหลายกันไปมากมาย ยากที่คนธรรมดา หรือไม่ได้ศึกษาอย่างกว้างขวางจะสามารถรู้ได้ว่าอย่างไหนถูก หรืออย่างไหนผิด ด้วยเหตุผลนี้ผมจึงไปค้นหาข้อมูลจากในคัมภีร์วิสุทธิมรรคส่วนของปัญญานิเทสที่สอนถึงวิธีเจริญวิปัสสนามาฝากกัน โดยคัดลอกเอาเฉพาะเนื้อหาที่เป็นหลักการและตัวอย่างมาลงไว้เลย ไม่ได้อธิบายโดยความเห็นของตนเอง เพียงแต่มีการแบ่งหัวข้อออกเป็นส่วนๆ ด้วยเพื่อให้สะดวกแก่การอ่าน ซึ่งจะใส่เอาไว้ในเครื่องหมาย [...] ดังนั้นข้อความนั้นอาจจะยากบ้างสำหรับผู้ไม่คุ้นชิน แต่คิดว่าไม่ยากเกินความพยายามที่จะอ่านให้เข้าใจ ซึ่งเมื่อได้อ่านแล้วย่อมจะเข้าใจถึงวิธีการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องตรงตามวิธีการที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาว่าทำอย่างไร เริ่มต้นอย่างไรถึงจะถูกต้องได้เป็นอย่างดีครับ

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
การเจริญวิปัสสนา ตามนัยแห่งคัมภีร์วิสุทธิมรรค
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
ข้อที่ถามว่าปัญญานั้น ควรจักจำเริญด้วยพิธีดังฤา?

ข้อนี้ พระผู้เปนเจ้าสำแดงข้อวิสัชนาว่า

ยัสมา อิมาย ปัญ์ญาย ขัน์ธายตนอิน์ทริยสัจ์จปฏิจ์จสมุป์ปาทาทิเภทา ธัม์มา ภูมิ สีลวิสุท์ธิ เจว จิต์ตวิสุท์ธิ จาติ อิมา เทว วิสุท์ธิโย มูลํ ฯลฯ ปัญ์จ วิสุท์ธิโย สัม์ปาเทน์เตน ภาเวตัพ์พา

อธิบายว่า พระโยคาพจรผู้มีศรัทธาประสงค์จักจำเริญวิปัสสนาภาวนานั้นพึงตั้งธัมมะ ๖ กองไว้เปนพื้นก่อน

ธัมมะ ๖ กองนั้น คือ ขันธกอง ๑ อายตนกอง ๑ ธาตุกอง ๑ อินทริย กอง ๑ อริยสัจจกอง ๑ ปฏิจจสมุปบาทเปนอาทิกอง ๑ รวมเปน ๖ กองด้วยกัน

กองเปนปถมที่ ๑ นั้นได้แก่ขันธ์ทั้ง ๕ ประการ มีรูปขันธ์เปนอาทิ
กองที่ ๒ นั้น ได้แก่อายตน ๑๒ ประการ มีจักขวายตนเปนอาทิ
กองคำรบ ๓ นั้น ได้แก่ธาตุ ๑๘ ประการ มีจักขุธาตุเปนต้น
กองคำรบ ๔ นั้น ได้แก่อินทรีย์ ๒๒ มีจักขุนทรีย์เปนอาทิ
กองคำรบ ๕ นั้น ได้แก่อริยสัจจธัมม ๔ ประการ
กองคำรบ ๖ นั้น ได้แก่ปฏิจจสมุปปาทธัมม์มีอวิชาเปนอาทิ
อาหาร ๔ ประการ มีกวฬิงการาหารเปนอาทิ ก็นับเข้าในกองคำรบ ๖

เมื่อพระโยคาพจรตั้งธัมม ๖ กองไว้เปนพื้น คือ พิจารณาให้รู้จักลักษณแห่งธรรมทั้ง ๖ กอง ยุดหน่วงเอาธรรม ๖ กองนี้เปนอารมณ์ได้แล้ว ลำดับนั้น

พึงเอาสีลวิสุทธิมาเปนราก บำเพ็ญศีลบำเพ็ญสมาธิให้ได้สำเร็จเปนอันดีแล้ว จึงจำเริญวิสุทธิ ๕ ประการสืบต่อไปขึ้นไปโดยลำดับ ๆ เอาทิฏฐิวิสุทธิแลกังขาวิตรณวิสุทธิเปนเท้าซ้ายเท้าขวา เอามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิแลปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเปนมือซ้ายมือขวาแล้ว เอาญาณทัสสนวิสุทธิเปนศีร์ษะเถิด จึงจะอาจสามารถที่จะยกตนออกจากสังสารวัฏได้


แก้ไขล่าสุดโดย ศิรัสพล เมื่อ 17 ส.ค. 2010, 14:59, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2010, 14:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อพระโยคาพจรตั้งธรรม ๖ กอง มีขันธ์ทั้ง ๕ เปนต้น มีพระปฏิจจสมุปบาทเปนที่สุดไว้เปนพื้น คือ พิจารณาให้รู้จักลักษณแห่งธรรมทั้ง ๖ กองยุดหน่วงเอาธรรมทั้ง ๖ กองนี้ไว้เปนอารมณ์ได้แล้ว ลำดับนั้นจึงเอาสีลวิสุทธิ แลจิตตวิสุทธิมาเปนราก สีลวิสุทธินั้น ได้แก่ พระปาฏิโมกขสังวรศีลที่สำแดงแล้วในพระปาฏิโมกข์ จิตตวิสุทธินั้น ได้แก่อัฐ สมาบัติ ๘ ประการ ที่สำแดงแล้วในพระสมถกรรมฐาน

เมื่อตั้งสีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ ๒ ประการไว้เปนรากแล้ว ลำดับนั้นให้ พระโยคาพจรจำเริญวิสุทธิทั้ง ๕ สืบต่อขึ้นไปโดยลำดับ ๆ เอาทิฏฐิวิสุทธิ แลกังขาวิตรณวิสุทธิเปนเท้าซ้ายเท้าขวาเอามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ แลปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เปนมือซ้ายมือขวา แล้วเอาญาณทัสสนวิสุทธิเปนศีร์ษะเถิด จึงจะอาจสามารถที่จะยกตนออกจากวัฏสงสารได้

แลทิฏฐิวิสุทธินั้น มีอัตถาธิบายเปนประการใด?

อันว่าปัญญาอันพิจารณาซึ่งนามแลรูปโดยสามัญลักษณ มีสภาวเปนวิปริณามธรรม บมิเที่ยงเปนอาทิก็ดี โดยสภาวลักษณคือลักษณแห่งตนบมิได้ทั่วไปแก่สิ่งอื่น มีอาทิคือ ผุส์สนลัก์ขโณ ผัส์โส อันว่าผัสสเจตสิกมีถูกต้องเปนลักษณ กัก์ขฬลัก์ขณา ปถวี อันว่า ปถวีธาตุมีสภาวกระด้างเปนลักษณ ปัญญาอันพิจารณาเห็น โดยสภาวลักษณเปนอาทิดังนี้ก็ดี ก็ได้ชื่อว่าทิฏฐิวิสุทธิ เหตุปัญญาดังพรรณามานี้ ชำระเสียซึ่งมละมลทินคือทิฏฐิอันเห็นผิดเห็นว่า ตัวว่าตนในนามแลรูปนั้น

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
ตัวอย่างการปฏิบัติทิฏฐิวิสุทธิของสมถยานิก
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
[ก. เจริญวิปัสสนานามธรรม]

แลพระโยคาพจรเจ้าผู้เปนสมถยานิกบำเพ็ญสมถกรรมฐานนั้น ถ้าปราถนาจะยังทิฏฐิวิสุทธิให้บริบูรณ์ก็พึงเข้าสู่ฌานสมาบัติอันใดอันหนึ่งตามจิตรประสงค์ ยกเสียแต่เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เหตุเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัตินั้นลึกเลอียดนัก ปัญญาโยคาพจรกุลบุตร์ ผู้เปนอาทิกัมมิกแรกทำความเพียร จะพิจารณาได้เปนอันยาก ยกเนวสัญญานาสัญญายตนเสียแล้ว ยังรูปสมาบัติ ๕ แลอรูปสมาบัติ ๓ ประการนั้น พึงเจริญตามชอบน้ำใจเถิด

[1]เมื่อออกจากสมาบัติอันใดอันหนึ่ง ที่ตนได้จำเริญนั้นแล้ว

[2]ก็พึงพิจารณาซึ่งองค์แห่งฌานมีวิตกเปนอาทิ แลเจตสิกธรรมทั้งปวง แต่บรรดาที่สัมปยุตต์ด้วยองค์แห่งฌานนั้นให้แจ้งโดยลักษณ แลกิจจปัจจุปัฏฐาน แลอาสันนการณ์แห่งองค์ฌาน แลธรรมอันสัมปยุตต์ด้วยองค์ฌานนั้นแล้ว

[3]ก็พึงกำหนดกฎหมายว่าองค์ฌานแลธรรมอันสัมปยุตต์ด้วยองค์ฌานนี้ แต่ล้วนเปน "นามธรรม" สิ้น ด้วยอัตถว่าน้อมไปจำเภาะหน้าสู่อารมณ์

[4]เมื่อกำหนดกฎหมายดังนี้แล้ว แลแสวงหาที่อยู่แห่งนามธรรมนั้น ก็จะเห็นแจ้งว่าหทยวัตถุเปนที่อยู่แห่งนามธรรม เปนที่อาไศรยแห่งนามธรรม

มีอุปมาดุจบุรุษอันเห็นอสรพิษ ณ ภายในเรือนอนุพันธ์มาโน บุรุษผู้นั้นติดตามสกัดดู ก็รู้แจ้งว่าอสรพิษอยู่ที่นี่ ๆ แลมีอุปมาฉันใด พระโยคาพจรผู้แสวงหาที่อยู่แห่งนามธรรมนั้น ก็เห็นแจ้งว่าหทยวัตถุเปนที่อยู่แห่งนามธรรม เปนที่อาไศรยแห่งนามธรรม มีอุปมัยดังนั้น

[ข. เจริญวิปัสสนารูปธรรม (ต่อเนื่องจากข้อ ก)]

แล้วพระโยคาพจรเจ้า พิจารณารูปธรรมสืบต่อไปเล่า ก็เห็นแจ้งว่าหทยวัตถุนั้น อาไศรยซึ่งภูตรูป ๆ ทั้ง ๔ คือ ปถวี อาโป เตโช วาโย นั้นเปนที่อาไศรยแห่งหทยวัตถุ ถึงอุปาทายรูปอื่น ๆ จากหทยวัตถุนั้นก็อาไศรยภูตรูปสิ้นด้วยกัน เรียกว่ารูป ๆ นั้น ด้วยอรรถว่ารู้ฉิบหาย ด้วยอุปัทวอันตรายต่าง ๆ

[1] ลำดับนั้นพระโยคาพจรเจ้า จึงกำหนดกฎหมายโดยนัยสังเขปว่า นมนลัก์ขณํ นามํ นามธรรมนี้ มีลักษณน้อมไปสู่ อารมณ์ รูปนลักษณํ รูปํ รูปธรรมนี้ มีลักษณรู้ฉิบหายด้วยอันตรายต่าง ๆ มีร้อนแลเย็นเปนอาทิ

(พระโยคาพจรผู้เปนสุทธวิปัสสนายานิก คือ เปนแต่ฝ่ายพิจารณาสิ่งเดียวนั้นก็ดี ที่เปนสมถยานิกนั้นก็ดี ย่อมพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ประการ โดยนัยสังเขปแลนัยพิศดาร ด้วยธาตุปริคคหนอุบายอันใดอันหนึ่งอันอาจารย์สำแดงแล้วในจตุธาตุววัตถาน)

[2]ในเมื่อพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ประการโดยลักษณแลกิจปรากฏแจ้งแล้ว พระโยคาพจรเจ้าจึงพิจารณาสืบต่อไปในอาการ ๓๒ มี เกสาเปนอาทิ มีมัตถลุงคังเปนปริโยสาน เช่น พิจารณาเกศาว่า...

เกสานี้จัดเปนปถวีธาตุก็จริง แต่ก็ยังมีอาโป เตโช วาโย ซับซาบอยู่ ซึ่งจะเปนปถวีสิ่งเดียวนั้นหาบมิได้ เกสาแต่ละเส้น ๆ นั้นกอบไปด้วย รูปกลาปถึง ๕ กลาป เปนกัมมัช ชสมุฏฐานกลาป ๒ อาหารสมุฏฐานกลาป ๑ จิตตสมุฏฐานกลาป ๑ อุตุสมุฏฐานกลาป ๑ เปน ๕ กลาปด้วยกัน

ฯลฯ

>>>>>>
สรุป
>>>>>>
กิริยาที่พิจารณาเห็นว่านามแลรูปนี้ไม่เที่ยงไม่แท้แปรปรวนอยู่เหมือนกัน นามธรรมก็ไม่เที่ยง รูปธรรมก็ไม่เที่ยง นามธรรมก็แปรปรวน รูปธรรมก็แปรปรวนเหมือนกัน พิจารณาเห็นทั่วไปดังนี้ ได้ชื่อว่าพิจารณานามแลรูปโดยสามัญญลักษณ แลกิริยาที่พิจารณาแยกออกไปแต่ละสิ่ง ๆ ว่าผัสสเจตสิกมีลักษณให้ถูกต้องซึ่งอารมณ์ เวทนาเจตสิกมีลักษณอันเสวยซึ่งอารมณ์ พิจารณานามธรรมโดยนัยเปนต้นดังนี้ก็ดี พิจารณารูปธรรมโดยนัยเปนต้นว่า ปถวีธาตุมีลักษณอันกระด้างนั้นก็ดี ได้ชื่อว่าพิจารณานามแลรูปโดยสภาวลักษณ ตกว่าปัญญาที่พิจารณานามแลรูปโดยสามัญญลักษณ แลสภาวลักษณดังนี้แลได้ชื่อว่าทิฏฐิวิสุทธิ สำแดงทิฏฐิวิสุทธิ โดยนัยสังเขปเท่านี้


แก้ไขล่าสุดโดย ศิรัสพล เมื่อ 17 ส.ค. 2010, 14:50, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2010, 14:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
กังขาวิตรณวิสุทธิ
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
แต่นี้จะวิสัชนาในกังขาวิตรณวิสุทธิสืบต่อไป

[ก. หลักการทั่วไปช่วงที่ ๑]

กังขาวิตรณวิสุทธินั้นมิใช่อื่นใช่ไกลได้แก่ปัญญานั้นเอง ปัญญาที่พิจารณาเห็นเหตุเห็นปัจจัยแห่งนามธรรมแลรูปธรรม เข้าใจชัดว่านามธรรมบังเกิดแต่ปัจจัยสิ่งนี้ ๆ รูปธรรมบังเกิดแต่ปัจจัยสิ่งนี้ ๆ เข้าใจชัดรู้สันทัดแท้ปราศจากสงไสยในกาลทั้ง ๓ คือ อดีต แลอนาคต แลปัจจุบัน ได้แล้วในกาลใด ปัญญานั้นก็ได้ชื่อว่ากังขารวิตรณวิสุทธิในกาลนั้น

[เปรียบอุปมาวิธีการปฏิบัติ#1]

พระโยคาพจรภิกษุผู้มีความปราถนาเพื่อจะยังปัญญาอันชื่อว่ากังขาวิตรณวิสุทธินั้นให้บริบูรณ์ ก็พึงประพฤติจิตรสันดานให้เหมือนแพทย์ เอาเยี่ยงอย่างแพทย์ผู้ฉลาดในการรักษาโรค ธรรมดาว่าแพทย์ผู้ฉลาดนั้น เมื่อจะรักษาโรคก็พิจารณาดูโรคนิทานให้เห็นแจ้งว่า โรคสิ่งนี้บังเกิดแต่เหตุแห่งปถวีธาตุกำเริบ โรคสิ่งนี้บังเกิดแต่เหตุแห่งอาโปธาตุกำเริบ โรคสิ่งนี้บังเกิดแต่เหตุแห่งเตโชธาตุกำเริบ แลวาโยธาตุกำเริบ เมื่อรู้ชัดสันทัดแท้ในโรคสมุฏฐานแล้ว แพทย์นั้นจึงประกอบยาตามที่ ยถา อันนี้แลมีครุวนาฉันใด พระโยคาพจรภิกษุก็พึงพิจารณาหาเหตุหาปัจจัยอันเปนที่เกิดแห่งนามธรรมแลรูปธรรม ให้เห็นแจ้งว่านามธรรมบังเกิดแต่เหตุแต่ปัจจัยสิ่งนี้ ๆ รูปธรรมบังเกิดแต่เหตุแต่ปัจจัยสิ่งนี้ ๆ พึงประพฤติเอาเยี่ยงแพทย์ผู้ฉลาดที่พิจารณาดูซึ่งโรคนิทานนั้นฉันนั้น

[เปรียบอุปมาวิธีการปฏิบัติ#2]

ถ้ามิฉนั้น ให้พระโยคาพจรภิกษุเอาเยี่ยงบุทคลอันมีสันดานมากไปด้วยความกรุณา ได้เห็นทารกอันนอนหงายอยู่ในกลางตรอก แลแสวงหาบิดามารดาแห่งทารกนั้น ธรรมดาว่าบุทคลผู้มีสันดานมากไปด้วยความกรุณานั้น ถ้าเห็นทารกน้อย ๆ นอนหงายอยู่ในกลางตรอกกลางถนน ก็ย่อมมีจิตรสันดานกัมปนาทหวาด หวั่นไหวตระลึงใจว่า อยํ ปุต์ตโก ทารกผู้นี้ลูกของใคร ๆ เอามาหงายไว้ที่ท่ามกลางถนนหนทางอย่างนี้ ใครเปนบิดามารดาแห่งทารกผู้นี้หนอ บุทคลผู้มากไปด้วยความกรุณา แสวงหาบิดามารดาแห่งทารกผู้นั้น แลมีฉันใด พระโยคาพจรภิกษุก็แสวงหาซึ่งเหตุซึ่งปัจจัยแห่งนามแลรูป มีอุปมัยดังนั้น

[ตัวอย่างคำพิจารณาที่ใช้เป็นหลัก]

แท้จริง พระโยคาพจรภิกษุผู้จะแสวงหาซึ่งเหตุแลปัจจัยแห่งนามแลรูปนั้น เดิมทีให้พิจารณาว่า

นามแลรูปแห่งสรรพสัตว์ทั้งปวงแต่บรรดามีในไตรโลกสันนิวาสนี้ ย่อมมีเหตุปัจจัยประชุมแต่งสิ้นทั้งปวง อันจะปราศจากเหตุปราศจากปัจจัยนั้นหาบมิได้ ถ้านามแลรูปไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยบังเกิดโดยธรรมดาแห่งตนแล้วก็น่าที่นามแลรูปแห่งสัตว์ทั้งปวงแต่บรรดามีในภพทั้งปวงนี้จะเหมือน ๆ กันเปนอันหนึ่งอันเดียว จะมิได้แปลกประหลาดกัน สัตว์ที่บังเกิดเปนยมเปนยักษ์เปนอสุรกุมภัณฑ์เปนนิกรเทพคนธรรพนั้น ก็จะเหมือนกันเปนพิมพ์เดียว รูปพรรณสัณฐานนั้นจะไม่ห่างไม่ไกลกัน อนึ่ง สัตว์ที่บังเกิดในมนุษย์สุคติกับสัตว์ที่บังเกิดในทุคคตินั้น ก็จะเหมือน ๆ กันสิ้นทั้งปวงจะหาที่ดีกว่ากันชั่วกว่ากันนั้นจะหาไม่ได้ เพราะเหตุว่านามแลรูปนั้นบังเกิดโดยธรรมแห่งตนเอง หาเหตุหาปัจจัยบมิได้ นี้สิไม่
เปนดังนั้น นามแลรูปนี้แปลกประหลาดกันทุกภพ ๆ จะได้เหมือนกันหาบมิได้ นามแลรูปในสุคติภพนั้นอย่างหนึ่ง ในทุคติภพนั้นอย่างหนึ่ง นามแลรูปในจตุราบายนั้นอย่างหนึ่ง ในมนุษย์นั้นอย่างหนึ่ง่ ในฉกามาพจรสวรรค์นั้นอย่างหนึ่งในรูปภพนั้นอย่างหนึ่ง จะได้เหมือนกันนั้นหามิได้ ถึงบังเกิดในหมู่อันเดียวกันในพวกเดียวกันก็ดี ที่จะเหมือนกันนั้นไม่เหมือนกันเลยเปนอันขาด โดยกำหนดเปนที่สุดจนแต่พี่น้องฝาแฝดก็ยังมีที่แปลกประหลาดกันอยู่ จะได้เหมือนกันแท้ทีเดียวก็หามิได้ อาไศรยเหตุฉนี้จึงเห็นแจ้งว่านามแลรูปนี้มีเหตุมีปัจจัยประชุมแต่งสิ้นด้วยกัน ถ้าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยประชุมแต่ง นามแลรูปบังเกิดโดยธรรมดาแห่งตนแล้วนามแลรูปก็จะเหมือนกันสิ้นทั่วทั้งไตรภพมณฑลสกลไตรโลกธาตุ ดังฤาจะเปลี่ยนจะแปลกกันเล่า นามแลรูปที่บังเกิดขึ้นเก่า ๆ กับนามแลรูปที่บังเกิดขึ้นใหม่ ๆ นั้นก็จะเหมือนกันทุกชาติ ๆ จะไม่ต่างกันนี้สิไม่เปนดังนั้น นามแลรูปนี้เปลี่ยนแปลงไปทุกชาติ ๆ ชาตินี้อย่างหนึ่ง ชาติน่าอย่างหนึ่ง ชาติโน้นอย่างหนึ่ง จะได้เหมือนกันอยู่เปนนิจ จะได้เหมือนกันอยู่สิ้นกาลทุกเมื่อนั้นหามิได้ อาไศรยเหตุฉนี้ จึงเห็น
แจ้งว่านามแลรูปนี้มีเหตุมีปัจจัยประชุมแต่งอยู่เปนแท้

[อธิบายเพิ่มเติม]

ประการหนึ่ง เหตุแลปัจจัยที่ประชุมแต่งซึ่งนามแลรูปนั้นจะได้แก่พระมเหศวรแลท้าวมหาพรหมนั้นหามิได้ พระมเหศวรแลท้าวมหาพรหมนั้นบมิได้เปนเหตุเปนปัจจัยที่จะตกแต่งซึ่งนามธรรม แลรูปธรรม อันจะถือลัทธิว่าพระมเหศวร แลท้าวมหาพรหมตกแต่งซึ่งนามแลรูปนั้นบมิชอบ บมิควรจะเชื่อฟังเอาเปนบรรทัดถานได้ เพราะเหตุว่า องค์พระมเหศวรแลท้าวมหาพรหมนั้นบมิได้พ้นไปจากรูปธรรมแลนามธรรม เมื่อสำแดงโดยปรมัตถ์อันสุขุมนั้น รูปธรรม นามธรรม นั้นเอง จัดเปนพระมเหศวร จัดเปนท้าวมหาพรหม
ในที่อันนี้ ถ้าเกจิอาจาริย์จำพวกใดกล่าวคำเสียดเข้ามาว่า พระมเหศวรแลท้าวมหาพรหมนั้น คงเปนรูปธรรมนามธรรมเท่านั้นเอง กล่าวคำเสียดเข้ามาฉนี้

ในอธิบายแห่งเกจิอาจารย์นั้นพิจารณาเห็นรูปธรรมนามธรรมอื่น ๆ นอกออกไปจากพระมเหศวรแลท้าวมหาพรหมนั้น แต่ล้วนมีเหตุมีปัจจัยประชุมแต่สิ้นทั้งปวง แต่รูปธรรมนามธรรมที่เปนองค์แห่งพระมเหศวรเปนองค์แห่งท้าวมหาพรหมนั้นหาเหตุปัจจัยประชุมแต่งมิได้ในอัชฌาศรัยแห่งเกจิอาจารย์นั้นพิจารณาเห็นดังนี้

เมื่อเห็นอธิบายตามอัชฌาศรัยแห่งเกจิอาจารย์นั้น พระมเหศวรก็จะเหมือนกันเปนอันหนึ่งอันเดียว ท้าวมหาพรหมก็จะเหมือนกันเปนอันหนึ่งอันเดียวจะหาแปลกประหลาดกันไม่ นี้สิไม่เปนดังนั้น พระมเหศวรแปลก ๆ ประหลาดกันอยู่ ท้าวมหาพรหมแปลก ๆ ประหลาดกันอยู่ จะได้เหมือนกันหามิได้ เหตุฉนี้ ซึ่งจะเชื่อฟังเอาตามอธิบายแห่งเกจิอาจารย์นั้นเชื่อฟังเอาบมิได้ นามแลรูปที่เปนองค์พระมเหศวรนั้นก็มีเหตุมีปัจจัยประชุมแต่ง นามแลรูปที่เปนองค์แห่งท้าวมหาพรหมนั้นก็มีเหตุมีปัจจัยประชุมแต่งสิ้นด้วยกัน


[ข.การพิจารณาช่วงที่ ๒]

เมื่อเห็นว่านามรูปมีเหตุมีปัจจัยแท้แล้ว ลำดับนั้นพระโยคาพจรจึงพิจารณาหาซึ่งธรรมอันเปนตัวเหตุตัวปัจจัยนั้นว่า

[ตัวอย่างคำพิจารณาที่ใช้เป็นหลัก]

ธรรมสิ่งดังฤาเปนเหตุเปนปัจจัยตกแต่งซึ่งรูปธรรมนามธรรม เมื่อพิจารณาหาซึ่งธรรมอันเปนตัวปัจจัยดังนี้ ก็มีมนสิการกำหนดจิตรพิจารณาซึ่งรูปกายนั้นก่อน เห็นว่า อยํ กาโย รูปกายนี้ นิพ์พัต์ตมาโน เมื่อจะบังเกิดนั้น จะได้บังเกิดภายในห้องแห่งอุบลแลบัวหลวงแลบัวขาว แลจงกลนีเปนอาทินั้นหาบมิได้ จะได้บังเกิดภายในแห่งแก้วมณีแลแก้วมุกดาหารเปนอาทินั้นหามิได้ รูปกายนี้บังเกิดภายในอุทรประเทศแห่งมารดา เบื้องบนนั้นกำหนดด้วยกระเพาะอาหารใหม่ เบื้องต่ำนั้นกำหนดด้วยกระเพาะอาหารเก่า เบื้องหน้านั้น
กำหนดด้วยกระดูกหนามหลังแห่งมารดา

ไส้ใหญ่แลไส้น้อยนั้นแวดล้อมอยู่โดยรอบมีกลิ่นอันเหม็นเปนปฏิกูลพึงเกลียดพึงชัง ที่อันนั้นเปนที่คับแคบยิ่งนัก อาการที่รูปกายแห่งสัตว์บังเกิดในที่นั้น เปรียบประดุจกิมิชาติหมู่หนอนอันบังเกิดในปลาเน่าแลขนมบูติ์แลที่น้ำครำไหล รูปกายแห่งสัตว์ทั้งปวงนี้บังเกิดด้วยธรรม ๔ ประการ คือ อวิชชาประการ ๑ ตัณหาประการ ๑ อุปาทานประการ ๑ กัมม
ประการ ๑

ธรรม ๔ ประการนี้เปนเหตุให้บังเกิดรูปกายสิ้นทั้งปวง อาหารนั้นเปนปัจจัยในกิจอุปถัมภกอุดหนุน

ตกว่าอวิชชาแลตัณหาแลอุปาทานทั้ง ๓ ประการนี้เปนที่อาไศรยแห่งรูปกายเปรียบประดุจมารดาอันเปนที่อาไศรยแห่งทารก กัมมนั้นเปนเหตุให้บังเกิดรูปกาย เปรียบประดุจบิดาอันยังทารกให้บังเกิด อาหารนั้นอุปถัมภ์อุดหนุนซึ่งรูปกายเปรียบประดุจแม่นมอันอุ้มชูซึ่งทารก

[ค.การพิจารณาช่วงที่ ๓]

เมื่อพิจารณาเห็นซึ่งเหตุแลปัจจัยแห่งรูปกาย ด้วยประการดังนี้แล้วลำดับนั้นพระโยคาพจรจึงพิจารณาเห็นซึ่งเหตุแห่งนามกายว่า

จักขุวิญญาณนั้นอาไศรยจักขุประสาทแลรูปารมณ์แล้วจึงบังเกิดขึ้นในสันดาน ฝ่ายว่าโสตวิญญาณอาไศรยโสตประสาทแลสัททารมณ์แล้วจึงบังเกิด ฆานวิญญาณนั้นอาไศรยฆานประสาทแลคันธารมณ์แล้วจึงบังเกิด ชิวหาวิญญาณนั้นอาไศรยชิวหาประสาทแล รสารมณ์แล้วจึงบังเกิด กายวิญญาณนั้นอาไศรยกายประสาทแลโผฏฐัพพารมณ์แล้ว จึงบังเกิด มโนวิญญาณนั้นอาไศรยหทยวัตถุแลธัมมารมณ์แล้วจึงบังเกิด

>>>>
สรุป
>>>>
เมื่อพระโยคาพจรภิกษุพิจารณาเห็นชัดรู้สันทัดว่านามรูปบังเกิดแต่เหตุแต่ปัจจัย โดยนัยดังพรรณนามาฉนี้แล้ว ลำดับนั้นก็จะเข้าใจแจ้งประจักษ์ตลอดไปในอดีตแลอนาคตแลปัจจุบันน์ จะรู้ชัดสันทัดแท้ว่านามรูปในปัจจุบันน์นี้บังเกิดแต่ เหตุแต่ปัจจัย แลมีฉันใด นามรูปในอดีตที่บังเกิดแล้วแต่หลัง ๆ นั้น ก็บังเกิดแต่ เหตุแต่ปัจจัยฉันนั้น ถึงนามรูปที่จะบังเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตเบื้องน่า ๆ นั้น ก็จะบังเกิดแต่เหตุแต่ปัจจัยสิ้นด้วยกัน เมื่อเข้าใจแจ้งประจักษ์ตลอดไปในอดีตแลอนาคตว่าเหมือนกันกับปัจจุบันน์นี้ แล้วลำดับนั้น พระโยคาพจรภิกษุก็จะสละละวิจิกิจฉาเสียได้สิ้นทั้ง ๑๖ ประการ

ฯลฯ

ที่มา : คัมภีร์วิสุทธิมรรค หมวดปัญญานิเทส หน้า 410 - 532


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron