วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 03:59  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 51 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2011, 16:54 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


๔. อัตถิราคสูตร

[๒๔๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างเพื่อความดำรงอยู่ของ
สัตวโลกที่เกิดมาแล้ว เพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔
อย่างนั้น คือ ๑ กวฬิงการาหาร หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ๒ ผัสสาหาร ๓ มโน-
*สัญเจตนาหาร ๔ วิญญาณาหาร อาหาร ๔ อย่างนี้แล เพื่อความดำรงอยู่ของสัตว
โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด ฯ
[๒๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความ
ทะยานอยาก มีอยู่ในกวฬิงการาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในกวฬิงการาหารนั้น
ในที่ใด วิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใด
มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใด
มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่
ใด มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใด
มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่ามีความโศก มีธุลี (คือราคะ) มีความ
คับแค้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก
มีอยู่ในผัสสาหารไซร้ ... ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่
ในมโนสัญเจตนาหารไซร้ ... ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก
มีอยู่ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในวิญญาณาหารนั้น ในที่ใด
วิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใด มีการ
หยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใด
มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใด
มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใด มีชาติ
ชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่ามีความโศก มีธุลี มีความคับแค้น ฯ
[๒๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีน้ำย้อม ครั่ง ขมิ้น สีเขียวหรือสี
บานเย็น ช่างย้อมหรือช่างเขียนพึงเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษให้มีอวัยวะน้อยใหญ่
ได้ครบถ้วนที่แผ่นหินขาว แผ่นกระดาน ฝาผนัง หรือที่ผืนผ้า แม้ฉันใด ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยาน
อยาก มีอยู่ในกวฬิงการาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในกวฬิงการาหารนั้น ใน
ที่ใด วิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใด
มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใด
มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใด
มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใด มีชาติ
ชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่ามีความโศก มีธุลี มีความคับแค้น ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ในผัสสาหาร
ไซร้ ... ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ในมโนสัญ-
*เจตนาหารไซร้ ... ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ใน
วิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในวิญญาณาหารนั้น ในที่ใด วิญญาณ
ตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใด มีการหยั่งลงแห่ง
นามรูป ในที่นั้น ย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใด มีความเจริญ
แห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใด มีการ
เกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใด มีชาติชรา
มรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่า มีความโศก มีธุลี มีความคับแค้น ฯ
[๒๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความ
ทะยานอยาก ไม่มีอยู่ในกวฬิงการาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในกวฬิง-
*การาหารนั้น ในที่ใด วิญญาณไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมไม่มีการหยั่ง
ลงแห่งนามรูป ในที่ใด ไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมไม่มีความ
เจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใด ไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น
ย่อมไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใด ไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น
ย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใด ไม่มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้น
ว่าไม่มีความโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น ฯ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มี
ในผัสสาหาร ... ไม่มีในมโนสัญเจตนาหาร ... ไม่มีในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณ
ก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในอาหารนั้น ในที่ใด วิญญาณไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงาม ในที่นั้น
ย่อมไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใด ไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น
ย่อมไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใด ไม่มีความเจริญแห่งสังขาร
ทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใด ไม่มีความเกิด
ในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใด ไม่มีชาติชรา
มรณะต่อไป ภิกษุทั้งหลายเราเรียกที่นั้นว่า ไม่มีความโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความ
คับแค้น ฯ
[๒๔๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรือนยอด
[ปราสาท] หรือศาลามีสองยอด หน้าต่างด้านทิศตะวันออก อันบุคคลเปิดไปทาง
เหนือหรือทางใต้ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปแสงสว่างส่องเข้าไปทางหน้าต่าง จะพึง
ตั้งอยู่ ณ ที่ไหน ฯ
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ตั้งอยู่ที่ฝาด้านตะวันตก พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าฝาด้านตะวันตกไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึง
ตั้งอยู่ ณ ที่ไหน ฯ
ภิ. ที่แผ่นดิน พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแผ่นดินไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ ณ
ที่ไหน ฯ
ภิ. ที่น้ำ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าน้ำไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน ฯ
ภิ. ไม่ตั้งอยู่เลย พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน
ความทะยานอยาก ไม่มีอยู่ในกวฬิงการาหารไซร้ ... ในผัสสาหารไซร้ ... ในมโนสัญ-
*เจตนาหารไซร้ ... ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในวิญญาณา-
*หารนั้น ในที่ใด วิญญาณไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมไม่มีการหยั่งลง
แห่งนามรูป ในที่ใด ไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเจริญ
แห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใด ไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อม
ไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใด ไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น
ย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใด ไม่มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่า
ไม่มีความโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น ฯ

จบสูตรที่ ๔

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ บรรทัดที่ ๒๖๙๗ - ๒๗๗๙. หน้าที่ ๑๑๑ - ๑๑๔.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v ... agebreak=0


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2011, 16:55 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


๕. นครสูตร

[๒๕๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค
ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่กาลตรัสรู้ เมื่อเรายังเป็น
พระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ เราได้มีความคิดอย่างนี้ว่า โลกนี้ถึงความลำบาก
หนอ ย่อมเกิด แก่ ตาย จุติและอุบัติ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไม่มีผู้ใดทราบชัด
ซึ่งธรรมเป็นที่สลัดออกจากกองทุกข์ คือ ชราและมรณะนี้ได้เลย เมื่อไรหนอ
ธรรมเป็นที่สลัดออกไปจากกองทุกข์คือชราและมรณะนี้จึงจักปรากฏ ฯ
[๒๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เมื่ออะไรหนอ
แลมีอยู่ ชราและมรณะจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ เพราะ
การใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติแลมีอยู่ ชราและ
มรณะจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า
เมื่ออะไรหนอ แลมีอยู่ ชาติจึงมี ... ภพจึงมี ... อุปาทานจึงมี ... ตัณหาจึงมี ...
เวทนาจึงมี ... ผัสสะจึงมี ... สฬายตนะจึงมี ... นามรูปจึงมี ... เพราะอะไรเป็น
ปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะการใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงได้รู้ด้วยปัญญาว่า
เมื่อวิญญาณมีอยู่ นามรูปจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เรานั้นได้
มีความคิดดังนี้ว่า เมื่ออะไรหนอแลมีอยู่ วิญญาณจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
จึงมีวิญญาณ เพราะการใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงได้รู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อ
นามรูปมีอยู่ วิญญาณจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เรานั้นได้มี
ความคิดดังนี้ว่า วิญญาณนี้แลได้กลับแล้วเพียงเท่านี้ ไม่ไปพ้นจากนามรูปได้เลย
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ โลกย่อมเกิด แก่ ตาย จุติและอุบัติ กล่าวคือ เพราะ
นามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะ
นามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ฯลฯ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลาย
ที่เราไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อนว่า เหตุให้ทุกข์เกิด เหตุให้ทุกข์เกิด ดังนี้ ฯ
[๒๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความคิดดังนี้ เมื่ออะไรหนอแล
ไม่มีอยู่ ชราและมรณะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชราและมรณะจึงดับ เพราะการ
ใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะ
จึงไม่มี เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า เมื่อ
อะไรหนอแล ไม่มีอยู่ ชาติจึงไม่มี ... ภพจึงไม่มี ... อุปาทานจึงไม่มี ... ตัณหา
จึงไม่มี ... เวทนาจึงไม่มี ... ผัสสะจึงไม่มี ... สฬายตนะจึงไม่มี ... นามรูปจึง
ไม่มี ... เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะการใส่ใจโดย
แยบคายของเรานั้น จึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่า เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า
เมื่ออะไรหนอแล ไม่มีอยู่ วิญญาณจึงไม่มี เพราะอะไรดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะการใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปไม่มี
วิญญาณจึงไม่มี เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า
มรรคนี้เราได้บรรลุแล้วแล ด้วยปัญญาเครื่องตรัสรู้ คือ เพราะนามรูปดับ วิญญาณ
จึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี
ด้วยอาการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง
ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เรายังไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อนว่า เหตุให้
ทุกข์ดับ เหตุให้ทุกข์ดับ ดังนี้ ฯ
[๒๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษเมื่อเที่ยวไปในป่าทึบ ได้พบมรรคาเก่า
หนทางเก่า ที่คนก่อนๆ เคยเดินไปมา เขาเดินตามทางนั้นไป เมื่อกำลังเดินตาม
ทางนั้นอยู่ พบนครเก่า พบราชธานีโบราณซึ่งสมบูรณ์ด้วยสวน ป่าไม้ สระโบก-
*ขรณี มีเชิงเทิน ล้วนน่ารื่นรมย์ ที่คนก่อนๆ เคยอยู่อาศัยมา ครั้งนั้นแล บุรุษ
คนนั้นจึงกราบทูลแด่พระราชาหรือเรียนแก่ราชมหาอำมาตย์ว่า ขอเดชะ พระองค์จง
ทราบเถิด พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าเมื่อเที่ยวไปในป่า ได้พบมรรคาเก่า
หนทางเก่าที่คนก่อนๆ เคยเดินไปมา ข้าพระพุทธเจ้าได้เดินตามทางนั้นไป เมื่อ
กำลังเดินตามทางนั้นอยู่ได้พบนครเก่า พบราชธานีโบราณ ซึ่งสมบูรณ์ด้วยสวน
ป่าไม้ สระโบกขรณี มีเชิงเทิน ล้วนน่ารื่นรมย์ ที่คนก่อนๆ เคยอยู่อาศัยมา
ขอพระองค์จงทรงสร้างพระนครนั้นเถิด พระพุทธเจ้าข้า ลำดับนั้น พระราชา
หรือราชมหาอำมาตย์ จึงสร้างเมืองนั้นขึ้น สมัยต่อมา เมืองนั้นเป็นเมืองมั่งคั่งและ
สมบูรณ์ขึ้น มีประชาชนเป็นอันมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น และเป็นเมืองถึงความ
เจริญ ไพบูลย์ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เราได้พบมรรคาเก่า หนทางเก่า ที่
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เคยเสด็จไป ก็มรรคาเก่า หนทางเก่า ที่
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เคยเสด็จไปนั้น เป็นไฉน คือมรรคาอันประกอบ
ด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐ นี้แล ได้แก่สัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แลมรรคา
เก่า หนทางเก่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เคยเสด็จไปแล้ว เราก็ได้
เดินตามหนทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อันเป็นทางเก่านั้น
เมื่อกำลังเดินตามหนทางนั้นไป ได้รู้ชัดซึ่งชราและมรณะ เหตุเกิดขึ้นแห่งชรา
และมรณะ ความดับแห่งชราและมรณะ และได้รู้ชัดซึ่งปฏิปทาเครื่องให้ถึงความ
ดับชราและมรณะ เมื่อเรากำลังเดินตามทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
ประการ อันเป็นทางเก่านั้นไปอยู่ ได้รู้ชัดซึ่งชาติ ฯลฯ ได้รู้ชัดซึ่งภพ ... ได้รู้ชัด
ซึ่งอุปาทาน ... ได้รู้ชัดซึ่งตัณหา ... ได้รู้ชัดซึ่งเวทนา ... ได้รู้ชัดซึ่งผัสสะ ... ได้
รู้ชัดซึ่งสฬายตนะ ... ได้รู้ชัดซึ่งนามรูป ... ได้รู้ชัดซึ่งวิญญาณ ... ได้รู้ชัดซึ่งสังขาร
ทั้งหลาย เหตุเกิดขึ้นแห่งสังขาร ความดับแห่งสังขาร และได้รู้ชัดซึ่งปฏิปทา
เครื่องให้ถึงความดับแห่งสังขาร ครั้นได้รู้ชัดซึ่งทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วย
องค์ ๘ ประการนั้นแล้ว เราจึงได้บอกแก่พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์ของเราจึงได้เจริญแพร่หลาย กว้างขวาง มีชนเป็น
อันมากรู้ เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็ประกาศได้เป็นอย่าง
ดี ดังนี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๕

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ บรรทัดที่ ๒๗๘๐ - ๒๘๕๔. หน้าที่ ๑๑๔ - ๑๑๗.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v ... agebreak=0


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2011, 16:56 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


๖. สัมมสสูตร

[๒๕๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กัมมาสทัมมนิคมของชาวกุรุ ณ
กุรุชนบท ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุทูล
รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลาย เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาปัจจัยภายในบ้างหรือไม่ เมื่อพระองค์
ตรัสถามอย่างนี้แล้ว มีภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลเนื้อความนี้ขึ้นแด่พระองค์ว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาปัจจัยภายใน พระเจ้าข้า
พระองค์จึงตรัสถามว่า เธอเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาปัจจัยภายในอย่างไร ทันใด
นั้นแล ภิกษุรูปนั้นก็ทูลเล่าถวายให้ทรงทราบ แต่ก็ไม่ถูกพระหฤทัยของพระผู้มี-
*พระภาค ฯ
[๒๕๕] เมื่อพระภิกษุรูปนั้นกราบทูลอย่างนั้นแล้ว ท่านพระอานนท์จึง
ได้กราบทูลเนื้อความนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถึงเวลาที่จะ
ทรงแสดงเรื่องนี้แล้ว ข้าแต่พระสุคต ถึงเวลาที่จะทรงแสดงเรื่องนี้แล้ว พระองค์
ตรัสการพิจารณาปัจจัยภายในข้อใด ภิกษุทั้งหลายฟังการพิจารณาปัจจัยภายในข้อ
นั้นจากพระองค์แล้ว จักทรงจำไว้ดังนี้ พระองค์จึงตรัสว่า อานนท์ ถ้าเช่นนั้น
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาค
ว่า พระพุทธเจ้าข้า ฯ
[๒๕๖] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรม
วินัยนี้ เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาซึ่งปัจจัยภายในว่า ชราและมรณะนี้อันใดแล
ย่อมบังเกิดในโลก เป็นทุกข์หลายอย่างต่างๆ กัน ชราและมรณะที่เป็นทุกข์นี้แล
มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
เมื่ออะไรมี ชราและมรณะจึงมี เมื่อเธอพิจารณาอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ชราและ
มรณะนี้อันใดแล ย่อมบังเกิดขึ้นในโลก เป็นทุกข์หลายอย่างต่างๆ กัน ชรา
และมรณะที่เป็นทุกข์นี้แล มีอุปธิเป็นเหตุ มีอุปธิเป็นที่ตั้งขึ้น มีอุปธิเป็นกำเนิด
มีอุปธิเป็นแดนเกิด เมื่ออุปธิมี ชราและมรณะจึงมี เมื่ออุปธิไม่มี ชราและ
มรณะก็ไม่มี เธอย่อมทราบชัดซึ่งชราและมรณะ ย่อมทราบชัดซึ่งความเกิดแห่ง
ชราและมรณะ ย่อมทราบชัดซึ่งความดับแห่งชราและมรณะ และย่อมทราบชัดซึ่ง
ปฏิปทาอันสมควรเครื่องให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ และเธอย่อมเป็นผู้
ปฏิบัติตามนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติตามธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเรียกภิกษุ
รูปนี้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ เพื่อความดับไปแห่งชราและมรณะโดย
ชอบทุกประการ ฯ
[๒๕๗] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาซึ่งปัจจัย
ภายในว่า ก็อุปธิอันนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี อุปธิจึงมี เมื่ออะไรไม่มี อุปธิจึงไม่มี เมื่อ
เธอพิจารณาอยู่ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า อุปธิมีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นที่ตั้งขึ้น มี
ตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด เมื่อตัณหามี อุปธิจึงมี เมื่อตัณหาไม่มี
อุปธิก็ไม่มี เธอย่อมทราบชัดซึ่งอุปธิ ย่อมทราบชัดซึ่งเหตุเกิดแห่งอุปธิ ย่อม
ทราบชัดซึ่งความดับแห่งอุปธิ ย่อมทราบชัดซึ่งปฏิปทาอันสมควรเครื่องให้ถึงความ
ดับแห่งอุปธิ และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติตามนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติตามธรรม ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกภิกษุรูปนี้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ เพื่อความดับ
แห่งอุปธิโดยชอบทุกประการ ฯ
[๒๕๘] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาซึ่งปัจจัย
ภายในว่า ก็ตัณหานี้เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นในที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ใน
ที่ไหน เมื่อเธอพิจารณาอยู่ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ที่ใดแล เป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจใน
โลก ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นในที่นั้น เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นั้น ก็
อะไรเล่าเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก ตาเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลก ... หูเป็น
ที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก ... จมูกเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลก ... ลิ้นเป็นที่รักเป็น
ที่ชื่นใจในโลก ... กายเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลก ... ใจเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจใน
โลก ตัณหานั้นเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ใจนั้น เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่ใจนั้น ฯ
[๒๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งใน
อดีตกาลได้เห็นอารมณ์อันเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของ
เที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของไม่มีโรค โดย
ความเป็นของเกษม สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าทำตัณหาให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทำตัณหาให้เจริญขึ้นแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่า
นั้นชื่อว่าทำอุปธิให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดมาทำอุปธิให้เจริญขึ้น
แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าทำทุกข์ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์
เหล่าใดทำทุกข์ให้เจริญขึ้นแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าไม่พ้นจากชาติ
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า เขาไม่
พ้นแล้วจากทุกข์ได้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
ในอนาคตกาล จักเห็นอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็น
ของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของไม่มีโรค โดย
ความเป็นของเกษม สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าจักทำตัณหาให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดจักทำตัณหาให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
ชื่อว่าจักทำอุปธิให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดจักทำอุปธิให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าจักทำทุกข์ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์
เหล่าใดจักทำทุกข์ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าจักไม่พ้นไปจาก
ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่าเขาจัก
ไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
ในปัจจุบันนี้ เห็นอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของเที่ยง
โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของไม่มีโรค โดยความเป็น
ของเกษม สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมทำตัณหาให้เจริญขึ้น สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่าใด ทำตัณหาให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า
ย่อมทำอุปธิให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทำอุปธิให้เจริญขึ้น สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าย่อมทำทุกข์ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
ทำทุกข์ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า เขาย่อม
ไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย ดังนี้ ฯ
[๒๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขันสำริดที่ใส่น้ำ ที่ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น
และรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ทันใดนั้น มีบุรุษเดินฝ่าความร้อนอบอ้าวเหน็ด
เหนื่อยเมื่อยล้ามา ระหายน้ำ คนทั้งหลายจึงได้พูดกะบุรุษผู้นั้นอย่างนี้ว่า นาย
ขันสำริดที่ใส่น้ำนี้ ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น และรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ถ้าท่าน
ประสงค์ก็จงดื่มเถิด เพราะว่าเมื่อดื่มน้ำนั้น ก็จักซาบซ่านด้วยสีบ้าง กลิ่นบ้าง
รสบ้าง ก็แหละครั้นดื่มเข้าไปแล้ว ตัวท่านจะถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบตาย
เพราะการดื่มนั้นเป็นเหตุ ดังนี้ บุรุษนั้นผลุนผลันไม่ทันพิจารณาดื่มน้ำนั้นเข้าไป
ไม่บ้วนทิ้งเลย เขาก็พึงถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบตาย เพราะการดื่มน้ำนั้น
เป็นเหตุทันที แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่า
หนึ่งในอดีตกาล ได้เห็นอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลก ฯลฯ ในอนาคตกาล
ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันนี้ เห็นอารมณ์เป็นที่รักเป็น
ที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน
โดยความเป็นของไม่มีโรค โดยความเป็นของเกษม สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
ชื่อว่า ย่อมทำตัณหาให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทำตัณหาให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าย่อมทำอุปธิให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์
เหล่าใดทำอุปธิให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าย่อมทำทุกข์ให้เจริญ
ขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทำทุกข์ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
ชื่อว่าย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส
เรากล่าวว่า เขาย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ
[๒๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งใน
อดีตกาล ได้เห็นอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของไม่
เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน โดยความเป็นโรค
โดยความเป็นภัยแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าละตัณหาได้แล้ว สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่าใด ละตัณหาได้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า
ละอุปธิเสียได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดละอุปธิได้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นชื่อว่าละทุกข์เสียได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดละทุกข์ได้แล้ว สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าพ้นแล้วจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัสและอุปายาสได้ เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นพ้นแล้วจากทุกข์
ได้ อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จักเห็นอารมณ์
อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์
โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน โดยความเป็นโรค โดยความเป็นภัย สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่านั้นจักละตัณหาได้ ฯลฯ เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
จักพ้นจากทุกข์ ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่า
หนึ่งในปัจจุบันกาล ย่อมเห็นอารมณ์อันเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดย
ความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน โดย
ความเป็นโรค โดยความเป็นภัย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมละตัณหาได้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดย่อมละตัณหาได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า
ย่อมละอุปธิได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดย่อมละอุปธิได้ สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นชื่อว่าย่อมละทุกข์ได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดย่อมละทุกข์ได้ สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมพ้นจากทุกข์ได้
ดังนี้ ฯ
[๒๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แก้วเหล้าที่ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่นและรส
แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ทันใดนั้น มีบุรุษเดินฝ่าความร้อนอบอ้าวเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
มา ระหายน้ำ คนทั้งหลายจึงได้พูดกะบุรุษผู้นั้นอย่างนี้ว่า นาย แก้วเหล้าที่ถึง
พร้อมด้วยสี กลิ่น และรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ถ้าท่านประสงค์ ก็จงดื่มเถิด
เพราะว่าเมื่อดื่มเหล้านั้น ก็จักซาบซ่านด้วยสีบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง ก็แหละ
ครั้นดื่มเข้าไปแล้ว ตัวท่านจักถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบตาย เพราะการดื่ม
นั้นเป็นเหตุ ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น บุรุษนั้นพึงคิดอย่างนี้ว่า เหล้านี้
เราดื่มแล้ว เราอาจจะบรรเทาได้ด้วยน้ำเย็น ด้วยเนยใส ด้วยน้ำข้าวสัตตุเค็ม หรือ
ด้วยน้ำชื่อโลณโสจิรกะ แต่เราจะไม่ดื่มเหล้านั้นเลย เพราะไม่เป็นประโยชน์ มี
แต่ทุกข์แก่เราช้านาน เขาพิจารณาดูแก้วเหล้านั้นแล้ว ไม่พึงดื่ม เขาทิ้งเสีย เขา
ก็ไม่เข้าถึงความตาย หรือความทุกข์แทบตาย เพราะการดื่มนั้นเป็นเหตุ แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล เห็นอารมณ์
อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์
โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน โดยความเป็นโรค โดยความเป็นภัยแล้ว สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าละตัณหาได้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดละ
ตัณหาเสียได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าละอุปธิได้แล้ว สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใดละอุปธิเสียได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าละทุกข์ได้แล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดละทุกข์เสียได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า
พ้นแล้วจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นพ้นแล้วจากทุกข์ ดังนี้ ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล ฯลฯ ในปัจจุบัน
กาล ย่อมเห็นอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของไม่
เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน โดยความเป็นโรค
โดยความเป็นภัย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าย่อมละตัณหาได้ สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใด ย่อมละตัณหาได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าย่อมละ
อุปธิได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดย่อมละอุปธิได้ สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นชื่อว่าย่อมละทุกข์ได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดย่อมละทุกข์ได้ สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมพ้นจากทุกข์
ได้ ดังนี้ ฯ

จบสูตรที่ ๖

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ บรรทัดที่ ๒๘๕๕ - ๓๐๐๕. หน้าที่ ๑๑๘ - ๑๒๔.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v ... agebreak=0


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2011, 16:58 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


๗. นฬกลาปิยสูตร

[๒๖๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะ อยู่ ณ
ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่าน
พระมหาโกฏฐิตะออกจากที่พักผ่อน เข้าไปหาพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับ
ท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง ฯ
[๒๖๔] ท่านพระมหาโกฏฐิตะนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวคำนี้กะท่าน
พระสารีบุตรว่า ท่านสารีบุตร ชราและมรณะ ตนทำเอง ผู้อื่นทำให้ ทั้งตน
ทำเองทั้งผู้อื่นทำให้ หรือว่า ชราและมรณะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง
ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ ฯ
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านโกฏฐิตะ ชราและมรณะ ตนทำเองก็
ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเองทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ บังเกิดขึ้นเพราะ
อาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ก็ไม่ใช่ แต่ว่าเพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมี
ชราและมรณะ ฯ
โก. ท่านสารีบุตร ชาติ ตนทำเอง ผู้อื่นทำให้ ทั้งตนทำเองทั้งผู้อื่น
ทำให้ หรือว่าชาติบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ ฯ
สา. ท่านโกฏฐิตะ ชาติ ตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเอง
ทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ชาติบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้
ก็ไม่ใช่ แต่เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ ฯ
โก. ท่านสารีบุตร ภพตนทำเอง ฯลฯ อุปาทานตนทำเอง ... ตัณหาตน
ทำเอง ... เวทนาตนทำเอง ... ผัสสะตนทำเอง ... สฬายตนะตนทำเอง ... นามรูป
ตนทำเอง ผู้อื่นทำให้ ทั้งตนทำเองทั้งผู้อื่นทำให้ หรือว่านามรูปบังเกิดขึ้นเพราะ
อาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ ฯ
สา. ท่านโกฏฐิตะ นามรูปตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตน
ทำเองทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ นามรูปบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้
ทำให้ ก็ไม่ใช่ แต่เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ฯ
โก. ท่านสารีบุตร วิญญาณตนทำเอง ผู้อื่นทำให้ ทั้งตนทำเองทั้งผู้อื่น
ทำให้ หรือว่าวิญญาณบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ ฯ
สา. ท่านโกฏฐิตะ วิญญาณตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตน
ทำเองทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ วิญญาณบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่น
ไม่ได้ทำให้ ก็ไม่ใช่ แต่เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯ
[๒๖๕] โก. เราทั้งหลายเพิ่งรู้ชัดภาษิตของท่านสารีบุตรในบัดนี้เอง
อย่างนี้ว่า ท่านโกฏฐิตะ นามรูปตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตน
ทำเองทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้
ก็ไม่ใช่ แต่เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ฯ
อนึ่ง เราทั้งหลายรู้ชัดภาษิตของท่านสารีบุตรในบัดนี้เอง อย่างนี้ว่า ท่าน
โกฏฐิตะ วิญญาณตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตน
ไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ก็ไม่ใช่ แต่เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯ
ท่านสารีบุตร ก็เนื้อความของภาษิตนี้ เราทั้งหลายจะพึงเห็นได้อย่างไร ฯ
[๒๖๖] สา. ดูกรอาวุโส ถ้าเช่นนั้น ผมจักเปรียบให้ท่านฟัง ในโลกนี้
บุรุษผู้ฉลาดบางพวกย่อมรู้ชัดเนื้อความของภาษิตได้ แม้ด้วยอุปมา ฯ
อาวุโส ไม้อ้อ ๒ กำ พึงตั้งอยู่ได้เพราะต่างอาศัยซึ่งกันและกันฉันใด
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะ
นามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ฯลฯ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฉันนั้นแล ฯ
ถ้าไม้อ้อ ๒ กำนั้น พึงเอาออกเสียกำหนึ่ง อีกกำหนึ่งก็ล้มไป ถ้าดึงอีก
กำหนึ่งออก อีกกำหนึ่งก็ล้มไป ฉันใด เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ เพราะ
วิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะ
ดับ ผัสสะจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
ฉันนั้นแล ฯ
[๒๖๗] โก. น่าอัศจรรย์ ท่านสารีบุตร ไม่เคยมีมา ท่านสารีบุตร
เท่าที่ท่านสารีบุตรกล่าวนี้ เป็นอันกล่าวดีแล้ว ก็แลเราทั้งหลายพลอยยินดีสุภาษิตนี้
ของท่านสารีบุตรด้วยเรื่อง ๓๖ เรื่องเหล่านี้ ฯ
ถ้าภิกษุแสดงธรรม เพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับชราและ
มรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุธรรมกถึก ฯ
ถ้าภิกษุปฏิบัติ เพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับชราและมรณะ
ควรจะกล่าวว่า ภิกษุปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ฯ
ถ้าภิกษุหลุดพ้น เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะ
ความดับ เพราะไม่ถือมั่นชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุบรรลุนิพพานใน
ปัจจุบัน ฯ
ถ้าภิกษุแสดงธรรม เพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับชาติ ฯลฯ
ภพ ... อุปาทาน ... ตัณหา ... เวทนา ... ผัสสะ ... สฬายตนะ ... นามรูป ... วิญญาณ ...
สังขารทั้งหลาย ... อวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุธรรมกถึก ฯ
ถ้าภิกษุปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับอวิชชา ควรจะ
กล่าวว่า ภิกษุปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ฯ
ถ้าภิกษุหลุดพ้นเพราะความหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะความดับ
เพราะความไม่ถือมั่นอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน ฯ

จบสูตรที่ ๗

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ บรรทัดที่ ๓๐๐๖ - ๓๐๗๓. หน้าที่ ๑๒๔ - ๑๒๖.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v ... agebreak=0


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2011, 16:58 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


๘. โกสัมพีสูตร

[๒๖๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระมุสิละ ท่านพระปวิฏฐะ ท่านพระนารทะ
และท่านพระอานนท์ อยู่ ณ โฆสิตาราม เขตเมืองโกสัมพี ฯ
[๒๖๙] ครั้งนั้น ท่านพระปวิฏฐะได้กล่าวคำนี้กะท่านพระมุสิละว่า ดูกร
ท่านมุสิละ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตาม
อาการ และจากการทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ท่านมุสิละมีญาณเฉพาะตัวท่านว่า
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ ดังนี้หรือ ฯ
พระมุสิละกล่าวว่า ท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟัง
ตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ และการทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ผมย่อมรู้
ย่อมเห็นอย่างนี้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ ฯ
ป. ท่านมุสิละ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความ
ตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ท่านมุสิละมีญาณเฉพาะตัว
ท่านว่า เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ฯลฯ เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ...
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ... เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ...
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ... เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ...
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ ... เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ...
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
ดังนี้หรือ ฯ
ม. ท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา
ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็น
อย่างนี้ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ฯ
[๒๗๐] ป. ดูกรท่านมุสิละ อนึ่ง เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การ
ฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ท่านมุสิละ
มีญาณเฉพาะตัวท่านว่า เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ ดังนี้หรือ ฯ
ม. ดูกรท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา
ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็น
อย่างนี้ว่า เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ
ป. ดูกรท่านมุสิละ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา
ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ท่านมุสิละมีญาณเฉพาะ
ตัวท่านว่า เพราะภพดับ ชาติจึงดับ ฯลฯ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ... เพราะ
ตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ... เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ... เพราะผัสสะดับ เวทนา
จึงดับ ... เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ... เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ ...
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ... เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... เพราะ
อวิชชาดับ สังขารจึงดับ ดังนี้หรือ ฯ
ม. ดูกรท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา
ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็น
อย่างนี้ว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ฯ
[๒๗๑] ป. ดูกรท่านมุสิละ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟัง
ตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ท่านมุสิละ
มีญาณเฉพาะตัวท่านว่า ภพดับ เป็นนิพพานหรือ ฯ
ม. ดูกรท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา
ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็น
อย่างนี้ว่า ภพดับ เป็นนิพพาน ฯ
ป. ถ้าอย่างนั้น ท่านมุสิละ ก็เป็นพระอรหันตขีณาสพ ฯ
เมื่อพระปวิฏฐะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านมุสิละได้นิ่งอยู่ ฯ
[๒๗๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระนารทะได้กล่าวกะท่านปวิฏฐะว่า สาธุ
ท่านปวิฏฐะ ผมพึงได้ปัญหานั้น ท่านจงถามปัญหาอย่างนั้น ผมจะแก้ปัญหานั้น
แก่ท่าน ท่านปวิฏฐะกล่าวว่า ท่านนารทะได้ปัญหานั้น ผมขอถามปัญหานั้นกะท่าน
นารทะ และขอท่านนารทะจงแก้ปัญหานั้นแก่ผม ดูกรท่านนารทะ เว้นจากความ
เชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความ
เพ่งพินิจด้วยทิฐิ ท่านนารทะมีญาณเฉพาะตัวท่านว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมี
ชราและมรณะ ดังนี้หรือ ฯ
นา. ท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา
ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็น
อย่างนี้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ ฯ
ป. ท่านนารทะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา
การตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ท่านนารทะมีญาณเฉพาะ
ตัวท่านว่า เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ฯลฯ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมี
สังขาร ดังนี้หรือ ฯ
นา. ท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความ
ตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยอิฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็นอย่างนี้ว่า
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ฯ
[๒๗๓] ป. ดูกรท่านนารทะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟัง
ตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ท่านนารทะ
มีญาณเฉพาะตัวท่านว่า เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ ฯลฯ เพราะอวิชชา
ดับ สังขารจึงดับ ดังนี้หรือ ฯ
นา. ท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา
ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็น
อย่างนี้ว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ฯ
[๒๗๔] ป. ดูกรท่านนารทะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟัง
ตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ท่านนารทะ
มีญาณเฉพาะตัวท่านว่า ภพดับเป็นนิพพาน ดังนี้หรือ ฯ
นา. ท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความ
ตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็นอย่างนี้ว่า
ภพดับเป็นนิพพาน ฯ
ป. ถ้าอย่างนั้น ท่านนารทะก็เป็นพระอรหันตขีณาสพหรือ ฯ
นา. อาวุโส ข้อว่าภพดับเป็นนิพพาน ผมเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริง แต่ว่าผมไม่ใช่พระอรหันตขีณาสพ อาวุโส เปรียบเหมือนบ่อน้ำ
ในหนทางกันดาร ที่บ่อนั้นไม่มีเชือกโพงจะตักน้ำก็ไม่มี ลำดับนั้นบุรุษถูกความร้อน
แผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย เดินมา เขามองดูบ่อน้ำนั้น ก็รู้ว่ามีน้ำ
แต่จะสัมผัสด้วยกายไม่ได้ ฉันใด ดูกรอาวุโส ข้อว่า ภพดับเป็นนิพพาน ผม
เห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แต่ว่า ผมไม่ใช่พระอรหันตขีณาสพ
ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
[๒๗๕] เมื่อท่านพระนารทะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าว
กะท่านพระปวิฏฐะว่า ดูกรท่านปวิฏฐะ ท่านชอบพูดอย่างนี้ ท่านได้พูดอะไร
กะท่านนารทะบ้าง พระปวิฏฐะกล่าวว่า ท่านอานนท์ ผมพูดอย่างนี้ ไม่ได้พูด
อะไรกะท่านนารทะ นอกจากกัลยาณธรรม นอกจากกุศลธรรม ฯ

จบสูตรที่ ๘

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ บรรทัดที่ ๓๐๗๔ - ๓๑๖๑. หน้าที่ ๑๒๗ - ๑๓๐.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v ... agebreak=0


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2011, 16:59 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


๙. อุปยสูตร

[๒๗๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ
[๒๗๗] ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้ว
ได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมหาสมุทรน้ำขึ้น ย่อมทำให้แม่น้ำใหญ่น้ำขึ้น
เมื่อแม่น้ำใหญ่น้ำขึ้น ย่อมทำให้แม่น้ำน้อยน้ำขึ้น เมื่อแม่น้ำน้อยน้ำขึ้น ย่อม
ทำให้บึงใหญ่น้ำขึ้น เมื่อบึงใหญ่น้ำขึ้น ย่อมทำให้บึงน้อยน้ำขึ้น ฉันใด ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เมื่ออวิชชาเกิด ย่อมทำให้สังขารเกิด เมื่อสังขารเกิด ย่อมทำให้
วิญญาณเกิด เมื่อวิญญาณเกิด ย่อมทำให้นามรูปเกิด เมื่อนามรูปเกิด ย่อมทำให้
สฬายตนะเกิด เมื่อสฬายตนะเกิด ย่อมทำให้ผัสสะเกิด เมื่อผัสสะเกิด ย่อมทำให้
เวทนาเกิด เมื่อเวทนาเกิด ย่อมทำให้ตัณหาเกิด เมื่อตัณหาเกิด ย่อมทำให้อุปาทาน
เกิด เมื่ออุปาทานเกิด ย่อมทำให้ภพเกิด เมื่อภพเกิด ย่อมทำให้ชาติเกิด เมื่อชาติ
เกิด ย่อมทำให้ชราและมรณะเกิด ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
[๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมหาสมุทรน้ำลง ย่อมทำให้แม่น้ำใหญ่
ลดลง เมื่อแม่น้ำใหญ่ลดลง ย่อมทำให้แม่น้ำน้อยลดลง เมื่อแม่น้ำน้อยลดลง
ย่อมทำให้บึงใหญ่ลดลง เมื่อบึงใหญ่ลดลง ย่อมทำให้บึงน้อยลดลง ฉันใด เมื่อ
อวิชชาไม่เกิด ย่อมทำให้สังขารไม่เกิด เมื่อสังขารไม่เกิด ย่อมทำให้วิญญาณ
ไม่เกิด เมื่อวิญญาณไม่เกิด ย่อมทำให้นามรูปไม่เกิด เมื่อนามรูปไม่เกิด ย่อม
ทำให้สฬายตนะไม่เกิด เมื่อสฬายตนะไม่เกิด ย่อมทำให้ผัสสะไม่เกิด เมื่อผัสสะ
ไม่เกิด ย่อมทำให้เวทนาไม่เกิด เมื่อเวทนาไม่เกิด ย่อมทำให้ตัณหาไม่เกิด เมื่อ
ตัณหาไม่เกิด ย่อมทำให้อุปาทานไม่เกิด เมื่ออุปาทานไม่เกิด ย่อมทำให้ภพไม่เกิด
เมื่อภพไม่เกิด ย่อมทำให้ชาติไม่เกิด เมื่อชาติไม่เกิด ย่อมทำให้ชราและมรณะ
ไม่เกิด ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

จบสูตรที่ ๙

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ บรรทัดที่ ๓๑๖๒ - ๓๑๘๖. หน้าที่ ๑๓๐ - ๑๓๑.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v ... agebreak=0


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2011, 17:00 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๐. สุสิมสูตร

[๒๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคอันเทวดาและมนุษย์ทั้งมวล
สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และเภสัชบริขารเป็นปัจจัยแก่คนไข้ แม้ภิกษุสงฆ์อันเทวดาและมนุษย์ทั้งมวลก็
สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
เภสัชบริขารเป็นปัจจัยแก่คนไข้ แต่พวกปริพาชกเดียรถีย์อื่น อันเทวดาและ
มนุษย์ทั้งมวลไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่ยำเกรง ไม่ได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารเป็นปัจจัยแก่คนไข้ ฯ
[๒๘๐] สมัยนั้นแล สุสิมปริพาชกอาศัยอยู่ ณ พระนครราชคฤห์กับ
ปริพาชกบริษัทเป็นอันมาก ครั้งนั้นแล บริษัทของสุสิมปริพาชกได้กล่าวกะสุสิม-
*ปริพาชกว่า มาเถิดท่านสุสิมะ ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระสมณ
โคดม ท่านเรียนธรรมแล้ว พึงบอกข้าพเจ้าทั้งหลาย พวกข้าพเจ้าเรียนธรรม
นั้นแล้วจักกล่าวแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้พวกเราก็จักมีเทวดาและ
มนุษย์ทั้งมวลสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง จักได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และเภสัชบริขารเป็นปัจจัยแก่คนไข้ ฯ
สุสิมปริพาชกยอมรับคำบริษัทของตน แล้วเข้าไปหาท่านพระอานนท์
ถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัย
พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นสุสิมปริพาชกนั่งเรียบ-
*ร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านพระอานนท์ ผมปรารถนาจะประพฤติ
พรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้ ฯ
[๒๘๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์พาสุสิมปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระ
พุทธเจ้าข้า สุสิมปริพาชกผู้นี้กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านพระอานนท์ ผมปรารถนา
จะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้สุสิมปริพาชก
บวช ฯ
สุสิมปริพาชกได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ
[๒๘๒] สมัยนั้นแล ได้ยินว่า ภิกษุเป็นอันมากอวดอ้างพระอรหัตผล
ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์
อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ
ท่านสุสิมะได้ฟังมาว่า ภิกษุเป็นอันมากอวดอ้างพระอรหัตผลในสำนัก
พระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ
ทันใดนั้นเอง ท่านสุสิมะก็เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับ
ภิกษุเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ครั้นท่านสุสิมะนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ได้ยินว่า
ท่านทั้งหลายอวดอ้างพระอรหัตผลในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระองค์ทั้งหลาย
รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้จริงหรือ ฯ
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า จริงอย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
[๒๘๓] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อม
บรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้
ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัด
เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตก
เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์
พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอด
พรหมโลกก็ได้ บ้างหรือหนอ ฯ
ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ ฯ
[๒๘๔] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อม
ได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วย
ทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ บ้างหรือหนอ ฯ
ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ ฯ
[๒๘๕] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อม
กำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ
หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือ
จิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือ
จิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิต
ฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็น
มหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือ
จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ
หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือ
จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น บ้างหรือหนอ ฯ
ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ ฯ
[๒๘๖] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อม
ระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติ
บ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบ
ชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏ-
*กัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏกัปวิวัฏกัป
เป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณ
อย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขและทุกข์อย่างนั้น มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น ในภพนั้น เรามีชื่ออย่างนั้น
มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขและทุกข์อย่างนั้น
มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้น แล้วมาเกิดในภพนี้ ย่อมระลึกถึง
ชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้
บ้างหรือหนอ ฯ
ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ ฯ
[๒๘๗] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อม
เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม
ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์
ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต
วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วย
อำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายเพราะกายแตกดับไป ก็เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ส่วนสัตว์เหล่านั้น ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโน
สุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ
เมื่อตายเพราะกายแตกดับไป ก็เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลัง
จุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วย
ทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วย
ประการฉะนี้ บ้างหรือหนอ ฯ
ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ ฯ
[๒๘๘] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อม
ถูกต้องอารูปวิโมกข์อันสงบ ก้าวล่วงรูปวิโมกข์ทั้งหลายด้วยกาย บ้างหรือหนอ ฯ
ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ ฯ
[๒๘๙] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย คำตอบนี้ และการไม่เข้าถึงธรรม
เหล่านี้ มีอยู่ในเรื่องนี้ในบัดนี้ อาวุโส เรื่องนี้ เป็นอย่างไรแน่ ฯ
ภิ. ท่านสุสิมะ ผมทั้งหลายหลุดพ้นได้ด้วยปัญญา ฯ
สุ. ผมไม่เข้าใจเนื้อความแห่งคำที่ท่านทั้งหลายกล่าวโดยย่อนี้โดยพิสดาร
ได้ ขอท่านทั้งหลายจงกล่าวแก่ผม เท่าที่ผมจะพึงเข้าใจเนื้อความแห่งคำที่ท่าน
ทั้งหลายกล่าวโดยย่อนี้ โดยพิสดารเถิด ฯ
ภิ. ท่านสุสิมะ ท่านพึงเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม แต่ผมทั้งหลายก็หลุด
พ้นได้ด้วยปัญญา ฯ
[๒๙๐] ครั้งนั้นแล ท่านสุสิมะลุกจากอาสนะแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นท่านสุสิมะนั่งเรียบร้อยแล้ว กราบทูลถ้อยคำที่สนทนากับภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด
แด่พระผู้มีพระภาค ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สุสิมะ ธรรมฐิติญาณเกิดก่อน ญาณในพระ
นิพพานเกิดภายหลัง ฯ
พระสุสิมะกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เข้าใจเนื้อความ
แห่งคำที่พระองค์ตรัสไว้โดยย่อนี้โดยพิสดารได้ ขอพระผู้มีพระภาคจงตรัสแก่
ข้าพระองค์ เท่าที่ข้าพระองค์จะพึงเข้าใจ เนื้อความแห่งพระดำรัส ที่พระองค์ตรัสโดย
ย่อนี้ โดยพิสดารเถิด ฯ
[๒๙๑] พ. ดูกรสุสิมะ เธอจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม โดยแท้จริงแล้ว
ธรรมฐิติญาณเกิดก่อน ญาณในพระนิพพานเกิดทีหลัง สุสิมะ เธอจะเข้าใจความ
ข้อนั้นอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควร
หรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า ฯ
พ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควร
หรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า ฯ
พ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควร
หรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า ฯ
พ. สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควร
หรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า ฯ
พ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควร
หรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า ฯ
[๒๙๒] พ. ดูกรสุสิมะ เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่
เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี
อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี รูปทั้งหมดนั่นอันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตาม
ความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายใน
ก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี
ในที่ใกล้ก็ดี เวทนาทั้งหมดนั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายใน
ก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี
ในที่ใกล้ก็ดี สัญญาทั้งหมดนั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็น
จริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี
ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่
ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี สังขารทั้งหลายทั้งหมดนั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอัน
ชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตน
ของเรา ฯ
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายใน
ก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี
ในที่ใกล้ก็ดี วิญญาณทั้งหมดนั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็น
จริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
[๒๙๓] พ. ดูกรสุสิมะ อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อ
หน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขารทั้งหลาย แม้ใน
วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้น ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
มิได้มี ฯ
[๒๙๔] พ. ดูกรสุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา
และมรณะหรือ ฯ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติหรือ ฯ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพหรือ ฯ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทานหรือ ฯ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ... เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ... เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
จึงมีเวทนา ... เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ... เพราะนามรูปเป็นปัจจัย
จึงมีสฬายตนะ ... เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ... เพราะสังขารเป็น
ปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
หรือ ฯ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
[๒๙๕] พ. ดูกรสุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะชาติดับ ชราและมรณะ
จึงดับหรือ ฯ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะภพดับ ชาติจึงดับหรือ ฯ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ... เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ... เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึง
ดับ ... เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ... เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ...
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ... เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ ...
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ... เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... เพราะ
อวิชชาดับ สังขารจึงดับหรือ ฯ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
[๒๙๖] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมบรรลุอิทธิวิธี
หลายประการ คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้
ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัด เหมือน
ไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือน
เดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปบนอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์
พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอด
พรหมโลกก็ได้ บ้างหรือหนอ ฯ
สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
[๒๙๗] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมได้ยินเสียงสอง
ชนิด คือเสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกล และอยู่ใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุ
อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์บ้างหรือหนอ ฯ
สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
[๒๙๘] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมกำหนดรู้ใจของ
สัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ ฯลฯ จิตไม่
หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่าจิตไม่หลุดพ้น บ้างหรือหนอ ฯ
สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
[๒๙๙] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมระลึกถึงชาติก่อน
ได้เป็นอันมาก คือชาติหนึ่งบ้าง ฯลฯ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อม
ทั้งอาการ ทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ บ้างหรือหนอ ฯ
สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
[๓๐๐] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่
กำลังจุติ ฯลฯ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์
ผู้เป็นไปตามกรรม บ้างหรือหนอ ฯ
สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
[๓๐๑] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมถูกต้องอารูปวิโมกข์
อันสงบ ก้าวล่วงรูปวิโมกข์ทั้งหลาย ด้วยกายบ้างหรือหนอ ฯ
สุ. มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
[๓๐๒] พ. ดูกรสุสิมะ คำตอบนี้ และการไม่เข้าถึงธรรมเหล่านี้มีอยู่
ในเรื่องนี้ ในบัดนี้ เรื่องนี้เป็นอย่างไรแน่ ฯ
ลำดับนั้นเอง ท่านสุสิมะหมอบลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาค
ด้วยเศียรเกล้า ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า โทษได้ตกถึง
ข้าพระองค์ เท่าที่โง่ เท่าที่หลง เท่าที่ไม่ฉลาด ข้าพระองค์บวชขโมยธรรมใน
ธรรมวินัยที่พระองค์ตรัสดีแล้วอย่างนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงรับโทษไว้โดยความ
เป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไป ของข้าพระองค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า ฯ
[๓๐๓] พ. เอาเถิด สุสิมะ โทษได้ตกถึงเธอ เท่าที่โง่ เท่าที่หลง
เท่าที่ไม่ฉลาด เธอบวชขโมยธรรมในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ เปรียบ
เหมือนเจ้าหน้าที่จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแสดงตัวแก่พระราชา แล้ว กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ โจรคนนี้ ประพฤติผิดแด่พระองค์ ขอพระองค์จงทรง
ลงอาชญาตามที่พระองค์ทรงพระประสงค์แก่โจรคนนี้เถิด พระราชาพึงรับสั่งให้ลง
โทษโจรนั้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปมัดบุรุษนี้ไพล่หลังให้มั่นด้วยเชือกที่เหนียว
แล้วเอามีดโกนโกนหัวเสีย พาเที่ยวตระเวนตามถนน ตามทางสี่แยก ด้วยฆ้อง
ด้วยกลองเล็กๆ ให้ออกทางประตูด้านทักษิณ แล้วจงตัดศีรษะเสียข้างด้านทักษิณ
ของเมือง ราชบุรุษมัดโจรนั้นไพล่หลังอย่างมั่นคง ด้วยเชือกที่เหนียวแล้วเอามีด
โกนโกนหัว พาเที่ยวตระเวนตามถนน ตามทางสี่แยกด้วยฆ้อง ด้วยกลองเล็กๆ
พาออกทางประตูด้านทักษิณ พึงตัดศีรษะเสียข้างด้านทักษิณของเมือง สุสิมะ
เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นต้องเสวยทุกข์และโทมนัสอันมีกรรมนั้น
เป็นเหตุหรือหนอ ฯ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
[๓๐๔] พ. ดูกรสุสิมะ บุรุษนั้นต้องเสวยทุกข์และโทมนัสอันมีกรรม
นั้นเป็นเหตุ แต่การบวชของเธอผู้ขโมยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตกล่าวดีแล้ว
อย่างนี้ นี้ยังมีผลรุนแรงและเผ็ดร้อนกว่านั้น และยังเป็นไปเพื่อวินิบาต แต่เพราะ
เธอเห็นโทษ โดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม เราจึงรับโทษนั้นของเธอ
ผู้ใดเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป ข้อนี้
เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ ฯ

จบสูตรที่ ๑๐
จบมหาวรรคที่ ๗

-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัสสุตตวตาสูตรที่ ๑ ๒. อัสสุตตวตาสูตรที่ ๒
๓. ปุตตมังสสูตร ๔. อัตถิราคสูตร ๕. นครสูตร
๖. สัมมสสูตร ๗. นฬกลาปิยสูตร ๘. โกสัมพีสูตร
๙. อุปยสูตร ๑๐. สุสิมสูตร
-----------------------------------------------------
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ บรรทัดที่ ๓๑๘๗ - ๓๔๕๒. หน้าที่ ๑๓๑ - ๑๔๒.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v ... agebreak=0


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2011, 19:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 มี.ค. 2010, 19:57
โพสต์: 1014

โฮมเพจ: http://www.vitwong.blogspot.com
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อ้างคำพูด:
ลองอ่านพระไตรปิฎกสำนวนของ มจร. จะเข้าใจได้ครับ


ผมเองไม่มี link ของพระไตรปิฏก สำนวน มจร.
จึงไม่อาจยกมาเทียบเคียง ได้มากมาย ครับ ผม

.....................................................
ยังงมงาย...
เมื่อเห็นว่าพระไตรปิฏก มีส่วนถูก มีส่วนจริงแค่ 20 ถึง 30 เปอร์เซนต์ เท่านั้น

เลิกงมงาย..
เมื่อเห็นว่า พระไตรปิฏก มีส่วนถูก ส่วนจริง เกินกว่า 80 ถึง กว่า 90 เปอร์เซนต์

http://www.youtube.com/user/govit2554#g/u


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2011, 08:52 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


:b1: ไม่เป็นไรครับ คุณ govit2552
ที่ยกมาทั้งมหาวรรค เพราะพระสูตรทั้งหมดต่อเนื่องกันและเป็นการอธิบายถึงการเกิด ดับ ในปฏิจจสมุปบาทครับ


govit2552 เขียน:
มีคนแปล แล้วทำให้รู้สึกว่า น่าจะผิด คือประโยคนี้

ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง

ทำให้ คนอ่าน เข้าใจไปว่า

ร่างกาย เรียกอีกอย่างว่า จิต มโน วิญญาณ

จึงได้มีการแปลใหม่ ขึ้นมา ซึ่งดูเหมือนจะถูกต้องกว่าคือ


อ้างคำพูด:
.. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเบื่อหน่ายบ้าง คลาย

กำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง ในกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ความ เจริญก็ดี ความเสื่อมก็ดี

การเกิดก็ดี การตายก็ดี ของกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔

นี้ ย่อมปรากฏ ปุถุชนผู้มิได้สดับจึงเบื่อ หน่ายบ้าง คลายกำหนัด

บ้าง หลุดพ้นบ้าง ในกายนั้น


ตถาคตเรียกสิ่งนี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง ปุถุชนผู้มิได้

สดับ ไม่อาจเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นไปจากจิต เป็นต้นนั้น

ได้เลย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าจิตเป็นต้นนี้อัน

ปุถุชนมิได้สดับรวบรัดถือไว้ด้วยตัณหา ยึดถือด้วยทิฏฐิว่า นั่นของเรา

เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้ ตลอดกาลช้านาน ฉะนั้น ปุถุชน

ผู้มิได้สดับ จึงไม่อาจจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นไปจากจิตจิต

เป็นต้นนั้นได้เลย...


คำว่า กาย หรือ ร่างกายนั้น เป็นของย่อหน้าบน ไปเสีย
ร่างกาย จึง ไม่ใช่ จิต ไม่ใช่มโน ไม่ใช่ วิญญาณ
ซึ่งเป็นการแปลที่ ถูกต้อง...........................................กว่า


คุณ govit2552 ครับ

ตรงคำว่า "สิ่งนี้" ที่ผมเน้นนั้น หมายถึงสิ่งไหน
บางท่านอ่านแล้วอาจจะตีความหมายถึงวรรคแรก
หรือบางท่านอาจจะให้หมายถึงวรรคที่สอง

และที่ว่าร่างกายไม่ใช่จิต ไม่ใช่มโน ไม่ใช่วิญญาณ
แต่ทำไม
เมื่อมีผัสสะเกิดที่ตา ท่านก็เรียกว่า จักขุวิญญาณ

ฯลฯ
ศึกษาต่อที่
http://84000.org/tipitaka/read/byitem.p ... de=bracket

ผมยกมาเพื่อพิจารณาครับ ขอบคุณทุกความรู้ครับ
:b44:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2011, 09:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:

กราบขอบพระคุณทุกความคิดเห็น

โดยเฉพาะท่านที่มีฉันทะ คิดลอกพระไตรปิฎกมาให้อ่านครับ

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2011, 09:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 มี.ค. 2010, 19:57
โพสต์: 1014

โฮมเพจ: http://www.vitwong.blogspot.com
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คำว่า สิ่งนี้ ที่มีการแปลออกมาใหม่
หมายถึง จิต มโน วิญญาณ และชื่ออื่นๆครับ

คำว่า จิตเป็นต้นนั้น
หมายถึง จิต มโน วิญญาณ และชื่ออื่นๆ

จักขุวิญญาณ เป็น จิต ครับ
จิตเกิดที่ไหน เท่านั้นเอง

จิตเกิดที่ตา เรียก จักขุวิญญาณ
จิตเกิดที่หู เรียก โสตวิญญาณ
จิตเกิดที่จมูก เรียก ฆานะวิญญาณ
จิตเกิดที่ลิ้น เรียก ชิวหาวิญญาณ
จิตเกิดที่กาย เรียก กายวิญญาณ
จิตเกิดที่หทยวัตถุ เรียก มโนวิญญาณ

จิต เกิดในลักษณะ อนุกรม นะครับ ไม่ใช่ แบบขนาน
จิต เกิดได้ทีละดวงเท่านั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป

ขณะที่จิต เกิดที่ตา ........................จึงไม่มีจิตเกิดที่อื่นๆ

นี่คือ จิต เกิดไม่พร้อมกับจิต ...........................ซึ่งมียืนยันในพระไตรปิฏก

ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนครับ

.....................................................
ยังงมงาย...
เมื่อเห็นว่าพระไตรปิฏก มีส่วนถูก มีส่วนจริงแค่ 20 ถึง 30 เปอร์เซนต์ เท่านั้น

เลิกงมงาย..
เมื่อเห็นว่า พระไตรปิฏก มีส่วนถูก ส่วนจริง เกินกว่า 80 ถึง กว่า 90 เปอร์เซนต์

http://www.youtube.com/user/govit2554#g/u


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2011, 18:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 เม.ย. 2010, 09:39
โพสต์: 219

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุญาติครับ
ในบางพระสูตรนั้น ผมมีความเห็นว่า พระองค์ทรงแสดงถึง ปุถุชนผู้มิได้สดับ
แสดงถึงการเห็น การรู้ ของผู้มิได้สดับ จะรู้เห็นในลักษณะอย่างนั้น
เราทำในใจว่าหากเรา เป็นผู้มิได้สดับแล้ว มิได้ศึกษาธรรมะแต่อย่างใด
จะรู้เห็นอย่างไรบ้างในกาลก่อนนั้น ตามลักษณะที่พระองค์แสดงไว้

ส่วนตรงนี้ที่ท่าน govit2552 ยกมาว่า
"ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง"
เทียบกับในข้อความ จาก คำแปลใน http://www.84000.org
"แต่ว่า ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง"
ก็จะมีความหมายต่างกันอยู่โดยที่เดียว

ในส่วนของสำนวน มจร.ที่ท่านว่า
"ตถาคตเรียกสิ่งนี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง"
ตรงนี้ผมเองพอเข้าใจ ว่าความหมายมีลักษณะเดียวกับ
"แต่ว่า ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า "

เข้าใจว่า สำนวนทาง มจร ท่านอาจจะแปลให้ครอบคลุมไว้ ให้เข้าใจง่ายขึ้น
แต่ทั้งนี้ผมคิดว่าใช้สำนวน "แต่ว่า ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า "
น่าจะชัดเจนกว่า โดยได้ความในแต่ละวรรค แต่ละอรรถ ได้สมบูรณ์กว่าครับ
ผมเห็นอย่างนี้ครับผม ขอบคุณครับ :b1:

.....................................................
.................................................ธ ทรงครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรม
........................................................พระปฐมบรมราชโองการว่า
.......................“ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม “

........................ขอพ่อเจ้าอยู่หัว ทรงพระเจริญ มีพระชนย์มายุ ยิ่งยืนนาน พระพุทธเจ้าข้า


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 เม.ย. 2011, 05:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 17:53
โพสต์: 4999

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กระทู้นี้เป็นอีกหนึ่งในหลายกระทู้ที่ผมมีความรู้สึกตลกขบขัน
ในสิ่งที่ผู้ทรงภูมิ ผู้เก่งกาจทั้งหลาย กำลังกระทำอยู่
พวกท่านชอบว่าคนอื่น หาว่าเขาปรามาสพระไตรปิฎกบ้าง
เป็นสัทธรรมปฏิรูปบ้างล่ะ แต่ดูพวกท่านสิ เอาพระไตรปิฎกมากาง
แล้วเอานิ้วชี้ว่า มันด้องอย่างนี้มันต้องอย่างนั้น แบบนี้ไม่เป็นการปรามาสหรือครับ

มาเถียงกันในเนื้อหาพระไตรปิฎก ทำอย่างกับว่า จะทำสังคายนาพระไตรปิฎกใหม่
ถามหน่อยมานั่งเถียงกันในเรื่องนี้ แล้วท่านเอาอะไรมาเป็นหลักการ มาเป็นต้นแบบครับ

พระไตรปิฎกเป็นต้นแบบเป็นหลักการของศาสนาพุทธ พระไตรปิฎกมีไว้เพื่อเทียบเคียง
เป็นหลักการในการปฏิบัติ ถ้ามีปัญหาในการปฏิบัติเราสามารถถกกันได้ โดยยึดเอาพระไตรปิฎก
เป็นต้นแบบ

พระพุทธเจ้าเป็นผู้กำหนดสมมุติบัญญัติต่างๆในพระไตรปิฎก
ถ้าจะเถียงกันในเรื่องความหมายในพระไตรปิฎกเราต้องยึดเอา
พระพุทธเจ้าเป็นหลักการ เป็นผู้ตัดสินว่าใครถูกใครผิด
ปัญหามันมีอยู่ว่า เราจะถามพระองค็ได้อย่างไรครับ

พวกท่านผู้แก่ดีกรีทางธรรมครับ ผมสงสัยจริงๆครับว่าพวกท่าน
จะมานั่งโพสพระไตรปิฎกแข่งกันเพื่อประโยชน์อันใด
ผมว่าเด็กมันยังรู้เลยครับว่า จะหาคำศัพย์หรือเนื้อหาในพระไตรปิฎกด้วยวิธีใด

ขอร้องล่ะครับ อย่าอวดภูมิตัวเองด้วยวิธีเก่าเก็บแบบนี้เลยครับ
มันทำให้เด็กเบื่อหน่ายพระธรรมครับ และถ้าเรามองให้ดีๆพวกท่าน
กำลังเข้าข่าย สัทธรรมปฏิรูปหรือกำลังปรามาสพระพุทธพจน์อยู่นะครับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 เม.ย. 2011, 00:16 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


govit2552 เขียน:
คำว่า สิ่งนี้ ที่มีการแปลออกมาใหม่
หมายถึง จิต มโน วิญญาณ และชื่ออื่นๆครับ

คำว่า จิตเป็นต้นนั้น
หมายถึง จิต มโน วิญญาณ และชื่ออื่นๆ

จักขุวิญญาณ เป็น จิต ครับ
จิตเกิดที่ไหน เท่านั้นเอง

จิตเกิดที่ตา เรียก จักขุวิญญาณ
จิตเกิดที่หู เรียก โสตวิญญาณ
จิตเกิดที่จมูก เรียก ฆานะวิญญาณ
จิตเกิดที่ลิ้น เรียก ชิวหาวิญญาณ
จิตเกิดที่กาย เรียก กายวิญญาณ
จิตเกิดที่หทยวัตถุ เรียก มโนวิญญาณ

จิต เกิดในลักษณะ อนุกรม นะครับ ไม่ใช่ แบบขนาน
จิต เกิดได้ทีละดวงเท่านั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป

ขณะที่จิต เกิดที่ตา ........................จึงไม่มีจิตเกิดที่อื่นๆ

นี่คือ จิต เกิดไม่พร้อมกับจิต ...........................ซึ่งมียืนยันในพระไตรปิฏก

ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนครับ


ที่คุณ govit2552 ยกเอาเรื่องจิตเกิดที่... มาอธิบายในพระสูตรนี้ ผมเข้าใจความเข้าใจของคุณ แล้วครับ

Quote Tipitaka:
[๒๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย วานรเมื่อเที่ยวไปในป่าใหญ่จับกิ่งไม้ ปล่อย
กิ่งนั้น ยึดเอากิ่งอื่น ปล่อยกิ่งที่ยึดเดิม เหนี่ยวกิ่งใหม่ต่อไป
แม้ฉันใดร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ที่ตถาคตเรียกว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณ
บ้าง จิตเป็นต้นนั้นดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและกลางวัน ก็ฉัน
นั้นแล ฯ


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ บรรทัดที่ ๒๕๑๙ - ๒๕๖๖. หน้าที่ ๑๐๔ - ๑๐๕.
http://www.84000.org/tipitaka/book/v.ph ... agebreak=0[/quote]


ส่วนพระสูตรนี้เป็นการอุปมาอุปมัย (การเกิด ดับ ในวงจรปฏิจจสมุปบาท)
เปรียบ เรียกร่างกายเป็นจิตที่ท่องเที่ยวไปในป่าใหญ่
ป่าใหญ่ คือ ภพภูมิต่างๆ ใน 3 โลก
เปรียบร่างกายหรือจิตเป็นเสมือนวานร ที่เที่ยวไปใน 3 โลก เกิดภพภูมิไหนก็ยึดเอากายในภพภูมินั้น
เมื่อดับจากกายนี้ก็ ไปเกิดเป็นกายอื่นๆในภพภูมิอื่นๆ ก็เข้าไปยึดเอากายอื่นๆในภพภูมินั้นๆ เช่นนี้เรื่อยๆไป

เป็นความเข้าใจของผมครับ
ใครจะเข้าใจอย่างก็ไม่ว่ากัน ใครจะเชื่อใคร ไม่เชื่อใคร ก็ไม่ใช่ปัญหา
ใครจะคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร ก็ไม่มีใครบังคับ แล้วแต่เหตุปัจจัยของแต่ละคน
ขอบคุณน้ำใจทุกท่านที่แบ่งปันครับ

ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ต้องยกพระไตรปิฏกมาเป็นประธานครับ
โพสพระไตรปิฏก อานิสงส์เสมือนการถวายพระไตรปิฏก มีแต่ส่วนดี
อะไรก็ไม่เที่ยง เว็บพระไตรปิฏกก็ไม่เที่ยง บางครั้งเว็บลิ้งค์ก็เสียเข้าไปอ่านไม่ได้
จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะคัดลอกพระไตรปิฏกที่ตนอ้างอิงถึงมาโพสไว้ทั้งหมด

:b46:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 เม.ย. 2011, 04:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 มี.ค. 2010, 19:57
โพสต์: 1014

โฮมเพจ: http://www.vitwong.blogspot.com
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อ้างคำพูด:
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน
ความทะยานอยาก ไม่มีอยู่ในกวฬิงการาหารไซร้ ... ในผัสสาหารไซร้ ... ในมโนสัญ-
*เจตนาหารไซร้ ... ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในวิญญาณา-
*หารนั้น ในที่ใด วิญญาณไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมไม่มีการหยั่งลง
แห่งนามรูป ในที่ใด ไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเจริญ
แห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใด ไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อม
ไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใด ไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น
ย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใด ไม่มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่า
ไม่มีความโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น ฯ


ลองยกมาย่อหน้าหนึ่ง ของคุณ Narapan

ในความเห็นของผม
ปฏิจจสมุปบาท พูดถึง สาเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
และการยุติการเวียนว่ายตาย เกิด โดยการปรินิพพาน(ไม่มีความเจริญในสังขารทั้งหลาย)

ก็เท่านั้นครับ

และมีบางอย่าง เสนอ คุณ Narapan ครับ
การยก พระไตรปิฏก ถ้ายกมาทั้งยาวๆ ทำให้รู้สึกไม่อยากอ่านครับ
เอามาแค่ประโยค สองประโยค แล้วทำเป็น link ไป ก็คงพอครับ
หรือไม่ก็ยกมาทั้งยาว แต่ทำ ไฮไลท์เอาไว้เฉพาะจุดที่ต้องการสื่อ ต้องการเน้น
ก็ดีครับ จะได้ไม่ต้องอ่านไปทั้งยาวๆ สร้างความน่าเบื่อ ไม่อยากอ่านครับ

.....................................................
ยังงมงาย...
เมื่อเห็นว่าพระไตรปิฏก มีส่วนถูก มีส่วนจริงแค่ 20 ถึง 30 เปอร์เซนต์ เท่านั้น

เลิกงมงาย..
เมื่อเห็นว่า พระไตรปิฏก มีส่วนถูก ส่วนจริง เกินกว่า 80 ถึง กว่า 90 เปอร์เซนต์

http://www.youtube.com/user/govit2554#g/u


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 51 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร