วันเวลาปัจจุบัน 27 ก.ค. 2025, 20:59  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2013, 01:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 ก.ค. 2013, 22:08
โพสต์: 92

แนวปฏิบัติ: สมถะกรรมฐาน
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
สิ่งที่ชื่นชอบ: การทำสังฆทาน
ชื่อเล่น: ไผ่
อายุ: 21

 ข้อมูลส่วนตัว


คืออยากรู้ว่าเป็นเหมือนการทำบุญซื้อที่ดินบริจาควัดให้มีวิหาร มีกุฏิ มีเจดีย์ ใช่ไหมครับ

หรือพระท่านสำรองเงินไว้ทีหลัง แล้วอานิสงส์ คือมีวิมานเกิดบนสวรรค์หรอครับ ในเว็บบอกไว้

ขอบคุณมากนะครัีบ

.....................................................
อย่าได้เห็นแก่ความสุข สนุกสนานชั่วครู่คราว
เพราะผลกรรมที่ตามมามันสุดแสนจะ
ทุกข์ทรมาน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2013, 06:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 10:18
โพสต์: 590

โฮมเพจ: www.bhuddhakhun.blogspot.com
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


PaiKung26 เขียน:
คืออยากรู้ว่าเป็นเหมือนการทำบุญซื้อที่ดินบริจาควัดให้มีวิหาร มีกุฏิ มีเจดีย์ ใช่ไหมครับ

หรือพระท่านสำรองเงินไว้ทีหลัง แล้วอานิสงส์ คือมีวิมานเกิดบนสวรรค์หรอครับ ในเว็บบอกไว้

ขอบคุณมากนะครัีบ


กราบเรียนท่านสมาชิกไผ่คุง บุญนั้นสำเร็จได้ด้วยเจตนา ไม่เกี่ยวกับขนาดหรือ
จำนวนเงินท่านว่าไว้ ดังจะยกมาอ้างอิงเพื่อให้ท่านได้ศึกษาดังนี้



ถ้าพูดถึงการทำบุญทำทาน คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าคือ การตักบาตร บริจาคทรัพท์สิ่งของ และการไปร่วมงานบุญต่างๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกต้องเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะตามหลักคำสอนทางพุทธศาสนา แบ่งการทำบุญออกเป็น ๑๐ ประเภท บางประเภทก็ง่ายจนคนคิดไม่ถึง ไม่จำเป็นต้องเสียเงินเสียทอง เพียงมีเจตนาที่ดีเท่านั้น เรามาดูกันดีกว่าว่า การทำบุญทั้ง ๑๐ ประการมีอะไรบ้าง

บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน ข้อดีรู้จักกันดี เป็นการทำบุญที่เกิดจากการสละทรัพย์สิน สิ่งของ แต่ขอเพิ่มเติมอีกสักนิดว่า การทำบุญด้วยการบริจาคทานนั้น พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ว่า ควรมีเจตนาที่บริสุทธิ์ ให้ด้วยความปรารถนาดี เพื่อให้ผู้รับได้สิ่งจำเป็นที่ต้องการ และสิ่งของที่ให้ต้องอยู่ ในสภาพที่ใช้งานได้ เช่นบริจาคอาหารที่หมดอายุแล้ว เพราะเห็นว่าของเหลือเยอะ อันนี้ไม่นับว่าบริจาคนะ อันนี้เรียกว่าหาที่ทิ้งของ เว้นแต่ผู้รับรู้อยู่ว่าของเสียแต่ต้องการนำไปเป็นประโยชนื เช่นไปทำปุ๋ย เป็นต้น และการทำบุญบริจาค ต้องดูความเหมาะสมกับผู้ได้รับด้วย และไม่ควรให้สิ่งของที่เป็นอบายมุข เช่น เหล้า บุหรี่ อันนี้ผิดศีลนะครับ เพราะได้ชื่อว่าสนับสนุนให้คนผิดศีล...
บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ข้อนี้ไม่ต้องเสียเงินเสียทองเพียงประพฤติตนอยู่ในศีล ไม่พาตัวไปมั่วอบายมุข ก็นับว่าได้ทำบุญแล้ว ผู้รักษาศีลจึงถือว่าเป็นผู้ที่ได้ทำบุญทำทานแล้ว ทั้งยังพาตนเอง และคนรอบข้าง ห่างไกลปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากอบายมุขด้วย...
บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา ข้อนี้เป็นบุญทาน ที่ได้จากการปฏิบัติ เมื่อทำเจริญภาวนาจิตใจสงบ ในขณะที่จิตใจสงบ เราก็ไม่ละเมิดศีลข้อใด ไปพร้อมๆกับการระงับ ความโลภ ความโกรธ ความหลง นับว่าเป็นการทำบูญอย่างหนึ่ง และเมื่อเราเจริญภาวนา คิดแต่สิ่งที่ดี ทั้งกับตนเอง และผู้อื่น จึงเป็นการทำบุญ เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง การเจริญภาวนานอกจากหมายถึง การนั่งสมาธิ การสวดมนต์ในห้องพระ หรือที่วัดแล้ว เราสามารถทำในช่วงที่ว่างระหว่างวันได้ วันละนิดวันละหน่อย จะทำให้จิตใจแจ่มใสเพิ่มขึ้นไม่น้อย...
บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน แก่บุคคลทั้งหลาย เป็นการทำบุญที่หลายคนคาดไม่ถึง ว่าเป็นการทำบุญชนิดหนึ่ง พออธิบายได้ว่า การอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นการลดทิฐิ ลดการยึดติดในตัวตน ให้ความสำคัญแก่บุคคลรอบข้าง และการอ่อนน้อมถ่อมตนกับบุคคลอื่น ย่อมได้รับความเอ็นดู ได้รับความพอใจกลับมา การอ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการด้วย...
บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือขวนขวายในการงานที่ชอบ ทั้งด้านทรัพย์ ด้านแรงกาย สติปัญญา หรือ แม้แต่การให้กำลังใจ ที่คอยช่วยเหลือให้บุคคลผ่านพ้นปัญหาอุปสรรค หรือภาระกิจต่างๆไปได้ด้วยดี ด้วยวิธีที่ถูกที่ควร ความช่วยเหลือดังกล่าวมาแล้วนั้นแสดงถึง การมีความรัก ความเมตตา และความปรานาดี ต่อบุคคลอื่น...
บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ บุญชนิดนี้คนเก่าคนแก่ทำกันเป็นประจำ เรียกว่าการโมทนาบุญ เมื่อทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก็ไม่ยึดติดกับการทำบุญ หวงแหนบุญไว้กับตนเอง จนเกิดความตระหนี่บุญ คล้ายๆ กับความตระหนี่ทรัพย์นะแหละครับ การให้ส่วนบุญนี้สามารถแบ่งให้ได้ ทั้งกับผู้ล่วงลับไปแล้ว และผุ้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งที่จริงแล้วจะเรียกว่าการแบ่งบุญก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะเมื่อเราโมทนาบุญให้กับผู้อื่นแล้ว บุญที่เราทำก็ไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย กับเพิ่มขึ้นจากการทำบุญนี้อีกด้วย...
บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาบุญ คือแม้ตนเองไม่ได้ประกอบการทำบุญขึ้นมาเอง แต่ได้ไปพบ ได้รับทราบว่ามีผู้ทำบุญทาน ทำความดี การอนุโมทนา หรือร่วมยินดีด้วย ไม่ถือว่าเป็นการแย่งชิงบุญของคนอื่น มาเป็นของเรานะครับ แต่เป็นการเพิ่มบุญให้กับตนเอง และผู้ประกอบบุญนั้นๆ...
บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม ศึกษาธรรม เช่นการอ่านหนังสือธรรมะทำให้เกิดความคิดเห็นที่ถูกครรลอง ครองธรรมขจัดความสงสัย เกิดจิตใจที่ผ่องใส พบวิธีคิด วิธีพูด วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง พาชีวิตให้เจริญ ทั้งทางด้านจิตใจ และชีวิตความเป็นอยู่...
บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม ทั้งการแสดงธรรมด้วยตนเอง หรือผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นเรื่องธรรมะ ที่เกิดจากความปรารถนาดี เจตนาที่ดี การให้ธรรมเป็นทาน เป็นการชี้ทางแก้ปัญหา หาทางออกที่ถูกที่ควรให้แก่ผู้รับธรรมะนั้นๆ ทำให้บุคคลนั้นๆ ประพฤติปฏิบัติ ตามหลักธรรมคำสอน ทำให้บุญสำเร็จขึ้นอีกมากมาย จึงนับว่าการให้ธรรมะเป็นการให้ทานที่ยิ่งใหญ่ประเภทหนึ่ง
บุญสำเร็จด้วยการทำความคิดเห็นของตนเองให้ชอบ เชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกที่ควร เช่น เชื่อว่าการให้ทาน มีผล พ่อแม่มีคุณ กระทำดี กระทำชั่ว มีผล เป็นต้นทำให้ตนเองใช้ชีวิตตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...

การทำทาน

การทำทาน ได้แก่การสละทรัพย์สินสิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่บุคคลอื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือ ให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยการมีเมตตาจิตของตน ทานที่ได้ทำไปนั้น จะทำให้ผู้ทำทานได้บุญมากหรือน้อยเพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่องค์ประกอบ ๓ ประการ ถ้าประกอบหรือถึงพร้อม ด้วยองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการต่อไปนี้แล้ว ทานนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญบารมีมากก กล่าวคือ

องค์ประกอบข้อ ๑ “วัตถุทานที่ให้ ต้องบริสุทธิ์”

วัตถุทานที่ให้ ได้แก่สิ่งของ ทรัพย์สินสมบัติ ที่ตนได้สละให้เป็นทานนั่นเอง จะต้องเป็นของที่บริสุทธิ์ ที่จะเป็นของบริสุทธิ์ได้จะต้องเป็นสิ่งของที่ตนได้แสวงหา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ในการประกอบสัมมาอาชีพ ไม่ใช่ของที่ได้มาด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ได้มาโดยทุจริต ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ฯลฯ

ตัวอย่าง ๑ ได้มาโดยการเบียดเบียนเลือดเนื้อสัตว์ เช่น ฆ่าสัตว์ต่างๆ เป็นต้นว่า ปลา โค กระบือ สุกร โดยประสงค์จะนำเอาเลือดเนื้อของเขามาทำอาหารถวายพระ เพื่อเอาบุญ ย่อมเป็นการสร้างบาปเอามาทำบุญ วัตถุทานคือเนื้อสัตว์นั้นเป็นของที่ไม่บริสุทธิ์ แม้ทำบุญให้ทานไปก็ย่อมได้บุญน้อย จนถึงเกือบไม่ได้อะไรเลย ทั้งอาจจะได้บาปเสียอีกหากว่าทำทานด้วยจิตที่เศร้าหมอง แต่การที่ได้เนื้อสัตว์มาโดยการซื้อหาจากผู้อื่นที่ฆ่าสัตว์นั้น โดยที่ตนมิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการฆ่าสัตว์ก็ดี เนื้อสัตว์นั้นตายเองก็ดี เนื้อสัตว์นั้นย่อมเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์ เมื่อนำมาทำทาน ย่อมได้บุญมาก หากถึงพร้อมด้วงองค์ประกอบข้ออื่นๆ ด้วย

ตัวอย่าง ๒ ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ตลอดถึงการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง อันเป็นการได้ทรัพย์มาในลักษณะที่ไม่ชอบธรรม หรือโดยเจ้าของเดิมไม่เต็มใจให้
ทรัพย์นั้นย่อมเป็นของไม่บริสุทธิ์ ด้วยนำเอาไปกินไปใช้ ย่อมเกิดโทษ เรียกว่า “บริโภคโดยความเป็นหนี้” แม้จะนำเอาไปทำบุญให้ทานสร้างโบสถ์วิหาร ก็ไม่ทำให้ได้บุญแต่อย่างใด เนื่องด้วยต้องชดใช้หนี้กรรมอันเกิดแต่การเบียดบัง ยักยอก ฉ้อโกง ปล้นชิงทรัพย์ อันได้มาโดยไม่ชอบธรรมเหล่านั้น

สมัยหนึ่งในรัชกาลที่ ๕ มีหัวหน้าสำนักนางโลม ชื่อว่า “ยายแพ่ง” ได้เรียกเก็บเงินจากหญิงโสเภณีในสำนักของตน จากอัตราที่ได้มาครั้งหนึ่ง ๒๕ สตางค์ แก่จะชักเอาไว้ ๕ สตางค์ สะสมเอาไว้เช่นนี้ จนได้ประมาณ ๒,๐๐๐ บาท แล้วจึงจัดสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ด้วยเงินนั้นทั้งหมด เมื่อสร้างเสร็จแล้ว แกก็ปลื้มปิติ นำไปนมัสการถามหลวงพ่อโต วัดระฆัง ว่าที่แกสร้างวัดทั้งวัดด้วยเงินของแกทั้งหมด จะได้บุญบารมีอย่างไร หลวงพ่อโตตอบว่า ได้แค่ ๑ สลึง แกก็เสียใจ เหตุได้บุญน้อย ก็เพราะทรัพย์อันเป็นวัตถุทานที่ตนนำมาสร้างวัดอันเป็นวิหารทานนั้น เป็นของที่แสวงหาได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ เพราะเบียดเบียนมาจากเจ้าของ ที่ไม่เต็มใจจะให้ ฉะนั้น บรรดาพ่อค้าแม่ขายทั้งหลายที่ซื้อขายถูกๆ แต่ขายแพงๆ จนเกินส่วนที่ควรจะได้ ผลกำไรที่ได้มา เพราะความโลภจัดจนเกินส่วนนั้น ย่อมเป็นสิ่งของที่ไม่บริสุทธิ์ โดยนัยเดียวกัน
วัตถุทานที่บริสุทธิ์ เพราะการแสวงหาได้มาโดยชอบธรรมดังกล่าวไม่ได้จำกัดว่าเป็นของมากหรือน้อย มีค่าน้อยหรือมีค่ามาก จะเป็นของดี เลว ประณีต มากหรือน้อย ไม่สำคัญ สำคัญขึ้นอยู่กับเจตนาในการให้ทานนั้นตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธาที่ตนมีอยู่

องค์ประกอบข้อ ๒ “เจตนาในการให้ทานต้องบริสุทธิ์”

การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริง ก็เพื่อเป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่เหนียวแน่น ความหวงแหนหลงใหลในทรัพย์สมบัติของตน อันเป็นกิเลสหยาบ คือ “โลภกิเลส”
และขณะเดียวกัน ก็เพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขด้วยเมตตาธรรมของตน อันเป็นบันไดก้าวแรกในการเจริญเมตตาในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น ถ้าได้ให้ทานด้วยเจตนาดังกล่าวแล้ว เรียกว่า เจตนาในการทำทานบริสุทธิ์
แต่เจตนาที่ว่าบริสุทธิ์นั้น ถ้าจะบริสุทธิ์จริง จะต้องสมบูรณ์พร้อมด้วยกัน ๓ ระยะ คือ

(๑) ระยะก่อนที่จะให้ทาน ก่อนที่จะให้ทาน ก็มีจิตโสมนัส ร่าเริง เบิกบาน ยินดีที่จะให้ทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุข เพราะทรัพย์สินสิ่งของของตน
(๒) ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน ระยะที่กำลังลงมือทำทานอยู่นั้นเอง ก็ทำด้วยจิตโสมนัส ร่าเริงยินดี และเบิกบาน ในทานที่ตนกำลังให้ผู้อื่น
(๓) ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว ครั้งเมื่อได้ให้ทานไปแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็ดี นานมาก็ดี เมื่อหวนคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปแล้วครั้งใดก็มีจิตโสมนัส ร่าเริงเบิกบาน ยินดีในทานนั้นๆ
เจตนาบริสุทธิ์ในการทำทานนั้น อยู่ที่การมีจิตโสมนัส ร่าเริง เบิกบาน ยินดีในทานที่ทำนั้นเป็นสำคัญ และเนื่องจากเมตตาจิต ที่มุ่งสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นความทุกข์ และให้ได้รับความสุขเพราะทานของตน นับว่าเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ในเบื้องต้น

แต่เจตนาที่บริสุทธิ์เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วนี้ จะทำให้ยิ่งๆ บริสุทธิ์มากขึ้นไปอีก หากผู้ให้ทานนั้น ได้ทำทานพร้อมกับมีวิปัสสนาปัญญา โดยใคร่ครวญถึงวัตถุทานที่ให้ทานนั้นว่า “อันบรรดาทรัพย์สินสิ่งของทั้งปวง ที่ชาวโลกนิยมยกย่อม หวงแหนเป็นสมบัติกันด้วยความโลภนั้น แท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นเพียงแต่วัตถุธาตุที่มีอยู่ประจำโลก เป็นสมบัติกลาง ไม่ใช่ของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ วัตถุเหล่านั้น เป็นของที่มีมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดขึ้นมา และไม่ว่าเราจะเกิดขึ้นมาหรือไม่ก็ตาม วัตถุธาตุดังกล่าวก็มีอยู่เช่นนั้น และได้ผ่านการเป็นเจ้าของโดยผู้อื่นมาแล้วหลายชั่วคน ซึ่งแต่ละท่านแต่ก่อนนั้นต่างก็ได้ส้มหายตายจากไปแล้วทั้งสิ้น ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้เลย จนในที่สุดก็ได้ตกทอด มาถึงเรา ให้เราได้กินได้ใช้ยึดถือเพียงชั่วคราว แล้วก็ตกทอดสืบเนื่องไปเป็นของคนอื่นๆ ต่อๆ ไป เช่นนี้ แม้เราเองก็ไม่สามารถ จะนำติดตัวเอาไปได้ จึงนับว่าเป็นเพียงสมบัติผลัดกันชมเท่านั้น ไม่จากไปในวันนี้ ก็ต้องจากไปในวันหน้า “ อย่างน้อย เราก็ต้องจากต้องทิ้ง เมื่อเราได้ตายลง นับว่าเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่น ว่านั่นเป็นของเราได้ถาวรตลอดไป

แม้ตัววัตถุธาตุดังกล่าวนี้เอง เมื่อมีเกิดขึ้นเป็นตัวตนแล้ว ก็ตั้งอยู่ในสภาพนั้นให้ตลอดไปไม่ได้ จะต้องเก่าแก่ ผุพัง บุบสลายไป ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนแต่อย่างไร แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของเราเอง ก็มีสภาพเช่นเดียวกันกับวัตถุธาตุเหล่านั้น ซึ่งไม่อาจตั้งมั่นยั่งยืนอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องเจริญวัยเป็นหนุ่มสาว แล้วก็แก่เฒ่าตายไปในที่สุด เราจะต้องพลัดพรากจากของดันเป็นที่รักที่หวงแหน คือทรัพย์สมบัติทั้งปวง

เมื่อเจตนาในการให้ทานบริสุทธิ์ผุดผ่องดี พร้อมทั้งสามระยะดังกล่าวมาแล้ว ทั้งยังประกอบไปด้วยวิปัสสนาปัญญา ดังกล่าวมาแล้วด้วยเจตนานั้นย่อมบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทานที่ได้ทำไปนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญมาก หากวัตถุทานที่ได้ทำเป็นของที่บริสุทธิ์ตามองค์ประกอบข้อ ๑ ด้วย ก็ย่อมทำให้ได้บุญมากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก วัตถุทานจะมากหรือน้อย เป็นของเลวหรือประณีตไม่สำคัญ เมื่อเราได้ให้ทานไปตามกำลังทรัพย์ที่เรามีอยู่ ย่อมให้ได้ แต่ก็มีข้ออันควรระวังอยู่ ก็คือ การทำทานนั้น อย่าได้เบียดเบียนตนเอง เช่นมีน้อย แต่ฝืนทำให้มากๆ จนเกินกำลังของตนที่จะให้ได้ หรือเมื่อได้ทำทานไปแล้ว ตนเอง สามี ภริยา รวมทั้งบุตรด้วยต้องลำบากขาดแคลน เพราะไม่มีจะกินจะใช้ เช่นนี้ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง เจตนานั้นย่อมไม่บริสุทธิ์ ทานที่ทำไปแล้วนั้น แม้วัตถุทานจะมาก หรือทำมาก ก็ย่อมได้บุญน้อย ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ทำทานด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ คือ

ตัวอย่าง ๑ ทำทานเพราะอยากได้ ทำเอาหน้า ทำอวดผู้อื่น เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ใส่ชื่อของตน ไปยืนถ่ายภาพลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อให้ได้รับความนิยมยกย่องนับถือ โดยแท้จริงแล้ว ถ้าตนมิได้มีเจตนาที่จะมุ่งสงเคราะห์ผู้ใด เรียกว่าทำทานด้วยความโลภ ไม่ได้ทำเพื่อขจัดความโลภ ทำทานด้วยความอยากได้ คือ อยากได้หน้า ได้เกียรติ ได้สรรเสริญ ได้ความนิยมนับถือ

ตัวอย่าง ๒ ทำทานด้วยความฝืนใจ ทำเพราะเสียไมได้ ทำด้วยความเสียดาย เช่น มีพวกพ้องมาเรี่ยไร ตนเองไม่มีศรัทธาที่จะทำ หรือมีศรัทธาอยู่บ้าง แต่ทรัพย์น้อย เมื่อมีพวกมาเรี่ยไรบอกบุญ ต้องจำใจทำทานไป เพราะความเกรงใจพวกพ้อง หรือเกรงว่าจะเสียหน้า ตนจึงได้สละทรัพย์ทำทานไปด้วยความจำใจ ย่อมเป็นการทำทานด้วยความตระหนี่หวงแหน ทำทานด้วยความเสียดาย ไม่ใช่ทำทานด้วยจิตเมตตาที่มุ่งจะสงเคราะห์ผู้อื่น ซึ่งยิ่งคิดก็ยิ่งเสียดาย ให้ไปแล้วก็เป็นทุกข์ใจ บางครั้งก็นึกโกรธผู้ที่มาบอกบุญ เช่นนี้ จิตย่อมเศร้าหมอง ได้บุญน้อย หากเสียดายมากๆ จนเกิดโทสจริตกล้าด้วย นอกจากจะไม่ได้บุญแล้วที่จะได้ ก็คือบาป

ตัวอย่าง ๓ ทำทานด้วยความโลภ คือทำทานเพราะอยากได้นั้น อยากได้นี่ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ อันเป็นการทำทาน เพราะหวังสิ่งตอบแทน ไม่ใช่ทำทานเพราะมุ่งหมายที่จะขจัดความโลภ ขจัดความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์ของตน เช่น ทำทานแล้วตั้งอธิษฐาน ของให้ชาติหน้าได้เป็นเทวดา เป็นนางฟ้า ขอให้มีรูปงามรูปสวย ขอให้ทำมาค้าขึ้น ขอให้ร่ำรวยเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ทำทาน ๑๐๐ บาท แต่ขอให้ร่ำรวยนับล้าน ขอให้ถูกสลากกินแบ่ง สลากกินรวบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสมบัติสวรรค์ หากชาติก่อนไม่เคยได้ทำบุญใส่บาตร ฝากสวรรค์เอาไว้ อยู่ๆ ก็มาขอเบิกในชาตินี้ จะมีที่ไหนมาให้เบิก การทำทานด้วยความโลภเช่นนี้ ย่อมไม่ได้บุญอะไรเลย สิ่งที่จะได้พอกพูนเพิ่มให้มากขึ้นและหนาขึ้น ก็คือ “ความโลภ”

ผลหรืออานิสงส์ของการทำทานที่ครบองค์ประกอบ ๓ ประการนั้นย่อมมีผลให้ได้ซึ่ง มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติเอง แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้ล่วงหน้าก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุ เมื่อทำเหตุครบถ้วน ย่อมมีผลเกิดขึ้นตามมาเอง เช่นเดียวกับปลูกต้นมะม่วง เมื่อรดน้ำพรวนดิน และใส่ปุ๋ยไปตามธรรมดาเรื่อยไป แม้จะไม่อยากให้เจริญเติบโตและออกดอกออกผล ในที่สุด ต้นไม้ก็จะต้องเจริญ และผลิตดอกออกผลตามมา
สำหรับผลของทานนั้น หากน้อย หรือมีกำลังไม่มากนัก ย่อมน้อมนำให้ได้บังเกิดในมนุษย์ชาติ หากมีกำลังแรงมาก ก็อาจจะน้อมนำให้ได้บังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น เมื่อได้เสวยสมบัติในเทวโลกจนสิ้นบุญแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงเหลืออยู่บ้าง ประกอบกับไม่มีอกุศลธรรมอื่นแทรกให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้มาบังเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย มั่งคั่ง สมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่มีลาภผลมาก ทำมาหากินขึ้น และร่ำรวยในภายหลัง ทรัพย์สมาบัติไม่วิบัติหายนะไป เพราะวินาศภัย โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย ฯลฯ แต่จะมั่งคั่งร่ำรวยในวัยใด ย่อมสุดแล้วแต่ผลทานแต่ชาติก่อนๆ จะส่งผล คือ

๑. ร่ำรวยตั้งแต่วัยต้น เพราะผลของทานที่ได้ตั้งเจตนาไว้บริสุทธิ์ดี ตั้งแต่ก่อนจะทำทาน คือก่อนที่จะลงมือทำทาน ก็มีจิตเมตตาโสมนัส ร่าเริงเบิกบานยินดีในทานที่ตนจะได้ทำเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น แล้วก็ได้ลงมือทำทานไปตามเจตนานั้น เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ย่อมโชคดี โดยเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย ชีวิตในวัยต้นอุดมสมบูรณ์พูนสุขไปด้วยทรัพย์ ไม่ยากจนแร้นแค้น ไม่ต้องขวนขวายหาเลี้ยงตนเองมาก

แต่ถ้าเจตนานั้นไม่งามบริสุทธิ์พร้อมกันครบ ๓ ระยะแล้ว ผลทานนั้น ก็ย่อมส่งผลให้ไม่สม่ำเสมอกัน คือแม้ว่า จะร่ำรวยตั้งแต่วัยต้น โดยเกิดมาบนกองเงินกองทองก็ตาม หากในขณะที่กำลังลงมือทำทานเกิดจิตเศร้าหมอง เพราะหวนคิดเสียดาย หรือหวงแหนทรัพย์ที่จะให้ทานขึ้นมา หรือเกิดหมดศรัทธาขึ้นมาเฉยๆ แต่ก็ยังฝืนใจทำทานไป เพราะเสียไม่ได้ หรือเพราะตามพวกพ้องไปอย่างเสียไม่ได้ เช่นนี้ ผลทานย่อมหมดกำลังให้ผลในระยะที่ ๒ ซึ่งตรงกับวัยกลางคน ซึ่งจะมีผลทำให้ทรัพย์สมบัติวิบัติหายนะไปด้วยประการต่างๆ แม้จะได้รับมรดก ก็ไม่อาจจะรักษาไว้ได้
หากเจตนาในการทำทานนั้นเศร้าหมองในระยะที่ ๓ คือ ทำทานไปแล้ว หวนคิดขึ้นมา ทำให้เสียดายทรัพย์ ความหายนะ ก็มีผลต่อเนื่องมาจนถึงบั้นปลายชีวิตด้วย คือ ทรัพย์สินคงวิบัติเสียหายต่อเนื่องจากวัยกลางคน ตลอดไปจนถึงตลอดอายุขัย
ชีวิตจริงของผู้ที่เกิดบนกองเงินกองทองก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างที่เมื่อได้รับทรัพย์มรดก แล้วก็วิบัติเสียหายไป หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในวัยต้น แต่ก็ต้องมาล้มละบายในวัยกลางคน และบั้นปลายชีวิต แต่ถ้าได้ตั้งเจตนาในการทำทานไว้บริสุทธิ์ครบถ้วนพร้อม ๓ ระยะแล้ว ผลทานนั้นย่อมส่งผลสม่ำเสมอ คือร่ำรวยตั้งแต่เกิด วัยกลางคน และจนถึงปัจฉิมวัย

๒. ร่ำรวยในวัยกลางคน การที่ร่ำรวยในวัยกลางคนนั้น สืบเนื่องมาจากผลของทานที่ได้ทำเพราะเจตนางามบริสุทธิ์ ในระยะที่ ๒ กล่าวคือ ไม่งามบริสุทธิ์ในระยะแรก เพราะก่อนที่จะลงมือทำทาน ก็มิได้มีจิตศรัทธามาก่อน ไม่คิดที่จะทำทานมาก่อน แต่ก็ได้ตัดสินใจทำทานไปเพราะเหตุบางอย่าง เช่น ทำตามพวกพ้องอย่างเสียไม่ได้ แต่เมื่อได้ลงมือทำทานอยู่ ก็เกิดโสมนัสรื่นเริงยินดีในทานที่กำลังกระทำอยู่นั้น ด้วยผลทานชนิดนี้ ย่อมทำให้มาบังเกิดในตระกูลที่ยากจนคับแค้น ต้องต่อสู้สร้างตนเองมาในวัยต้น ครั้งเมื่อถึงวัยกลางคน กิจการหรือธุรกิจที่ทำจึงประสบความสำเร็จรุ่งเรือง และหากเจตนาในการทำทานได้งามบริสุทธิ์ในระยะที่ ๓ ด้วย กิจการหรือธุรกิจนั้น ย่อมส่งผลรุ่งเรืองตลอดไปจนถึงบันปลายชีวิต หากเจตนาในการทำงานไม่บริสุทธิ์ในระยะที่ ๓ แม้ธุรกิจหรือกิจการงานจะประสบความสำเร็จรุ่งเรืองในวัยกลางคน แต่ก็จะไปล้มเหลวหายนะในบั้นปลาย ทั้งนี้เพราะผลทานหมดกำลัง ส่งผลไม่ตลอดจนถึงบั้นปลายชีวิต

๓. ร่ำรวยปัจฉิมวัย คือร่ำรวยในบั้นปลายชีวิตนั้น สืบเนื่องมาจากผลทานที่ผู้กระทำมีเจตนาไม่งามไม่บริสุทธิ์ในระยะแรก และระยะที่ ๒ แต่งามบริสุทธิ์เฉพาะในระยะที่ ๓ กล่าวคือ ก่อนและในขณะที่ลงมือทำทานอยู่นั้น ก็มิได้มีจิตโสมนัสยินดี ในการทำทานนั้นแต่อย่างใด แต่ได้ทำลงไปโดยบังเอิญ เช่นทำตามๆ พวกพ้องไปอย่างเสียไม่ได้ แต่เมื่อได้ทำไปแล้ว ต่อมาหวนคิดถึงผลทานนั้น ก็เกิดจิตโสมนัสร่าเริงยินดีเบิกบาน หากผลทานชนิดนี้จะน้อมนำให้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลที่ยากจนคับแค้น ต้องต่อสู้ดิ้นรนศึกษาเล่าเรียน และขวนขวายสร้างตนเองมาก ตั้งแต่วัยต้น จนล่วงวัยกลางคนไปแล้ว กิจการงานหรือธุรกิจนั้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา แต่ครั้งถึงบั้นปลายชีวิตก็ประสบช่องทางเหมาะ ทำให้กิจการงานนั้นเจริญรุ่งเรือง ทำมาค้าขึ้นและร่ำรวยอย่างไม่คาดหมาย ซึ่งชีวิตจริงๆ ของคนประเภทนี้ ก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่มาก

องค์ประกอบข้อ ๓ “เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์”

คำว่า “เนื้อนาบุญ” ในที่นี้ ได้แก่บุคคลผู้รับการทำทานของผู้ทำทานนั่นเอง นับว่าเป็นองค์ประกอบข้อที่สำคัญที่สุด แม้ว่าองค์ประกอบในการทำทานข้อ ๑ และ ๒ จะงามบริสุทธิ์ครบถ้วนดีแล้ว กล่าวคือ วัตถุที่ทำทานนั้นเป็นของที่แสงหาได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เจตนาในการทำทานก็งามบริสุทธิ์พร้อมทั้งสามระยะ แต่ตัวผู้รับการทำทานเป็นคนที่ไม่ดี ไม่ใช่ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์ เป็นเนื้อนาบุญที่เลว ทานที่ทำไปนั้น ก็ไม่ผลิตดอกออกผล
เปรียบเหมือนกับการหว่านเมล็ดข้าวเปลือกลงในพื้นนา ๑ กำมือ แม้เมล็ดข้าวนั้นจะเป็นพันธุ์ดีที่พร้อมจะงอกงาม (วัตถุทานบริสุทธิ์) และผู้หว่านคือกสิกร ก็มีเจตนาจะหว่านเพื่อทำนาให้เกิดผลิตผลเป็นอาชีพ (เจตนาบริสุทธิ์) แต่หากที่นานั้นเป็นที่ที่ไม่สม่ำเสมอกัน เมล็ดข้าวที่หว่านลงไปก็งอกเงยมีผลิตผลที่สมบูรณ์ ส่วนเมล็ดที่ไปตกบนพื้นนาที่แห้งแล้ง มีแต่กรวดกับทรายและขาดน้ำ ก็จะแห้งเหี่ยว หรือเฉาตายไป หรือไม่งอกเงยเสียเลย
การทำทานนั้น ผลิตผลที่ผู้ทำทานจะได้รับ ก็คือ “บุญ” หากผู้ที่รับการให้ทานไม่เป็นเนื้อนาที่ดีสำหรับการทำบุญแล้ว ผลของทานคือบุญก็จะไม่เกิดขึ้น แม้จะเกิดก็ไม่สมบูรณ์เพราะจะแกร็นหรือแห้งเหี่ยวเฉาไปด้วยประการต่างๆ
ฉะนั้น ในการทำทาน ตัวบุคคลผู้รับของที่เราให้ทาน จึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด

เราผู้ทำทานจะได้บุญมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับคนพวกนี้ คนที่รับการให้ทานนั้น หากเป็นผู้ที่มีศีลมีธรรมสูง ก็ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่ดี ทานที่เราได้ทำไปแล้วก็เกิดผลบุญมาก หากผู้รับการให้ทานเป็นผู้ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรม ผลของทานก็ไม่เกิดขึ้น คือได้บุญน้อย ฉะนั้น คติโบราณที่กล่าวว่า “ทำบุญอย่าถามพระ หรือตักบาตรอย่าเลือกพระ” เห็นจะใช้ไม่ได้ในสมัยนี้ เพราะพระในสมัยนี้ไม่เหมือนกับท่านในสมัยก่อนๆ ที่บวชเพราะมุ่งจะหนีสงสาร โดยมุ่งจะทำมรรคผล และพระนิพพานให้แจ้ง ท่านจึงเป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ แต่ในสมัยนี้มีอยู่บางคนที่บวชด้วยคติ ๔ ประการ คือ “บวชเป็นประเพณี บวชหนีทหาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน “ ธรรมวินัยใดๆ ท่านไม่สนใจ เพียงแต่มีผ้าเหลืองห่มคลุมกาย ท่านก็นึกว่าตนเป็นพระ และเป็นเนื้อนาบุญเสียแล้ว ซึ่งป่วยการ จะกล่าวไปถึงศีลปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อ แม้แต่เพียงแค่ศีล ๕ ก็ยังเอาแน่ไม่ได้ ว่าท่านจะมีหรือไม่

การบวชที่แท้จริงแล้ว ก็เพื่อจะละความโลภ โกรธ และหลง ปัญหาว่า ทำอย่างไรจึงจะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ ข้อนี้ย่อมขึ้นอยู่กับวาสนาของเราผู้ทำทานเป็นสำคัญ หากเราได้เคยสร้างสมอบรม สร้างบารมีมาด้วยดี ในอดีตชาติเป็นอันมากแล้ว บารมีนั้นก็จะเป็นพลังวาสนาน้อมนำให้ได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ ทำทานครั้งใด ก็มักโชคดีได้พบกับท่านที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปเสียทุกครั้ง หากบุญวาสนาของเราน้อยและไม่มั่นคง จะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญบ้าง ได้พบกับอลัชชีบ้าง คือ ดีและชั่วคละกันไป เช่นเดียวกับการซื้อสลากกินแบ่ง สลากกินรวบ หากมีวาสนาให้ถูกรางวัลได้ หากไม่มีสมบัติสวรรค์อะไร ที่จะให้เบิกได้ อยู่ๆ ก็จะมาขอเบิก เช่นนี้ก็ยากที่จะถูกรางวัลได้
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้น มีผลมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับต่อไปนี้ คือ

๑. ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีบุญวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์ และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี
๒. ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า ให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๓. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๘ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๔. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๑๐ คือ สามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะถวายทานดังกล่าว แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๕. ถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล ๑๐ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์ ซึ่งมีปาติโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ
พระด้วยกัน ก็มีคุณธรรมแตกต่างกัน จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา มีศีลปาติโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสเรียกว่าเป็น “พระ"” แต่เป็นเพียงพระสมมุติเท่านั้น เรียกกันว่า “สมมุติสงฆ์”
พระที่แท้จริงนั้น หมายถึงบุคคลที่บรรลุธรรม ตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันเป็นต้นไป ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวช หรือเป็นฆราวาสก็ตาม นับว่าเป็น “พระ” ทั้งสิ้น
และพระด้วยกัน ก็มีคุณธรรมต่างกันหลายระดับขั้น จากน้อยไปหามากดังนี้ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
๖. ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม (ความจริงยังมีการแยกเป็น พระโสดาปัตติมรรค และพระโสดาปัตติผล ฯลฯ เป็นลำดับไปจนถึงพระอรหัตผล แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงย่นย่อ พอให้ได้ความเท่านั้น)
๗. ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าว แก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๘. ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าว แก่พระอนาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๙. ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าว แก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๐. ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าว แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๑. ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแด่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๒. ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า การถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะได้ถวายสังฆทาน ดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๓. การถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายวิหารทาน แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
วิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทางอันเป็นสาธารณประโยชน์ หรือสิ่งที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจในพระพุทธศาสนา เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลาป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ ก็ได้บุญมาก ในทำนองเดียวกัน
๑๔. การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง (๑๐๐ หลัง) ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ธรรมทาน แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็๖ม การให้ธรรมทาน ก็คือการเทศน์ การสอนธรรมะ แก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ ให้ได้รู้ ที่รู้อยู่แล้ว ให้รู้ยิ่งๆ ขึ้น ให้ได้เข้าใจในมรรค ผล นิพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์แจกหนังสือธรรมะ
๑๕. การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ “อภัยทาน” แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทานก็คือการไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่น แม้แต่ศัตรู ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน

เพราะการให้อภัยทานเป็นการบำเพ็ญเพียรเสียสละ “โทสกิเลส” และเป็นการเจริญ “เมตตาพรหมวิหารธรรม” อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคลที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ ย่อมเป็นผู้ทรงญาณ ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง “พยาบาท” ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง

อย่างไรก็ดี การให้อภัยทาน แม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่นๆ ทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า “ฝ่ายศีล” เพราะเป็นการทำบุญบารมีคนละขั้นต่างกัน

ส่วนหนึ่งจากหนังสือเรื่อง “วิธีสร้างบุญบารมี”
พระนิพนธ์ใน
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๙ วัดบวรนิเวศวิหาร ธรรมทาน น้อมถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐
และถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ในวันพุธที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เจริญด้วยพระชนมายุยิ่งยืนนาน
http://www.polyboon.com/worship/dhumma02.html

.....................................................
รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2013, 06:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 10:18
โพสต์: 590

โฮมเพจ: www.bhuddhakhun.blogspot.com
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ


อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ทุติยวรรค ปุญญกิริยาวัตถุสูตร

ติกนิบาตวรรณนา
วรรควรรณนาที่ ๒
อรรถกถาปุญญกิริยาวัตถุสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปุญญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ปุญฺญกิริยาวตฺถูนิ ความว่า กุศลทั้งหลายที่ให้เกิดผลในภพ ที่ควรบูชา หรือชำระสันดานของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุญ บุญเหล่านั้นด้วย ชื่อว่าเป็นกิริยา เพราะต้องทำด้วยเหตุด้วยปัจจัยทั้งหลายด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุญกิริยา และบุญกิริยานั่นเอง ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุ เพราะความเป็นที่ตั้งแห่งอานิสงส์นั้นๆ.
บทว่า ทานมยํ ได้แก่ เจตนาเป็นเครื่องบริจาคไทยธรรมของตนแก่ผู้อื่น ด้วยสามารถแห่งการอนุเคราะห์ หรือด้วยสามารถแห่งการบูชาของผู้ที่ตัดราก คือภพยังไม่ขาด ชื่อว่าทาน เพราะเป็นเหตุให้เขาให้. ทานนั่นเองชื่อว่าทานมัย เจตนาที่เป็นไปแล้วโดยนัยที่กล่าวแล้วในกาลทั้ง ๓ คือในกาลอันเป็นส่วนเบื้องต้น ตั้งแต่การให้ปัจจัย ๔ เหล่านั้นเกิดขึ้น ๑ ในเวลาบริจาค ๑ ในการโสมนัสจิตระลึกถึงในภายหลัง (จากที่ให้แล้ว) ๑ ของผู้ให้สิ่งนั้นๆ ในบรรดาปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น หรือในบรรดาทานวัตถุ ๑๐ อย่างมีข้าวเป็นต้น หรือบรรดาอารมณ์ ๖ มีรูปเป็นต้น ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยการให้ทาน.
บทว่า สีลมยํ ได้แก่ เจตนาที่เป็นไปแล้ว แก่บุคคลผู้สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ด้วยสามารถแห่งการกำหนดให้เป็นนิจศีล และอุโบสถศีลเป็นต้น (หรือ) ผู้ที่คิดว่า เราจะบวชเพื่อบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ แล้วไปวิหารบวช ผู้จะยังมโนรถให้ถึงที่สุดระลึกอยู่ว่าเราบวชแล้วเป็นการดีแล้วหนอ บำเพ็ญปาฏิโมกข์ให้บริบูรณ์ด้วยศรัทธา พิจารณาปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้นด้วยปัญญาสำรวมจักษุทวารเป็นต้น ในรูปเป็นต้นที่มาสู่คลองด้วยสติ และชำระอาชีวปาริสุทธิศีลด้วยความเพียร ย่อมตั้งมั่น เพราะฉะนั้น เจตนานั้นจึงชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล.
อนึ่ง เจตนาของภิกษุผู้พิจารณาเห็นแจ้งซึ่งจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มนะ โดยไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาด้วยวิปัสสนามรรคที่กล่าวแล้วในปฏิสัมภิทา#- ๑ เจตนาของผู้พิจารณาเห็นแจ้งรูปทั้งหลาย ฯลฯ ธรรมทั้งหลาย จักขุวิญญาณ ฯลฯ มโนวิญญาณ จักขุสัมผัส ฯลฯ มโนสัมผัส จักขุสัมผัสสชาเวทนา ฯลฯ มโนสัมผัสสชาเวทนา รูปสัญญา ฯลฯ ธรรมสัญญา (และ) ชรามรณะโดยเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ๑ ฌานเจตนาที่เป็นไปแล้วในอารมณ์ ๓๘ ประการมีปฐวีกสิณเป็นต้น ๑ เจตนาที่เป็นไปแล้วด้วยสามารถแห่งการสั่งสมและมนสิการเป็นต้น ในบ่อเกิดแห่งงาน บ่อเกิดแห่งศิลปะ และฐานะที่ตั้งแห่งวิชาที่ไม่มีโทษ ๑ อันใด ผู้ยังเจตนาทั้งหมดนั้นให้เจริญด้วยบุญกิริยานี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา ตามนัยที่กล่าวแล้วดังนี้แล.
____________________________
#- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๙๙

ก็ในบรรดากรรมทั้ง ๓ อย่างนี้ เมื่อกระทำกรรมอย่างหนึ่งๆ ด้วยกาย จำเดิมแต่ส่วนเบื้องต้นตามสมควร กรรมเป็นกายกรรม. เมื่อเปล่งวาจาอันเป็นประโยชน์แก่กรรมนั้น กรรมเป็นวจีกรรม. เมื่อไม่ยังองค์คือกาย และองค์คือวาจาให้หวั่นไหว คิดด้วยใจ (อย่างเดียว) กรรมเป็นมโนกรรม.
อีกอย่างหนึ่ง ในเวลาที่ผู้ให้ข้าวเป็นต้นให้ (ทาน) โดยคิดว่า เราจะให้ข้าวและน้ำเป็นต้นก็ดี โดยระลึกถึงทานบารมีก็ดี บุญกิริยาวัตถุเป็นทานมัย.
เมื่อให้ทานโดยดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติ บุญกิริยาวัตถุเป็นสีลมัย.
เมื่อให้ (ทาน) โดยเริ่มตั้งการพิจารณา (นามรูป) โดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไปโดยกรรม บุญกิริยาวัตถุเป็นภาวนามัย.
บุญกิริยาวัตถุอย่างอื่นอีก ๗ คือบุญกิริยาวัตถุที่สหรคตด้วยความยำเกรง (อ่อนน้อม) ๑ ที่สหรคตด้วยการขวนขวาย ๑ การเพิ่มให้ซึ่งส่วนบุญ ๑ การพลอยอนุโมทนา ๑ สำเร็จด้วยการแสดงธรรม ๑ สำเร็จด้วยการฟังธรรม ๑ ความเห็นตรง ๑.
ก็แม้การถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ ย่อมสงเคราะห์เข้าด้วยการทำความเห็นให้ตรงนั่นเอง ก็คำที่ควรกล่าวในเรื่องนี้จักมีแจ้งข้างหน้า.
บรรดาบุญกิริยาวัตถุ ๗ อย่างนั้น บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยความอ่อนน้อม พึงทราบด้วยสามารถแห่งการเห็นภิกษุผู้อาวุโสกว่าแล้วต้อนรับ รับบาตรและจีวร กราบไหว้และหลีกทางให้เป็นต้น.
บุญกิริยาวัตถุที่สหรคตด้วยความขวนขวาย พึงทราบด้วยสามารถแห่งการทำวัตรปฏิบัติแก่ภิกษุผู้มีอาวุโสกว่า ด้วยสามารถแห่งการที่เห็นภิกษุเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต รับบาตร (ของท่าน) แล้วบรรจุภิกษาแม้ในบ้านให้เรียบร้อย นำเข้าไปถวาย และด้วยสามารถแห่งการรีบนำเอาบาตรมาให้เป็นต้น โดยที่ได้ยิน (คำสั่ง) ว่าจงไปนำเอาบาตรของภิกษุทั้งหลายมา ดังนี้.
บุญกิริยาวัตถุ คือการพลอยอนุโมทนา (บุญ) ก็อย่างนั้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งการอนุโมทนาส่วนบุญที่ผู้อื่นให้แล้ว หรือบุญที่ผู้อื่นทำแล้วทั้งสิ้นว่า สาธุ (ดีแล้ว).
ข้อที่ภิกษุไม่ปรารถนาความช่ำชองในธรรมเพื่อตนแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ด้วยอัธยาศัยที่เต็มไปด้วยความเกื้อกูล นี้ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยการแสดงธรรม.
แต่ว่าการที่ภิกษุรูปหนึ่งตั้งความปรารถนาไว้ว่า ชนทั้งหลายจักรู้ว่าเราเป็นธรรมกถึกด้วยวิธีอย่างนี้ แล้วอาศัยลาภสักการะและการยกย่องแสดงธรรมไม่มีผลมากเลย.
การที่คนฟังธรรมด้วยจิตอ่อนโยนมุ่งแผ่ประโยชน์เกื้อกูล มีโยนิโสมนสิการไปว่านี้เป็นอุบายให้ได้บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นแน่นอน นี้เป็นบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยการฟังธรรม. แต่การที่คนๆ หนึ่งฟังธรรมด้วยคิดว่า ชนทั้งหลายจักรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศรัทธาด้วยวิธีนี้ ไม่มีผลมากเลย.
การที่ทิฏฐิดำเนินไปตรง ชื่อว่าความเห็นตรง (ทิฏฐิชุกรรม).
คำว่า ทิฏฺฐิชุคตํ นี้เป็นชื่อของสัมมาทัสสนะอันเป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า ทานที่ให้แล้วมีผล. เพราะว่าความเห็นตรงนี้ถึงจะเป็นญาณวิปปยุตในตอนต้น หรือตอนหลัง แต่ในเวลาทำความเห็นให้ตรงแล้วก็เป็นญาณสัปปยุตนั่นเอง.
แต่อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ทัสนะ คือความเห็นด้วยอำนาจแห่งการรู้แจ้งและการรู้ชัด ๑ วิญญาณที่เป็นกุศล ๑ กัมมัสสกตาญาณเป็นต้น ๑ เป็นสัมมาทัสสนะ.
บรรดาธรรม ๓ อย่างมีทัสนะเป็นต้นนั้น แม้ในเมื่อญาณยังไม่เกิดขึ้นก็มีการสงเคราะห์เหตุที่สมควรแก่เหตุเป็นเครื่องอนุสรณ์ถึงบุญที่ตนได้ทำไว้แล้ว เข้ากับวิญญาณที่เป็นกุศลได้. มีการสงเคราะห์เข้ากับกัมมัสสกตาญาณ คือความเห็นชอบตามคัลลองของกรรมได้. แต่ความเห็นตรงนอกนี้ มีการกำหนดธรรมทั้งปวงเป็นลักษณะ.
ด้วยว่า เมื่อทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง บุญนั้นก็จะมีผลมาก เพราะเหตุที่ทิฏฐิทั้งหลายตรงนั่นเอง.
แต่ว่ามีการสงเคราะห์บุญกิริยาวัตถุ ๗ อย่างเหล่านี้เข้ากับบุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่างข้างต้นมีทานมัยเป็นต้น.
อธิบายว่า บรรดาบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๗ อย่างนั้น
ความอ่อนน้อม (อปจายนมัย) ความขวนขวาย (เวยยาวัจจมัย) สงเคราะห์เข้าในสีลมัย.
การเพิ่มให้ซึ่งส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) และการพลอยอนุโมทนาส่วนบุญ (อนุโมทนามัย) สงเคราะห์เข้าในทานมัย.
การแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) และการฟังธรรม (ธัมมัสสวนนัย) สงเคราะห์เข้าในภาวนามัย.
(ส่วน) ความเห็นตรง (ทิฏฐิชุกรรม) สงเคราะห์เข้าในบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๓ อย่าง.
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุเหล่านี้มี ๓ อย่าง ๓ อย่างเป็นไฉน? คือบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน ฯลฯ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา ดังนี้.๑-
____________________________
๑- องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๓๖

ก็ในอธิการนี้ บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๓ อย่างมีการเป็นไปด้วยอำนาจแห่งกุศลเจตนาที่เป็นกามาวจร ๘ ดวง. อุปมาเสมือนหนึ่งว่า เมื่อบุคคลแสดงธรรมที่คล่องแคล่วก็ไม่คำนึงถึงอนุสนธิเลย ธรรมบางหมวดก็ดำเนินไปได้ฉันใด เมื่อพระโยคาวจรประกอบเนืองๆ ซึ่งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาที่ช่ำชอง มนสิการด้วยจิตที่เป็นญาณวิปยุตก็เป็นไปได้ในระหว่างๆ (แต่) ทั้งหมดนั้นเป็นบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยเจตนาอย่างเดียว ด้วยสามารถแห่งกุศลเจตนาที่เป็นมหัคคตะ หาเป็นบุญกิริยาวัตถุนอกนี้ไม่ (ทานมัย สีลมัย).
เนื้อความแห่งพระคาถา ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในหนหลังทั้งนั้น.

จบอรรถกถาปุญญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๑
-------------------------------------------
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=238

.....................................................
รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2013, 06:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 10:18
โพสต์: 590

โฮมเพจ: www.bhuddhakhun.blogspot.com
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ


อานิสงส์การถวายที่ดินเพื่อพระพุทธศาสนา

การถวายที่ดินไว้ในบวรพุทธศาสนานั้นนับว่าเป็นการทำบุญในฝ่ายวัตถุทานที่มีอานิสงส์มาก และผู้ที่ทำบุญถวายที่ดินนี้นับว่า เป็นผู้ที่มีความฉลาดและโชคดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเพราะผลทุกอย่างที่จะบังเกิดขึ้นหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็น กุฏิ โบสถ์ วิหาร หรือแม้แต่พระพุทธรูปทุกๆองค์ในวัด ตลอดจนผลแห่งธรรมทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นในศาสนสถานหลังจากที่ได้ซื้อที่ดินถวายนี้ ผู้นั้นจะได้รับผลแห่งกุศลดังกล่าวทั้งหมด เพราะทุกอย่างล้วนปลูกสร้างหรือบังเกิดมีขึ้นได้ก็ด้วยผืนแผ่นดินที่เราได้เป็นผู้สร้างถวาย โดยเฉพาะเมื่อสถานที่แห่งนั้นได้เป็นสถานที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งการสร้างสาธุชน และเป็นเหตุให้บังเกิดพระอริยะบุคคล อันมีพระโสดาบันเป็นต้น ตลอดจนถึงพระอรหันต์เป็นที่สุดแล้วนั้น ผู้ที่มีส่วนร่วมในการซื้อที่ดินถวายในบวรพุทธศาสนาแห่งนั้นก็จักได้รับอานิสงส์ดังกล่าวด้วย ยังจะเป็นบุญหนุนนำทำให้ผู้นั้นเจริญด้วยทางโลกและทางธรรมยิ่งๆขึ้นไป หากจักปราถนาพระนิพพานในปัจจุบันชาติ หากผู้นั้นสามารถทำกำลังใจเต็มบริบูรณ์ทั้ง 10 ประการแล้ว การหวังซึ่งพระนิพพานในปัจจุบันชาติก็มิใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จึงจักได้ขอกล่าวอานิสงส์ส่วนหนึ่ง อันจะบังเกิดจากการได้ถวายที่ดินเพื่อสร้างวัดหรือสถานที่สำหรับปฎิบัติธรรม ให้สาธุชนทั้งหลายได้มาทำความดี ทั้งการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ดังได้เรียบเรียงมาดังนี้

1. จักได้เกิดในถิ่นที่เป็นปฎิรูปเทส เหมาะแก่การทำความดี สร้างบุญบารมีให้ยิ่งๆขึ้นไป

2. ทำให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง ไม่มีตกต่ำ

3. มีความรื่นรมย์ทั้งในโลกมนุษย์และเทวโลก

4. ปรารถนาสิ่งใดที่เป็นบุญกุศล ย่อมสำเร็จได้โดยง่าย เป็นอัศจรรย์

5. ได้รูปกายที่สวยงาม เพียบพร้อมบริบูรณ์ด้วย รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ

6. ได้เป็นเทวดาที่มีศักดิ์ยิ่งใหญ่ มีทิพยสมบัติที่รุ่งเรือง ตลอดจนมีทิพยวิมานอันใหญ่โต และมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล

7. มีความสง่างามเป็นที่เคารพนับถือศัรทธาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

8. มีพร้อมด้วยสุข 3 ประการ เข้าถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้โดยง่ายและมีพระนิพพานเป็นที่ตั้งโดยไม่เนิ่นช้า

9. จะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นผู้ปกครองแผ่นดินหรือผู้บริหารประเทศ เกิดในภายภาคหน้าจะมีที่ดินเป็นของตนเอง และเป็นที่ดินที่มีทำเลดี เป็นที่ต้องการของคนทั้งหลาย เราจะไม่ต้องเร่ร่อน ไม่อดอยาก

10. ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนแผ่นดินนั้นก็จะเจริญงอกงาม เหมาะแก่การประกอบสัมมาชีพตามปรารถนา เป็นทำเลดีค้าขายก้าวหน้า ปลูกพืชให้ดอกให้ผลงอกงามกว่าที่ใดๆ

11. เป็นกุศลหนุนนำทำให้เกิดการบรรเทากรรม ให้กับผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องเช่าเขา ถูกเขาโกงที่ หรือเกิดมาชาตินี้ต้องมาอยู่ที่แออัดคับแคบ แย่งกันอยู่ แย่งกันใช้

หมายเหตุ ทั้งนี้ยังมิได้แจกแจงผลบุญที่จะทำให้บังเกิดในสวรรค์ภูมิ และสุขคติภูมิต่างๆนับจำนวนกัปป์ไม่ถ้วน ตลอดจนทิพย์สมบัติอีกมากมาย ซึ่งเป็นผลแห่ง ทั้ง สังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน อันจะบังเกิดขึ้นจากการถวายที่ดินนี้เป็นเหตุอีกนานัปประการ


อานิสงส์ในการซื้อที่ดินถวายวัด

ส่งผลให้ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนแผ่นดินนั้นก็จะเจริญงอกงามด้วยเพราะอานิสงส์แห่งการถวายที่ดินให้แก่พุทธศาสนาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดภพชาติใดก็จะมีที่ดินเป็นของตัวเอง และเป็นที่ดินที่มีทำเลดี เป็นที่ต้องการของคนทั้งหลาย เราจะไม่ต้องเร่ร่อน ไม่อดอยาก เมื่อจากโลกนี้ไปแล้วจะมีวิมานที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล แก้กรรมให้กับผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องเช่าเขา ถูกเขาโกงที่ หรือเกิดมาชาตินี้ต้องมาอยู่ที่แออัดคับแคบ แย่งกันอยู่ แย่งกันใช้


การทำบุญด้วยการถวายที่ดิน

ผู้ที่ทำบุญด้วยการถวายที่ดินแด่พระสงฆ์ นับว่าเป็นการสร้างบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ จะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นผู้ปกครองแผ่นดินหรือบริหารประเทศ ความที่เป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่จึงมีคนพากันยกย่องสรรเสริญจำนวนมาก ในเรื่องของความมั่นคงทางกายและใจ ไม่มีปัญหาอะไรเลยเพราะเป็นผู้ที่หนักแน่น ทำการใดก็เจริญและได้รับการยอมรับอยู่ตลอด จะมีความสุขทั้งชีวิตเลยทีเดียว

http://www.watchaoam.com/?p=442

.....................................................
รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2013, 06:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 10:18
โพสต์: 590

โฮมเพจ: www.bhuddhakhun.blogspot.com
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เกร็ดเล็กน้อย


ขอให้ท่านศึกษาจนเกิดปัญญารู้แจ้ง แตกฉานในสิ่งที่ท่านต้องการนะครับ

กราบอนุโมทนาในความพยายามศึกษาและขอให้เจริญยิ่งๆขึ้นไปนะครับ

.....................................................
รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ธ.ค. 2013, 13:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5361


 ข้อมูลส่วนตัว


การให้ทานคือการเสียสละ และให้เป็นการฝึกฝนลดกิเลสตัวหนึ่งที่ชื่อว่าความตระหนี่
ซึ่งการให้ทานกุศลระดับต้นนั่นเอง
ยกตัวอย่าง
มีเศรษฐีคนหนึ่งต้องการบริจาคผ้าห่มกันหนาวให้กับผู้ที่ประสบภัยหนาว และหลังจากเศรษฐีบริจาคผ้าห่มแล้ว เศรษฐีผู้นั้นเห็นผู้ประสบภัยมีการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น และเมื่อเศรษฐีเห็นก็มีความปลื้มปิติในการให้ทานของตนและเปรีบยเสมือนว่าการให้เป็นการแบ่งปันความสุขให้ผู้อื่นโดยแท้ และผู้ให้ก็พลอยมีความสุขไปด้วย ขออนุโมทนาบุญที่ได้ร่วมสนทนาธรรมครับ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร