วันเวลาปัจจุบัน 11 พ.ย. 2024, 02:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 36 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2018, 08:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คนโบราณเขาสอนลูกหลานว่า ลูกเอ๋ย จะไปไหนก็พกหินไปด้วย เด็กไม่รู้ว่าพกหินอะไร ก็เลยเอาหินก้อนหนึ่งใส่กระเป๋าไปด้วย ถ้าไปทะเลาะกับเพื่อน ก็เอาหินก้อนนั้นทุบหัวเลย มันไม่ใช่อย่างนั้น

เขาบอกว่า พกหินไปด้วย ลูกเอ๋ย หมายความว่า ให้ไปอย่างคนหนักแน่น อย่าใจร้อน อย่าใจเร็ว อย่าหุนหันพลันแล่น เพื่อนกระทบนิดกระทบหน่อย อย่าไปเคือง เหมือนเราไปสะดุดหิน หินมันไม่มีหลุดดอก เล็บเราหลุดเอง หินมันไม่มีหลุดดอก สะดุดเข้าไปเถอะ เราก็เหมือนกัน ถูกใครรังแกก็เฉยๆ เรียกว่า พกหิน

คนพกนุ่น หมายความว่า เป็นคนเบาเหมือนนุ่น นุ่นมันเบาปลิวเรื่อยไปไม่มีจุดหมาย เป็นคนใจนุ่นไม่ได้ รูปมากระทบก็ปลิวไปกับรูป เสียงมากระทบก็ปลิวไปกับเสียง รสมากระทบก็ปลิวไปกับรส ปลิวไปกับกลิ่น ปลิวไปกับโผฏฐัพพะ ใจนุ่นไม่ได้ต้องใจหิน


คนโบราณเขาทำอะไรเป็นปริศนา แต่ว่าคนไม่มีปัญญาจะคิด แล้วก็ที่เอาบาตรเอาจีวรไปไว้ด้วยก็เพื่อให้คิดถึงพระ ทำใจให้เป็นพระ
ใจพระ คือ ใจที่หนักแน่นเหมือนแผ่นหิน จุดมุ่งหมายมันเท่านั้นแหละ พระอุปคุต หมายถึงอย่างนั้น
อุปคุต แปลว่า เข้าไปคุ้มครอง
ตัวคุ้มครองก็คือตัวสติ ตัวปัญญา พระอุปคุต ก็คือ ตัวสติ ตัวปัญญา นิมนต์เข้ามาไว้ในใจเรา คุ้มครองเรา รักษาเรา ให้เราอยู่รอดปลอดภัย จุดหมายเป็นอย่างนั้น สีลานุสสติ

คำว่า ศีล จึงเรียกว่าปกติ มือไม้ปกติ ใช้ตามปกติ ไม่ใช้ด้วยอำนาจกิเลสหนุนหลัง ถ้าใช้มือตามอำนาจกิเลส ผิดปกติ
ใช้ปากตามอำนาจกิเลส ผิดปกติ เช่นด่าเขา เรียกว่า ผิดปกติแล้ว ต่อยเขาผิดปกติ ถองเขาก็ผิดปกติแล้ว มันผิดปกติทั้งนั้น ผิดศีล
เราจึงต้องนึกถึงศีลว่าอะไร ศีลที่จะต้องรักษามีอะไรบ้าง แล้วเราก็มาตรวจตัวเราเองด้วยสีลานุสสติ ตรวจตัวเราเองว่าเรามีศีลอยู่กี่ข้อ รักษาได้เท่าใด ขาดตกบกพร่องอะไรบ้าง หล่นไปเท่าใดแล้ว ที่หล่นไปแล้วเอาคืนมาหรือเปล่า หรือว่าหล่นแล้วจมหายไปเลย เราต้องตรวจสอบอย่างนั้น
แล้วก็พิจารณาว่าตั้งแต่เรามีศีล มันผิดกับเมื่อก่อนอย่างไร ความรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างไร อะไรๆมันดีขึ้นบ้างไหม ตั้งแต่เรามีศีล ตรวจสอบแล้วก็จะเห็นว่าดีขึ้น เมื่อดีขึ้นก็ต้องรักษาให้ดีกว่านี้ รักษาเพียงเท่านี้ดีแล้ว ก็ต้องให้ดีไปกว่านี้อีก
นึกว่าสิ่งที่เราจะต้องทำยังมีอีก ไม่ใช่มันจบเพียงนี้ ยังมีสิ่งที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อยู่อีก เราก็ต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปในเรื่องศีล แล้วศีลก็รักษาเราให้ปลอดภัย เราก็รักษาศีลด้วย ศีลก็รักษาเราด้วย มันอยู่คู่กัน ให้หมั่นตรวจสอบ หมั่นพิจารณาถึงศีลที่เรารักษา เรียกว่านึกถึงศีลบ่อยๆ สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2018, 09:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว เรื่องของการบริจาคหรือการทำทาน เราควรจะถือว่าเป็นหน้าที่อันหนึ่งเหมือนกัน เป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องกระทำ คือ มนุษย์เรานี้มีการแสวงหาได้มาซึ่งวัตถุ เมื่อได้มาแล้วก็ต้องใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตน แก่ครอบครัว ตลอดจนถึงญาติมิตร ผู้รู้จักมักคุ้นกัน นอกจากนั้นแล้ว ยังควรจะได้มีการแบ่งส่วนที่เรามีเราได้ เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่บุคคลอื่น เพราะชีวิตของมนุษย์แต่ละคนมีการอาศัยกันเป็นอยู่ เราจะอยู่โดดเดี่ยวตามลำพังก็ไม่ได้ เราจะอยู่โดยคิดว่า กูไม่ต้องอาศัยใคร ก็ไม่ได้ มันมีเรื่องต้องอาศัยกัน ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

ถ้าเราคิดดูให้ดีแล้วจะเห็นว่า มนุษย์นี้ช่วยเหลือกันอยู่ตลอดเวลา โดยตั้งใจหรือโดยไม่ตั้งใจ แต่ก็ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ สิ่งต่างๆ ที่เราได้ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ที่เรียกว่า ปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยาแก้โรค สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นจากคนจำนวนมาก ไม่ใช่เกิดจากคนๆเดียว แต่ว่าเกิดขึ้นจากคนจำนวนมาก ที่ได้ช่วยให้มีสิ่งนี้ขึ้น

อาหารที่เรากินเข้าไปคำเดียว ถ้านึกดูให้รอบคอบแล้วจะพบว่า มาจากมือคนจำนวนไม่น้อย

เสื้อผ้าที่เรานุ่งห่มก็เหมือนกัน ที่เรานุ่งห่มอย่างสบายนี่ ลองคิดดูบ้างว่ามาจากอะไร ก็จะพบกับความจริงว่ามาจากคนไม่น้อยที่ช่วยกันสร้างสิ่งนี้ขึ้น

แม้เหย้าเรือนที่เราอยู่อาศัย กว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือนได้ ก็ต้องอาศัยมือคนจำนวนมาก

ยาแก้ไข้ เพียงเม็ดเดียวที่เรากินเข้าไป ก็ต้องอาศัยคนจำนวนไม่น้อย ถ้าไม่คิดก็ไม่เห็น แต่ถ้าคิดก็จะมองเห็นว่า เราอยู่ด้วยคนอื่น คนอื่นก็อยู่ด้วยเรา ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่อย่างโดดเดี่ยว เหมือนกับนอแรด แต่ว่ามีการอาศัยกันและกันอยู่ตลอดเวลา

เมื่อเราคิดว่าชีวิตทุกชีวิตต้องมีการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การช่วยเหลือก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้บัญญัติการบริจาคทานไว้ การให้ทานไว้ ก็เพื่อให้มนุษย์ได้รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีอะไรที่พอจะเจียดจะแบ่งให้แก่คนอื่นได้บ้าง เราก็ควรจะเจียดแบ่งไปตามสมควรแก่ฐานะ มีเงินเหลือใช้เราก็แบ่งให้คนที่ไม่มีจะใช้บ้าง มีเสื้อ มีผ้า มีอาหาร มีอะไรสารพัดที่มนุษย์จำเป็นแก่ชีวิต เราก็เจียดแบ่งกันออกไป การเจียดแบ่งให้กันและกันนี้ เรียกว่า เฉลี่ยความสุขให้แก่กัน
การเฉลี่ยความสุขให้แก่กันนี้ เป็นข้อปฏิบัติอันหนึ่งของคฤหัสถ์ครองเรือน นั้นก็มี ทาน ศีล ภาวนา

ทาน เป็นข้อแรกที่เราจะต้องปฏิบัติ เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสที่จะช่วยเหลืออะไรต่อใครได้ เราก็ช่วยเหลือเท่าที่เราจะช่วยได้ ช่วยคนอื่นให้เป็นสุขแล้วเราก็ไม่เป็นทุกข์ด้วย ต้องช่วยอย่างนั้น ไม่ใช่ช่วยคนอื่นจนตัวเองเป็นทุกข์ นั้นจะเกินพอดีไป ให้เราแบ่งช่วยโดยเราไม่มีความทุกข์เมื่อช่วยคนอื่น
แล้วน้ำใจที่ยินดีในการให้ เป็นน้ำใจอันประเสริฐ น้ำใจที่คิดแต่จะเอาตลอดเวลา เป็นน้ำใจที่ไม่ประเสริฐเลย ทุกศาสนาสอนในแนวเดียวกันในเรื่องนี้ คือสอนให้ให้บริจาคแบ่งส่วนเฉลี่ยกัน

ในบางศาสนาเขาบังคับเลย บังคับว่าต้องให้เท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์จากรายได้ มีอยู่หลายศาสนาเหมือนกัน เช่น ศาสนาอิสลาม เขาบังคับให้ทุกคนบริจาค เรียกว่า ซากัต ต้องบริจาคข้าว บริจาคเงิน เพื่อเอาไปช่วยเหลือคนที่ลำบากยากจนต่อไป ทุกคนต้องทำ ไม่ทำก็อยู่ในหมู่กันไม่ได้ สังคมรังเกียจ ในศาสนาอื่นก็ทำกันอย่างนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2018, 09:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แต่ว่าในพุทธศาสนาเรานั้น ไม่มีการบังคับ ไม่ว่าเรื่องอะไร เป็นเรื่องชี้ชวนชักนำให้ผู้นั้นเห็นประโยชน์ด้วยตนเอง แล้วจึงกระทำ เพราะการกระทำโดยบังคับนั้น ไม่ใช่เรื่องของธรรมะ เป็นเรื่องกฎหมายของบ้านเมืองไป

ธรรมะไม่ใช่เรื่องของการบังคับ หรือเรื่องของศีลธรรม นี้ไม่ใช่เรื่องของการบังคับ แต่เป็นเรื่องที่ให้ทุกคนเห็นประโยชน์แล้วจึงทำ ให้เห็นประโยชน์ว่า มันเกิดประโยชน์อะไร แล้วจึงทำ ให้ทำด้วยความเต็มอกเต็มใจ เพราะการปฏิบัติในทางศีลธรรมศาสนานั้น เป็นเรื่องที่จะต้องทำด้วยน้ำใจ ไม่ใช่ทำด้วยมีใครมาขอร้องบังคับให้ทำ
ถ้าเราทำด้วยการถูกบังคับขอร้อง มันเป็นการฝืนใจไป ผลที่เกิดจากจิตใจไม่มี เพราะฉะนั้น จึงให้ทำด้วยความสมัครใจ ด้วยความเต็มใจ เราจะให้ทานสักหนึ่งบาท ก็ให้ด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ฝืนให้หรือให้เพราะความเกรงใจ ถ้าฝืนให้ หรือเพราะความเกรงใจ มันไม่เป็นบุญเป็นกุศล เพราะเป็นการให้โดยถูกบังคับ
แต่ถ้าเราทำด้วยน้ำใจว่ามันเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก เราก็ทำด้วยความเต็มใจ ทำอย่างนั้น เป็นประโยชน์แก่จิตใจของผู้กระทำ ไม่เป็นการฝืนการบังคับ
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในทางศีลธรรมหรือทางศาสนานี้ จึงไม่เป็นการบังคับ แต่เป็นเรื่องการให้ด้วยความเต็มอกเต็มใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์เป็นคุณค่าทางจิตใจอย่างแท้จริง การทำทานก็มุ่งอย่างนั้น

ทีนี้ เมื่อเราได้ทำทานอะไรลงไปแล้ว เราก็เอามาคิดภายหลัง คิดให้สบายใจว่าเราได้เคยให้ทานที่นั่น ได้สร้างสิ่งนั้น ได้ทำสิ่งนั้น ที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ เราเกิดมานี้ไม่เสียชาติ ไม่ได้อยู่อย่างชนิด หนักแผ่นดิน หรือไม่ได้อย่างชนิดเอาเปรียบใครๆ แต่ว่าเราเป็นผู้ยินดีในการให้แล้ว ก็ให้มาโดยลำดับเท่าที่เราจะสามารถให้ได้ นึกแล้วสบายใจ อิ่มใจ เพราะการนึกอย่างนี้ก็ทำให้เกิดความยินดีในการที่จะให้อีกต่อไป
ความยินดีที่จะให้ก็เกิดขึ้นมาอีก เพราะเราให้แล้วสบายใจในภายหลัง ถ้าเราไม่นึกคิดทบทวน เราไม่ได้เกิดความสุขใจเท่าใดแล้ว แล้วอาจจะไม่ทำต่อไปอีกก็ได้ หยุดเสีย เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้พิจารณา ให้มี จาคานุสสติ ระลึกถึงเรื่องที่เราได้บริจาคไปแล้ว

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2018, 09:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในบางเวลา เราอาจจะเกิดความไม่สบายใจด้วยปัญหาอะไรต่างๆ เราก็มาคิดถึงกิจกรรมประเภททานที่เราได้ให้ไว้ นึกอย่างนั้น ช่วยให้จิตใจสบายคลายจากทุกข์ความเดือดร้อนใจ ตัวอย่างเช่น เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีอะไรจะทำ ต้องไปนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล ในเวลาเช่นนั้น ควรจะใช้ อนุสสติ เป็นเครื่องประคับประคองใจ เรื่องอะไรก็ได้ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ อะไรก็ได้ หรือจะระลึกถึงทาน จาคานุสสติ นึกว่าเราตั้งแต่เกิดมานี่ได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นสักเท่าใด

เราก็มองย้อนหลังไปว่าเราได้ทำอะไรบ้าง

เราได้ช่วยสิ่งที่เป็นสาธารณกุศล เช่น ช่วยสร้างโรงพยาบาล สร้างสะพาน สร้างบ่อน้ำสาธารณะ หรือช่วยวัดวาอาราม ช่วยสร้างกุฏิเสนาสนะ สิ่งที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระผู้จะใช้สถานที่เพื่อการปฏิบัติธรรม หรือว่าเราได้ทำบุญตักบาตรทุกวันๆ เพื่อถวายอาหารแก่พระสงฆ์จะได้เลี้ยงร่างกาย เราเคยทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้ นึกไปแล้วใจมันสบาย ความเจ็บไข้ได้ป่วยที่หนักจะเบาขึ้น เพราะใจดี คนเราถ้าใจดีแล้วร่างกายจะดีตามไปด้วย ถ้าใจทรุดร่างกายจะทรุดตามไปด้วย

เพราะฉะนั้น การนึกถึงสิ่งที่เราได้ทำไปแล้วนั้น ทำให้เกิดความสบายใจ และเมื่อเรารู้สึกว่าสบายใจเราจะได้ทำต่อไป
การช่วยเหลือสังคมก็จะมากขึ้น เพราะการนึกในเรื่องอย่างนี้มันก็ดีอยู่เหมือนกัน คือไม่ใช่นึกแต่เรื่องของเรา นึกเรื่องที่จากใครบ้าง จากคุณพ่อ คุณแม่ จากครูบาอาจารย์ จากท่านผู้นั้นผู้นี้ที่ได้มีน้ำใจเสียสละ เพื่อทำให้ชีวิตเราสมบูรณ์ขึ้น เรานึกถึงคนเหล่านั้นว่าเป็นผู้มีน้ำใจยินดีในการบริจาค ก็เป็นเครื่องเพิ่มพูนศรัทธาปสาทะให้เกิดขึ้นในน้ำใจ ทำให้เรามีจิตใจที่จะทำอย่างนั้นบ้าง เช่น นึกถึงเรื่องทาน ก็อยากจะทำทานบ้าง นึกถึงเรื่องศีล ก็อยากจะรักษาศีลบ้าง อันนี้ เป็นเรื่องได้ประโยชน์แก่ชีวิตจิตใจของเรา เรียกว่า เป็นจาคานุสสติ ระลึกถึงทานที่เราได้บริจาคแล้ว

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2018, 18:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๖. เทวตานุสสติ คือ ระลึกถึงคุณที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา อันนี้ไม่ใช่นึกถึงองค์เทวดา แต่นึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา เทวดานี้ มันอยู่หลายแบบ คือ สมมติเทพ อุปปัตติเทพ วิสุทธิเทพ

สมมติเทพ เรียกว่าเป็น เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชา ฯลฯ ภาษาบาลีใช้คำว่า “สมมติเทว” เราก็ยกเกียรติให้ว่าเป็นเทวดา หรือว่าบุคคลใดมีคุณความดีเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก ก็ยกให้เป็นเทวดาได้เหมือนกัน เช่น กวนอู นี่ชาวจีนเขานับถือว่าเป็นเทพเจ้า นั่นก็เรียกว่าเป็นเทวดาโดยสมมติ เพราะเป็นผู้มีคุณธรรมที่เด่น ๓ ประการในใจ คือ ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู ความเสียสละ เป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในใจสูงส่ง ชาวบ้านก็ยกย่องว่าเป็นเทพเจ้า คนเคารพบูชากราบไหว้ นี่เป็นเทวดาโดยสมมติ

ทีนี้ อุปปัตติเทพ เทวดาโดยบังเกิดขึ้น ตามความเชื่อของคนบางประเภทว่า คนตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ เพราะมีความงามความดีมาก เลยไปเกิดในสวรรค์ ความเชื่ออย่างนี้ ก็มีอยู่ในหมู่คนซึ่งไม่เสียหายอะไร เพราะเป็นความเชื่อที่เป็นไปเพื่อสร้างสรรค์จิตใจในด้านศีลธรรม เป็นความเชื่อที่จูงใจให้คนทำความดีแล้วก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์
ในขั้นศีลธรรมนั้นไม่ขัดข้อง ใช้ได้ แต่ถ้าขั้นหลุดพ้น พระนิพพาน นี่มันติดขัดอยู่หน่อย คือมันไปเมาเสีย เพราะว่าในสวรรค์นางฟ้ามีมากมาย เทวดาองค์หนึ่งมีนางฟ้าห้าร้อย คงจะคางเหลืองไม่ถึงเดือนแน่ มากเกินไป นี่เรียกว่ามันมากนัก เทวดามากเกินไป ทำให้เกิดความวุ่นวาย ติดอยู่ในสวรรค์ พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ไปสวรรค์ แต่สอนว่าสวรรค์ก็ยังมีทุกข์ ให้เดินทางพ้นไป แวะนิดหน่อยแล้วก็รีบเดินทางต่อไปให้ถึงพระนิพพาน
คนทำความดีไปอุบัติในสวรรค์ เขาเรียกว่าเป็นเทวาดโดยอุบัติ คือโดยการเกิด นี่เป็นเทวดาอีกพวกหนึ่ง เรียกว่า อุปปัตติเทพ


อีกพวกหนึ่ง เป็นเทวดาชั้นสูง เรียกว่า “วิสุทธิเทพ” เป็น เทวดาโดยความบริสุทธิ์จากกิเลส ไม่มีกิเลสอยู่ในใจ เราเรียกว่าเป็นเทวดาขั้นบริสุทธิ์ คือ พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าก็เป็นวิสุทธิเทพ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอรหันต์ทั้งหลาย นี่เรียกว่า เป็นวิสุทธิเทวดา เป็นเทวดาผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเศร้าหมอง นี่เป็นเทวดาอย่างนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 เม.ย. 2018, 07:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมะที่ทำคนให้เป็นเทวดานั้นมีอะไรบ้าง ? มีหลายอย่าง

อย่างแรก ก็เรียกว่า มีหิริโอตตัปปะ หิริ คือความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป สองอย่างนี้ ทำคนให้เป็นเทวดาได้

ต่อไป มีกุศลกรรมบถ ๑๐ ประจำจิตใจ กุศลกรรมบถสิบก็คือ ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำเพ้อเจ้อ ใจไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ควบคุมได้อย่างนั้น ไม่ใช่ให้หมดไปเสียทีเดียว แต่ว่าควบคุมความโลภ ความ โกรธ ความหลง เอาไว้ได้ ไม่ปล่อยให้มันเกิดขึ้นครอบงำจิตใจ ก็เรียกว่าเป็นคุณธรรมของเทวดา

อีกอันหนึ่ง เขาเรียกว่า มีสัปปุริสธรรม ๗ คือเป็นผู้รู้เหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักเวลา รู้จักบุคคล รู้จักประชุมชน ธรรมเหล่านี้ ทำให้คนเป็นเทวดา ผู้มีคุณธรรมเหล่านี้ เรียกว่า เป็นเทวดาโดยธรรม

หรือว่า มีพรหมวิหาร ๔ ก็เป็นเทวดาได้เหมือนกัน เป็นเทวดาสูงขึ้นไปกว่าเทวดาธรรมดา คือ อยู่ในขั้น พรหม สูงขึ้นไปอีกหน่อย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 เม.ย. 2018, 07:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เราก็มานึกถึงคุณธรรมเหล่านี้ เอาธรรมเหล่านี้มานึกก็ได้ เช่น นึกว่า หิริ หมายความว่า อย่างไร โอตตัปปะ หมายความว่าอย่างไร เอามาคิดมาพิจารณา แล้วก็สร้างคุณค่าเหล่านั้นให้เกิดขึ้นในใจ คอยดูใจของเราไว้ว่ามีคุณธรรมเหล่านี้อยู่หรือเปล่า คุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดามีหรือเปล่า คอยตรวจสอบไว้ คุมไว้ให้มันงอกงามในจิตใจของเราเรื่อยๆ ไป ก็เรียกว่า เรามีการระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา จะทำให้เราเป็นมนุษย์สมบูรณ์ แล้วก็มีความเป็นเทวดาเข้าไปด้วย เพราะเราได้นึกถึงคุณธรรมนั้นบ่อยๆ เอามาส่องดูตัวเราบ่อยๆ
ถ้าเราเห็นว่าเราบกพร่อง ทำให้เต็ม ถ้าเห็นว่าเต็มอยู่แล้ว ก็รักษาความเต็มนั้นไว้ให้เหมือนเกลือรักษาความเค็ม ไม่ให้มันลดถอยลงไปเป็นอันขาด ชีวิตของเราก็จะก้าวหน้าเป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบ ท่านจึงสอนให้นึกถึงเรื่องเหล่านี้ไว้เป็นเครื่องเตือนใจ

เราไปทำอะไรที่ทำให้นึกถึงเทวดา เช่น ไปเจอต้นไม้ที่คนไหว้ เราก็นึกว่าคนเขาไหว้เทวดา เราไม่ไหว้เทวดาแบบนั้น แต่เราจะสร้างคุณธรรมของเทวดาให้เกิดขึ้นอยู่ในใจของเรา ทำตัวให้เป็นเทวดาเสียเอง ไม่ต้องไปไหว้เทวดาตามต้นไม้ที่คนอื่นเขากำลังไหว้
แต่เราจะบอกตัวเองว่า อย่าไปไหว้ต้นไม้นั้น โดยสำคัญผิดว่ามีเทวดาอยู่ เธอจงทำตัวเธอให้เป็นเทวดาเถอะ เราเตือนตัวเราอย่างนั้น แล้วเราก็ปรับปรุงจิตใจเราให้เป็นเทวดาขึ้น ด้วยการมีคุณธรรม อย่างนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นเรื่องดี
เรามีศาลพระภูมิอยู่ในบ้านก็เป็นเครื่องเตือนใจได้ เตือนใจว่า เราจงเป็นภูมิเทวดา เป็นเทวดาเดินดิน ว่าอย่างนั้นแหละ ภูมิเทวดานี่เป็นเทวดาเดินดิน เห็นมีหนังเรื่องหนึ่ง เขาชื่อว่าเทวดาเดินดิน ทีนี้ ไปดูชื่อภาษาอังกฤษ เขาเขียนว่า Grounded God พระเจ้าบนดินนั้นแหละ เราก็เป็นเทวดาเดินดิน เป็นพระภูมิเทวดา

เทวดาเดินดินควรประพฤติอย่างไร ? เราถามตัวเราเอง ก็ควรประพฤติให้เป็นเทวดา เดินอย่างคนละอายบาปกลัวบาป จะทำอะไร จะพูดอะไร ก็ให้นึกละอายใจไว้บ้าง ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เหมาะกับคนเช่นเรา เราทำอย่างนั้นไม่ได้ อย่างนี้ ก็เรียกว่านึกถึงธรรมที่ทำคนให้เป็นเทวดา แล้วก็ทำให้เป็นเทวดา แล้วก็ทำให้เราเป็นเทวดาไปโดยไม่รู้สึกตัว คือเป็นไปโดยอัตโนมัติไปเลย อย่างนี้ จึงจะเป็นการชอบการควร เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้เรานึกถึงบ่อยๆ นึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดานี่บ่อยๆ ก็เพื่อจะได้เตือนจิตสะกิดใจตัวเองให้มีคุณธรรมเช่นนั้น เกิดขึ้นในน้ำใจ นี่คือจุดหมายที่เราควรกระทำ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 เม.ย. 2018, 19:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๗. มรณัสสติ นึกถึงความตายที่จะมีแก่ตน เรื่องตายไม่น่ากลัว เรื่องเกิดสิน่ากลัว เพราะตายแล้วก็แล้วกัน แต่เรื่องเกิดต้องอยู่อีกหลายปี เรื่องตายจึงเป็นเรื่องธรรมดา มันเดินทางมาด้วยกัน กับ ความเกิด พอเกิดมามันก็เดินทางมาด้วย ทั้งตายทั้งเกิด แล้วอยู่คู่กันตลอดเวลา
ไอ้ร่างกายเราเวลานี้มันก็กำลังเกิด แล้วกำลังตายเหมือนกัน เกิด ตาย เกิด ตาย เพราะในพุทธศาสนาถือว่าเป็น ขณิกวาท เป็นของชั่วขณะ ไม่เป็นกลุ่มก้อน แต่เกิด ดับ เกิด ดับ ทุกเวลา แต่ไม่ตายเด็ดขาด เพราะยังมีสิ่งสืบต่อชดเชย
ถ้าหากหมดสิ่งชดเชย เมื่อนั้นก็เรียกว่าตายจริงๆ ร่างกายดับจริงๆ การตายไม่ได้เจ็บปวดอะไร ไอ้เจ็บปวดมันเรื่องความเจ็บกาย ความตาย พอหลับตาก็ตายไป ไม่เห็นจะทุกข์ร้อนอะไร ความจริงมันไม่น่ากลัว ตายแล้วก็จบฉากไป
แต่ตอนเป็นซิน่ากลัว เดี๋ยวข้าวสารแพง ไอ้นั่นแพง ไอ้นี่แพง กลัวบ้านเมืองจะวุ่นวาย พอตายแล้วมันไม่น่ากลัว ลองไปถามไอ้พวกนอนอยู่ในโลง ถ้ามันตอบได้มันก็จะบอกว่า ข้าไม่รู้ไม่ชี้ มนุษย์นี่ยุ่งจริงๆเว้ย คนกลัวตายนี่ตายวันละหลายหน
แต่คนไม่กลัวตายก็เป็นคนไม่ตาย ถ้าเราไม่กลัวตาย เมื่อไรก็ได้ จะมาหาฉันเมื่อไรก็ได้ ความตายเอ้ย จึงต้องนึกถึงความตายไว้บ้าง


อีกอย่างหนึ่ง ความตายมันดี คือว่าคนรักจะรักเรามาก คนเกลียดจะได้สบายใจ รักน่ะต้องคิดถึงเรามาก ถ้าเราตาย
ส่วนคนที่เกลียดเราก็สบายใจ เออ มันตายไปเสียทีก็ดี ไม่ขาดทุน ไม่สูญหาย เราจึงไม่ควรจะไปกลัวตาย
ถ้าไม่กลัวตายก็ไม่ต้องมีเครื่องรางของขลัง ไอ้คนที่แขวนเครื่องรางของขลังมากๆ นะมันกลัวตาย ไม่เจริญมรณัสสติเสียบ้าง


เมื่อสมัยสงครามญี่ปุ่น ผมอยู่กรุงเทพ ฯ วัดสามพระยา ระเบิดตกที่เทเวศร์ราบไปเลย ผมเลยชวนพระด้วยกันไปดู ปรากฏว่าวังทั้งหลายหายไปเลย เลยนึกกลัว ไม่นอนวัดสามพระยาในคืนนั้น เลยไปนอนฝั่งธน ฯ วัดวิเศษการ เหมือนหนีเสือปะจระเข้ คืนนั้นมันไปทิ้งบางกอกน้อย แล้วก็ทิ้งระเบิดทำลายบ้านแถวนั้นราบพังไปหมดเลย
พวกเราเป็นพระไปหลบอยู่ในคู ซึ่งคูนั้น กลางวันนอนไม่ลงละ น้ำมันสกปรก พอตกใจระเบิดลงนอนเฉยเลยในบ่อน้ำ เอามือจับบ่อไว้
มีพระองค์หนึ่ง วิ่งเตลิดไปในสวน พอเจอโยมก็บอกว่า โยมช่วยด้วย
โยมบอกว่า ผมซิจะบอกให้พระช่วย เรื่องอะไรพระจะให้ผมช่วยละ
ก็เลยนึกได้ว่าตัวเองเป็นพระเลยเดินกลับวัด พอตอนเช้าขาลายเลย
ส่วนผมนอนอยู่ในร่อง คิดว่า ถ้าไม่ลงมาโดนข้าก็ไม่ตาย เลยนอนเฉย ไม่กลัว ยอมแล้ว แล้วว่าถ้าไม่ลงบนหัวก็รอดต่อไป เหตุที่เฉยก็เพราะยอมแล้วนั่นเอง ไม่กลัวตายเลยไม่เป็นไร


อีกทีหนึ่ง ไปพักที่วัดสงขลา ยิ่งกว่ากรุงเทพฯ อีก กรุงเทพฯ มันกว้าง ทิ้งบางรัก ทิ้งเทเวศน์ ไม่เป็นไร ทิ้งบางรัก บางขุนพรหมไม่เป็นไร สงขลาเมืองนิดเดียว มันวนอยู่บนหัว ไม่วนเปล่า ยิงปืนกลกราดด้วย ผมก็ลงไปอยู่ในป่ากับเพื่อน เดินๆ ไปเพื่อนหายไปเฉยๆ คนที่หายไปน่ะ เดินบุกไป ๙ กิโลเมตร ด้วยความตกใจโผล่ที่บางกระดาน แต่เดินทางลัดไปถึง ๙ กิโลเมตร หนามเป้งชายทะเลตำเต็มเท้า เป็นหนามทั้งนั้น กลับมาเลยว่าทำไมถึงทิ้งเพื่อนไปได้
เขาบอกว่ามันนึกไม่ออก ก็มันร่อนอยู่บนหัว เลยหนีไปเลย ผมเองนั่งอยู่ใต้ต้นไม่ นั่งนึกว่า ถ้ามันจะตายก็ให้มันตายไป
ถ้ามันยิงถูกกูตาย ไม่ถูกกูอยู่ต่อไป ภาวนาพุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าไม่เป็นไร แล้วก็ไม่กลัว ไม่กลัวก็ตรงที่ยอมมันนั่นเอง เลยนึกว่าตายก็ตาย เลยไม่กลัวมัน


ในเมื่อผจญกับสิ่งที่เป็นอันตราย อย่าไปกลัวมัน ยอมมันเลย ตายก็ตายวะ เราก็ไม่กลัวเองแหละ อย่างเราเป็นทหารออกรบ เวลาออกไปตระเวนหาข้าศึก ก็นึกว่ามันยิงโดนกูก่อน กูตาย ถ้ากูเห็นก่อนกูก็ยิงละวะ มันก็ไปได้ด้วยความกล้าหาญ เพราะเรายอมแล้วก็ไม่กลัวตายเอง

พวกเราเวลานอนก็หัดตายเสียบ้าง เอามือวางท่าถือดอกไม้ หลับตาคิดว่ากูนี่ ถ้าไม่หายใจออกก็ตาย ถ้าหายใจเข้า แล้วไม่หายใจออกก็ตาย นอนไปหัวใจหยุดเต้นก็ตาย
ถ้าคืนนี้เกิดตายไปจะมีอะไร สมบัติทั้งหลายไม่ใช่ของเรา เราเกิดมาอาศัยโลกชั่วคราว ของในห้องนี้ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราอยู่ก็ใช้มันไป
ถ้าตายไปก็เป็นของคนอื่นต่อไป จะไปยึดถือมันทำไม ไม่ใช่ของเที่ยงแท้อะไร ถ้าจะแตกดับไปคืนนั้น ช่างเป็นไร ถ้าตายคืนนั้นก็ตายดี
แต่ถ้านึกว่าขโมยจะเข้ามาเลยนอนไม่หลับ เรายอมมันเสียก็หมดเรื่อง อย่างนี้เรียกว่า เจริญมรณัสสติ นึกถึงความตายบ่อยๆ
คนขับรถก็ควรนึกถึงความตายบ่อยๆ ว่าเวลานี้กูขับรถ ถ้ากูประมาท กูตายแน่ ก็ไม่ประมาท เอาตัวรอดได้

คนไม่เจริญมรณัสสติก็จะตายง่าย เพราะประมาท เราจึงต้องหมั่นคิดไว้บ่อยๆ
วันหนึ่งต้องคิดถึงความตายสักครั้ง อย่างน้อยก่อนนอนก็ต้องนึกถึงความตาย ไปไหนก็นึกว่าชีวิตมันไม่เที่ยง

ทีนี้ เมื่อนึกถึงความตายแล้ว มืออ่อนตีนอ่อนไปเลย ไม่ต้องทำอะไร ถามว่าทำไม บอกว่า ทำไปทำไม อีกไม่กี่วันก็จะตายแล้ว ถ้าอย่างนี้ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงเป้าหมายที่พระพุทธเจ้าต้องการ


พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เจริญมรณัสสติ เพื่อให้รู้ว่าเราจะต้องตาย เราหนีความตายไม่พ้น แล้วจะได้ไม่ประมาท ให้รีบเร่งใช้ชีวิตที่จะต้องตายนี้ให้เป็นประโยชน์ ให้เร่งทำประโยชน์ ให้เร่งเล่าเรียน ให้เร่งศึกษา เป็นนักเรียนรีบเรียนเข้า เดี๋ยวพ่อแม่ตายไม่ทันได้ฉลองปริญญา ไม่ได้ชื่นอกชื่นใจ รีบเรียนหน่อย อย่าเรียนเถลไถล ทำอะไรก็รีบทำ มีหน้าที่อันใดก็รีบทำเข้าไป ตามสมควรแก่หน้าที่

บางคน คิดว่าทำไปทำไม ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ คิดผิด
เราไม่ได้ทำเพื่อจะเอาไป ก็เราไม่ได้เอาอะไรมา แล้วจะเอาไปอย่างไร เวลาเกิดมาเอาอะไรมาบ้าง มาตัวเปล่าทั้งนั้น ไม่ได้ถืออะไรมา มือไม้ไม่มีอะไร ตายก็ต้องไปมือเปล่า จะเอาอะไร คิดผิด
ที่ว่าไอ้นั่นของกู ไอ้นี่ของกู เรียกว่าตู่ธรรมชาติ เราก็ควรจะคิดว่า เราเกิดมาไมได้เอาอะไรมา เวลาไปก็จะเอาอะไรไปเล่า
ที่เราทำๆ เราทำไว้ในโลกนี้ เราทำตามหน้าที่ในฐานะเป็นลูกหนี้ธรรมชาติ ลูกหนี้คุณแม่ แม่ธรณี เป็นหนี้ท่าน ท่านไม่คิดดอกเบี้ยอะไรดอก เราเอามากินมาใช้ตามชอบใจ เราก็ต้องเปลื้องหนี้เสียบ้าง ด้วยการทำอะไรๆ ให้เป็นประโยชน์ ชีวิตนี้จะมีค่าตรงที่เราใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ จะมีค่าที่ตรงไหน ต้องคิดอย่างนั้น


เพราะฉะนั้น เมื่อเราคิดถึงความตายก็ต้องคิดว่า ชีวิตนี้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับทุกลมหายใจเข้า ออก ถ้าเราไม่ใช้ให้มันเป็นประโยชน์ แล้วจะมีค่าได้อย่างไร
เมื่อนึกถึงความตายก็ต้องรีบทำงานตามหน้าที่ ใครมีหน้าที่อันใดต้องลุกขึ้นว่องไวก้าวหน้าเพื่อปฏิบัติหน้าที่ เดี๋ยวจะตายเสียก่อน แล้วจะไม่ได้ทำสิ่งนั้น ไม่ได้ทำสิ่งนี้ ต้องรีบทำจึงจะดี

คนที่นึกถึงความตายถูกทาง จะเป็นคนที่ว่องไวก้าวหน้า แล้วปฏิบัติหน้าที่ได้เรียบร้อยสมบูรณ์ทุกประการ ประโยชน์มีอย่างนี้ เราจึงควรจะได้คิดไว้บ้าง เตือนใจไว้บ้าง

มรณัสสติ เตือนใจว่าชีวิตเป็นของไม่แน่ เราอาจจะตายลงไปเมื่อใดก็ได้ แล้วจะได้รีบใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ ในการประกอบกิจหน้าที่ต่อไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 27 เม.ย. 2018, 05:28, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 เม.ย. 2018, 19:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๘. กายคตาสติ ระลึกทั่วไปในกายให้เห็นว่าไม่งาม น่าเกลียด โสโครก. นี่จุดสำคัญ คือ ร่างกายนี่ กายคตาสติ คนเราโดยปกติทั่วไปนั้น มักจะมองร่างกายในแง่สวยงาม เพาะราคานุสัย เพาะปฏิฆานุสัย เพาะอวิชชานุสัย มันเพาะทั้งนั้น เพาะราคะ อวิชชา ปฏิฆะให้เกิดขึ้นในใจ เพราะมองไปว่ามันสวยมันงาม ให้นึกว่าเรายืนหน้ากระจกนี่เรานึกอย่างไร เวลาเอากระจกมาส่องนี่ เรานึกอย่างไร ไม่มีใครนึกว่ากูไม่สวย ไม่หล่อ นึกว่าสวย ว่าหล่อทั้งนั้น
แม้ว่าจะขี้ริ้วขี้เหร่ก็ยังมองว่าพอไปได้ นึกว่าอย่างนั้น ธรรมดาเป็นอย่างนี้
ทำไมจึงได้เป็นอย่างนั้น ? เพราะมนุษย์เรานี่หลงตน หลงกาย หลงว่าฉันลืมตาย หลงกายมันลืมแก่ หลงเมียลืมพ่อแม่ ไปอย่างนั้น อันนี้ถูกต้อง คนหลงตนมันลืมตาย ไม่นึกว่าตัวจะตาย หลงร่างกาย ก็ลืมแก่เพราะนึกว่ากูยังหนุ่มอยู่ ยังสาวอยู่ ยังแข็งแรงอยู่ ยังไม่เป็นไร พอไปหลงเจ้าแม่ประคุณเมียเข้า ลืมพ่อลืมแม่ไปเสียแล้ว เป็นอย่างนั้น


ปกติคนเรามักจะหลง ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ทีนี้ ความหลง ทำให้เกิดความผิด ทำให้เกิดทุกข์ เกิดความเสียหาย ก็เพื่อจะแก้ความหลงนี่แหละ ไม่ใช่เรื่องอะไร เพื่อจะแก้ความหลงมัวเมาในเรื่องร่างกายนี้ให้มันผ่อนคลายลงไปเสียบ้าง ท่านจึงสอนให้พิจารณา กายคตาสติ คือ พิจารณาในแง่ว่าไม่สวยงาม ปฏิกูล แปลว่า น่าเกลียด โสโครกด้วยประการต่างๆ ให้พิจารณาร่างกายนี้ทั้งหมด ให้เห็นในรูปอย่างนั้น จุดหมายอยู่ที่ตรงนั้น
เราจะพิจารณาอย่างไร จึงจะเห็นว่ามันไม่สะอาด ? เราลองมาคิดกันง่ายๆ ว่าร่างกายของเรานี้ ตั้งปัญหาขึ้นว่ามันสะอาดหรือไม่สะอาด ตั้งปัญหาขึ้นมาอย่างนั้น แล้วเราก็หาคำตอบว่ามันเป็นอย่างไร จะตอบว่าสะอาดหรือจะตอบว่าไม่สะอาด

อย่าตอบตามอารมณ์ อย่าตอบตามความหลง แต่เราตอบตามความเป็นจริงทีเดียว การตอบตามความเป็นจริงนั้น ก็ต้องพิสูจน์กัน ให้เห็นว่ามันไม่สะอาดอย่างไร เพียงแต่พูดเฉยๆว่าไม่สะอาด มันยังไม่รู้ว่าไม่สะอาดอย่างไร
ทีนี้ การพิสูจน์ก็คือ การพิจารณาเป็นเรื่องๆไป เพื่อให้เห็นว่ามันไม่สะอาด เอาอย่างง่ายๆ กันก่อนว่ามันไม่สะอาดอย่างไร

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 เม.ย. 2018, 19:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทำไมเราจึงต้องมีการชำระล้างร่างกายนี้ทุกวันๆ ทำไมเราต้องอาบน้ำบ่อยๆ ทำไมเราต้องแปรงฟัน ทำไมจึงหวีผม ทำไมเราต้องแต่งเล็บ ทำไมจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ทั่วร่างกายนี้ มีเรื่องที่จะต้องแต่งเยอะแยะ ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า
คนเขาตั้งโรงงานหากินกับร่างกายมนุษย์นี้ หากินได้นะร่ำรวยกันเป็นเศรษฐีไปเลย ไอ้โรงานเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์นี่
ตั้งแต่บนหัวลงไป ตั้งโรงงานทำเครื่องดัดผมของผู้หญิง น้ำมันใส่ผม, หวี, แปรง, อะไรต่ออะไรร้อยแปด เรื่องผมเรื่องเดียวนี่โรงงานกี่หลังก็ไม่รู้ มากมายก่ายกอง หากินได้เรื่องผมน่ะ ร่างกายนี่

เรื่องของคิ้วยังตั้งโรงงานได้ ทำแหนบเล็กๆ ถอนคิ้ว คิ้วทีดีอยู่แล้วไม่สวย ถอนซะไปทำให้มันโก่งเหมือนกับวงพระจันทร์ ยังใส่อะไรให้มันนิดหน่อย
เรื่องตานี่เยอะมากเหมือนกัน ต้องมีแว่นตาสำหรับคนที่ตาไม่เห็น ยังมีแว่นกันแดด แว่นกันแดดก็ต้องอันใหญ่ๆ เบ้อเริ่มๆ ใส่ให้มันโก้
แล้วก็ต้องมียาหยอดตา หยอดให้มันคมกริบ ตัดหัวใจผู้ชายให้มันสลายไปเลย นี่ยาหยอดตา แล้วก็ทำให้มันเลอะเทอะ เวลาเห็นผู้หญิงที่ทาขอบตานี่ นึกว่าไปสบายทุกที หลวงพ่อนี่คิดว่าอย่างนั้น นึกว่า เอะ หนูนั่น ท่าจะไม่สบาย นึกไปอย่างนั้นทุกทีน่ะ เห็นทาตานี่แล้วไม่ได้นึกรักเลย ที่ทาตาลงไปนี่ มันน่าจะรักคนที่ไม่ทาเสียมากกว่า แต่ว่าพอทาแล้วมันดูเป็นน่าเกลียดไป ทำไมไปทาให้เลอะเทอะ

ร่างกายมนุษย์นี่หากินได้ คนที่เขารู้จักหากินก็หากินกับร่างกายมนุษย์นี่มากมาย ทุกเรื่องที่กระทำนั้น ก็เพื่อส่งเสริมราคะ ความกำหนัด ส่งเสริมโทสะ ส่งเสริมโมหะ ให้เกิดขึ้นในใจตน นี่ละเรียกว่าเพิ่มพูนกิเลสทั้งนั้น ถ้าว่าอยู่ตามธรรมชาติปกติ ไม่ส่งเสริมเท่าใด มันปกติ คือว่าไม่ยั่ว


เดี๋ยวนี้ มนุษย์เรามันยั่ว เลยหลงใหลเพลิดเพลินในกามารมณ์ จึงสร้างปัญหาคือความทุกข์ ความเดือดร้อน ด้วยประการต่างๆ เราจึงต้องแก้ด้วยการเจริญกายคตาสติ พิจารณาร่างกายนี้ว่าโดยธรรมชาติมันไม่สะอาด
ถ้ามันสะอาดเราก็ไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องแปรงฟัน ไม่ต้องใส่ครีม ไม่ต้องใส่น้ำอบ น้ำหอม สะอาดแล้วนี่ แต่นี่มันไม่สะอาด จึงต้องทำอย่างนั้น

แล้วเราลองนึกอีกแง่หนึ่งว่า อะไรๆ ที่ออกมาจากตัวคนนี่ มีอะไรสะอาดบ้าง มีอะไรน่ารัก มีอะไรน่าหลงบ้าง
เหงื่อออกมานี่นักรักไหม ผู้หญิง (ชาย) ทำงานเหงื่อท่วมตัว เราจะไปกอดได้ไหม ไปจูบได้ไหม ไม่ไหวละเหงื่อทั้งนั้น สกปรก
ออกมาทางตาก็สกปรกเป็นขี้ตา
ออกมาทางจมูกเป็นน้ำมูกก็สกปรก
ออกมาทางปากก็เป็นน้ำลาย
ถ้าสมมติว่าแฟนเราจะถ่มน้ำลาย แล้วเราก็ว่า เอ้า ถ่มในปากฉันนี่ มีไหมไอ้อย่างนั้น ฉันรักเธอเหลือเกิน น้ำลายเธอฉันก็ไม่รังเกียจ ไม่มีละ มีแต่ว่าให้ไปถ่มที่อื่น เราไม่รัก น้ำลายออกมาก็ไม่น่ารัก
ปัสสาวะออกมาก็ไม่น่ารัก เอามาดมก็ไม่ได้
อุจจาระออกมาก็ไม่ไหว น่าเกลียด
เวลาเราไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะดูๆ มันเสียบ้าง เอามาเป็นกรรมฐาน ถ้าออกมาแล้วก็กลับไปดู น่าเกลียด ไม่ไหว นี่ฉันเอาคืนไม่ได้แล้ว รีบๆชักโครกดีกว่า ลงไปให้พ้นหูพ้นตาเสียไม่ไหว
เราถ่ายเสร็จแล้ว น้ำชักโครกไม่มีนะ ออกไปสักสี่-ห้านาที กลับมาดูไม่ได้ ของตัวเองแท้ๆ ดูไม่ได้ นี่แสดงว่ามันไม่ไหว ของเราแท้ๆ ดูไม่ได้แล้ว ไม่สะอาด แล้วไอ้ที่อยู่ในท้องเรานี่ มันสะอาดที่ไหน แต่ว่าอยู่ในท้องของแฟนนี่มันสะอาดไหม
บางคนยังไปดมที่ท้องเสียด้วย ดมทั้งตัว บางคนหนักไปถึงกับเลียเลย อื้อทำเหมือนกับควาย เหมือนกับสุนัขที่เลียนะ สุนัขมันเลีย มาถึงเลียเลย ทีนี้มนุษย์เห็นว่าสุนัขมันเลีย น่ากลัวอร่อย เลยลองเลียดูบ้าง มันโง่เต็มทีของสกปรกแท้ๆ เราไม่ได้พิจารณา มองไม่เห็น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 เม.ย. 2018, 20:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ลองพิจารณาในรูปนี้บ่อยๆ ลองนึกคิดบ่อยๆ ดูร่างกายทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ผมถึงปลายเท้า ไม่มีส่วนใดสะอาดเลย มีแต่ส่วนไม่สะอาดทั้งนั้น เช่นว่า เขาทาแป้งไว้ ถ้าเรามองลึกลงไปในแป้ง มันก็ไม่สะอาด

คนบางคนทาแป้งหน้าเข้าท่า พอตื่นเช้าหน้าเป็นกระเลย เอาแป้งทาไว้ มายาฉาบทาไว้ ไม่ใช่ของแท้ของจริง
เราคิดในรูปอย่างนั้นบ่อยๆ แล้วจิตใจก็จะเหนื่อยหน่ายในกามคุณ กามารมณ์ แม้เราจะอยู่ครองบ้านครองเรือน ก็ควรจะพิจารณาเอาไว้เพื่อให้เกิดความพอดี คุมกำเนิดอยู่ในตัว ถ้าเราทำอย่างนั้น คุมกำเนิดอยู่ในตัว เพราะว่าเราเบื่อหน่าย ไม่รักไม่ชอบอะไรนักหนา มันเป็นห้ามล้ออยู่ แล้วก็สอนให้พิจารณากันทั้งสองฝ่าย หญิงก็สอนให้พิจารณาด้วย

แต่งงานกันแล้วก็บอกว่า กายคตาสติ กันเสียก่อน สอนให้เข้าใจว่าฉันไปบวชมา หลวงพ่อสอนมาแบบนี่ว่าไม่งามดอก ฉันไม่ได้แต่งงานกับเธอเพราะเธองามอะไรดอก แต่ฉันแต่งงานเพราะว่าอยากจะมีลูกไว้สืบสกุลสักคนเท่านั้นเอง แล้วก็เรามาทำลูกกันหน่อย ว่าไปตามเรื่อง ทำไปตามเรื่อง แล้วพิจารณาไป
เวลาทำก็อย่าทำด้วยความหลง พิจารณาให้รอบคอบ ปฏิสังขาโยเสียก่อนก็ได้ พิจารณาว่า เราฉันบิณฑบาตนี้ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อสนุก ไม่ใช่เพื่ออร่อย
แล้วเราก็พิจารณาว่า ที่ฉันมานอนกับเธอนี่ไม่ใช่ว่าฉันหลงใหลอะไรดอก ฉันพิจารณาแล้วว่าไม่ได้ความอะไร ไม่น่ารัก ไม่น่าเอ็นดูอะไร แต่ว่าฉันสงสารเธอ ว่าอยู่คนเดียวเหงา ฉันมาอยู่เป็นเพื่อนเธอหน่อย แล้วเราก็ไม่ได้อยู่กันด้วยความหลงนะ อยู่กันด้วยปัญญา
แม้เราจะเสพกาม ก็เพื่อสืบพืชสืบพันธุ์ ไม่ใช่เสพเพื่อสนุกสนานเพลิดเพลินเหมือนกับสุนัข ซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉาน พูดกันเสียหน่อย ทำความเข้าใจกัน ผลที่สุดมันก็เรียบร้อยอยู่กันได้เป็นปกติ ไม่มีอะไร อยู่ด้วยธรรมะแล้วอยู่ด้วยกันดี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 เม.ย. 2018, 20:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้าอยู่ด้วยความหลง ไม่อิ่ม ไม่พอ เดี๋ยวไปเห็นของคนอื่น เอ๊ะ สวยกว่าของกู เลยไปกันใหญ่ เลอะเทอะใหญ่ ผู้ใดเห็นอารมณ์ว่างาม มารย่อมรังควานได้ง่าย แต่ผู้ใดเห็นว่าอารมณ์ไม่งาม มารไม่รังควาน เป็นผู้มีจิตใจมั่นคงแข็งแรง อันนี้ เราควรจะได้พิจารณาไว้
ทีนี้ ลองนึกถึงเอามาเป็นวัตถุพยาน เช่น คนเป็นแผลนี่สวยงามไหม แผลเหวอะหวะ เราเห็นแผลนี่ไม่งาม ก็ภายใต้ผิวหนังมันก็ไม่งาม ลอกผิวหนังออกมันก็มีน้ำเลือด เป็นของไม่สะอาด เลือดนี่ไม่สะอาด อะไรก็ไม่สะอาดทั้งนั้น อย่างนี้ เรียกว่า เจริญกายคตาสติ เพื่อป้องกันไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมาใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดขัดเคือง ลุ่มหลงมัวเมา เราห้ามล้อมันเสียบ้างก็จะได้สบายใจ นี่อันหนึ่ง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 เม.ย. 2018, 08:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๙. ทีนี้ อานาปานสติ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก อันนี้ไม่ต้องอธิบายมาก มันต้องทำ เราทำกันอยู่ กำหนดลมหายใจเข้าออก เอาลมเป็นอารมณ์ให้มีความรู้สึกที่ลมเข้าลมออก ทำบ่อยๆ ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า แล้วก็มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก

รูปภาพ


หายใจเข้าก็รู้สึกตัว หายใจออกก็รู้สึกตัวๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 เม.ย. 2018, 08:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๑๐. ข้อสุดท้าย เรียกว่า อุปสมานุสสติ ระลึกถึงคุณพระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ระงับกิเลสและกองทุกข์ เขาไม่พูดว่า นิพพานุสสติ แต่เรียกว่า อุปสมานุสสติ

อุปสมะ ก็แปลว่า สงบ เหมือนกัน เย็นเหมือนกัน นิพพาน ก็เหมือนกัน มันเป็นไวพจน์คือเป็นคำที่มีความหมายตรงกัน เขาเรียกว่า คำพ้อง ฝรั่งเรียกว่า Synonym เรียกว่า อุปสมะ แปลว่า เข้าไปสงบ อุป แปลว่า เข้าไป สมะ แปลว่า สงบ อุปสมะ เข้าไปสงบ ระลึกถึงการเข้าไปสงบ ระลึกถึงความสงบเย็นของจิตใจ

ในการระลึกเรื่องนี้ คือ นึกว่า พระนิพพานเป็นเครื่องสงบเย็นของใจ พระนิพพานไม่ใช่บ้านไม่ใช่เมือง ไม่ใช่นั่นไม่ใช่นี่ ไม่ใช่ที่นั่น ไม่ใช่ที่นี่ ท่านปฏิเสธไว้ทั้งหมดว่าไม่ใช่นั่นไม่ใช่นี่ เป็นเรื่องที่พูดอธิบายด้วยตัวหนังสือ ไม่ได้ซึ้งถึงความหมาย เพราะว่าเป็นเรื่องที่จะรู้ได้ด้วยใจ เราจะรู้ถึงนิพพานได้ด้วยใจของเรา ด้วยความรู้สึกของเรา คือ จิตที่สงบเย็นไม่มีความทุกข์ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ไม่มีอะไรๆเหมือนที่เรามี เรียกว่ามันตรงข้ามทุกอย่าง ตรงข้ามกับความคิดแบบที่เราคิด เราเป็นอยู่ เป็นลักษณะของนิพพาน จิตเราเข้าถึงจุดนั้นแล้วมันก็สงบเย็น

ทีนี้ การระลึกถึง ก็หมายความว่า ระลึกถึงความสงบเย็นอันเป็นความสุขสุดยอด ที่มนุษย์ควรต้องการ ควรจะเข้าถึง แล้วเราควรทำใจให้สงบ ให้เย็นไว้เป็นบางครั้งบางคราว ทำให้สงบเย็นไว้บ่อยๆ มีโอกาสเมื่อใดก็ทำใจไว้ให้สงบให้เย็น อย่าร้อนอย่าวู่วาม อย่าวุ่นวายด้วยปัญหาอะไรต่างๆ


คนใจสงบเย็นนั้น ย่อมได้เปรียบในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะทำอะไร คนใจเย็นนี่ได้เปรียบเสมอ เพราะเมื่อใจเย็นแล้วมันมีปัญญา จะคิดจะอ่านอะไรมันก็คล่องแคล่ว แต่ว่าคนใจร้อนนี่มันคิดไม่ค่อยได้ คิดอะไรไม่ค่อยออก มันร้อน มันมืด มันมัว เหมือนเรามีควันไฟนี่เห็นอะไรก็ไม่ชัด มีหมอกก็มองไม่เห็น มันต้องเกลี้ยงถึงจะมองเห็นชัด ใจนี่เราก็เหมือนกัน ถ้ามันเกลี้ยงเกลามันจึงจะมองเห็นอะไรชัด ยิ่งสงบมากเท่าใด ยิ่งคิดได้ลึกซึ้งมากเท่านั้น ยิ่งเย็นมากเท่าใด ยิ่งคิดได้ลึกซึ้งมากเท่านั้น เพราะฉะนั้น การทำจิตให้สงบเย็นนั้นเป็นเรื่องจำเป็น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 เม.ย. 2018, 14:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การที่จะทำจิตให้สงบนั้น เราก็ต้องรู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้ไม่สงบ ก็คืออารมณ์ภายนอกที่มากระทบ แล้วเราเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเราขึ้นมา คือ การเข้าไปยึดถือสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของเรา เป็นตัวเรา ทีนี้ การเข้าไปยึดถือเช่นนั้น เพราะว่า ไม่รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริง เห็นว่ามันเป็นของสวยของงาม น่ารักน่าพอใจ น่าจะเอาเป็นของตัว มันก็เข้าไปยึด เพราะไม่รู้ชัดตามสภาพความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จึงต้องหมั่นพิจารณาให้เห็นชัดอยู่ตลอดเวลา เห็นอะไรก็ให้เห็นในรูปที่ว่า ความจริงมันเป็นอย่างไร อย่างนี้
ต้องเป็นนักดู คือ เจริญวิปัสสนา เขาเรียกว่าเจริญวิปัสสนา หมายความว่า ดูเพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นๆ ให้มันถึงบางอ้อเอาไว้ทุกเรื่องนั่นแหละ เห็นอะไรก็รู้ได้ทันทีว่าไม่มีอะไรที่น่าจะเอา ไม่มีอะไรที่น่าจะเป็น ไม่มีอะไรที่น่าจะยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา จิตใจมันก็คงที่ เป็นคนที่คงที่ไม่หวั่นไหว ไม่โยกโคลงด้วยอารมณ์ที่มากระทบ สภาพเช่นนั้นน่ะมันดีหรือไม่ เป็นความสงบหรือไม่ เราลองนึกดู

ลองทำใจให้เป็นเช่นนั้นเสียบ้าง มีสติกับตัวไว้ มีปัญญากำกับใจไว้ตลอดเวลา อะไรมากระทบก็คอยคุมมันไว้ อย่าให้มันเกิดความยินดี อย่าให้มันเกิดความยินร้าย เราก็รู้สึกว่าสบายดี จิตใจอยู่ในสภาพสงบเย็น ไม่วุ่นวาย คนอื่นที่เขาวุ่นวายก็ช่างเขา อย่าไปวุ่นวายกับเขา แต่เราเป็นคนที่อยู่เหนือคนเหล่านั้น เหนือสิ่งเหล่านั้น อันนี้ จะช่วยให้สบายใจ เมื่ออยู่เหนือสิ่งเหล่านั้นได้มันก็สบายใจ ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องเดือดร้อนใจในปัญหาอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน นี่เรื่องที่ควรคิด

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 36 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 28 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร